กรมป่าไม้แถลงความคืบหน้าการปฏิบัติการเชิงรุก

ข่าวทั่วไป Wednesday July 25, 2012 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--กรมป่าไม้ นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานแถลงข่าว ผลการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สงวนคุ้มครอง ฟื้นฟู ดูแลรักษา ส่งเสริมทะนุบำรุง และการอื่นๆ เกี่ยวกับป่า ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยกลยุทธ์ส่งเสริมสร้างความร่วมมือของประชาชนเป็นหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนใน 3 ภารกิจที่สำคัญเร่งด่วน คือ 1. ดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามทรัพยากรป่าไม้ 1.1 การจัดการพื้นที่ที่เอกชนได้รับอนุญาต และหมดอายุการอนุญาตแล้วในท้องที่จังหวัดกระบี่ - ปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการปฏิรูปส่วนราชการ โดยกรมป่าไม้เดิมถูกแบ่งออกเป็นกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้นจึงได้โอนภารกิจการดูแลป่าสงวนแห่งชาติไปให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 กำหนดให้พื้นที่ที่หมดอายุการอนุญาต ให้ยุติการอนุญาตต่ออายุไว้ก่อน โดยจะให้มีการจัดระเบียบการอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยจะพิจารณาให้กับราษฎรผู้ยากไร้ ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และเป็นคนในพื้นที่เป็นหลัก การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ สามารถดำเนินการได้ทันที โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน - การดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จะใช้แนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และมติที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหากรณีราษฎรเข้าครอบครองพื้นที่สวนปาล์มในพื้นที่เอกชนขอใช้ประโยชน์ของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) - กรมป่าไม้จะดำเนินการให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกมาดำเนินการสำรวจรังวัดพื้นที่ที่ได้มีการอนุญาตไปแล้ว ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ แล้วนำผลการตรวจสอบมาพิจารณาเป็นรายแปลง เพื่อเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ต่อไป - กรมป่าไม้ได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และได้ชี้แจงกับกลุ่มผู้ประกอบการเรื่องการตรวจสอบพิจารณาเป็นรายแปลง เพื่อเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป และในส่วนของกลุ่มเกษตรกรฯ ได้ชี้แจงในเรื่อง - ห้ามผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายป่าไม้ - ให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่สวนปาล์มก่อน เนื่องจากอยู่แล้วได้เก็บผลปาล์มโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำผิดกฎหมาย - สำหรับต้นไม้ที่ผู้รับอนุญาตปลูกขึ้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยได้รับอนุญาตตามความในมาตรา 16 หรือมาตรา 20แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 หรือภายหลังจากสิ้นอายุการอนุญาตแล้ว หรือกรณีปลูกขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการปลูกต้นไม้ในที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม้ที่ปลูกขึ้นไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน และเป็นไม้ที่ไม่มีเจ้าของ และไม้ที่ปลูกนั้นเป็นไม้ในป่า และป่าสงวนแห่งชาติ ตามนัยหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด่วนมาก ที่ นร 0501/374 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528 ส่วนดอกผลอาสินจากต้นไม้ที่ปลูกนั้นเป็นของป่าตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ ตามนัยหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร 0601/236 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2536 - การอนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นกรณีที่รัฐให้สิทธิแก่บุคคลเพื่อทำประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ขอรับอนุญาตในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 14(1) แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ดังนั้น เมื่อสิ้นอายุการอนุญาตแล้ว และหากทางราชการไม่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยต่อไปอีก ผู้ที่เคยได้รับอนุญาตนั้นก็จะไม่มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ใด ๆ ต่อไป และหากประสงค์จะทำไม้ที่ไม่ใช่ไม้หวงห้าม (ต้นปาล์ม) หรือเก็บหาของป่าที่ไม่ใช่ของป่าหวงห้าม (ผลปาล์ม) ในพื้นที่เดิมที่เคยได้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ตามระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการอนุญาตเก็บหาของป่าภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2529 ที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,107 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และต้องชำระเงินค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าสำหรับของป่าตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1221 (พ.ศ. 2531) 1.2 การดำเนินการกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูเขาหลวงท้องที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา - กรมป่าไม้มีการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อป้องกันรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูหลวง พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว และพื้นที่ใกล้เคียงโดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์โซนซี และบริเวณเขาแผงม้า กรมป่าไม้ได้ดำเนินการตรวจยึดพื้นที่ดังกล่าว เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ได้ตรวจยึดพื้นที่ป่าถูกบุกรุกครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 5 แปลง เนื้อที่รวม 108-1-05 ไร่ รวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาหลวง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่ยึดถือครอบครองมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจยึดแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 43 คดี เนื้อที่รวม 1,465-1-26 ไร่ ขณะนี้ทุกคดีอยู่ในการพิจารณาของพนักงานสอบสวน - การดำเนินการตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ 2507 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ได้สรุปเรื่องเสนอนายอำเภอวังน้ำเขียว เพื่อพิจารณาสั่งเป็นหนังสือให้ผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ รื้อถอน แก้ไขหรือทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอำเภอวังน้ำเขียว ได้แจ้งให้ทราบว่าไม่สามารถดำเนินการตามที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม่ที่ 8 (นครราชสีมา) เสนอได้ เนื่องจากนายอำเภอวังน้ำเขียว ได้ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนในทุกคดี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อส่งต่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาอำนาจตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวน - แนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตาความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยให้คณะทำงานมีอำนาจ ดังนี้ - ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามรายงานข้อเท็จจริง ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อแก้ไขปัญหาและบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียว และอุทยานแห่งชาติทับลาน - เสนอแนวทางปฏิบัติให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยงข้องดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว และอุทยานทับลาน - ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ กรณีป่าสงวนแห่งชาติวังน้ำเขียว และพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน -เชิญบุคคลใดๆในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องและสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะทำงาน 2. การฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ โดยความร่วมมือของเอกชน และชุมชนในท้องถิ่น ได้แก่ การสร้างฝาย ปลูกป่า ปลูกแฝก และเพาะชำกล้าไม้ป่าต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดซับน้ำตามธรรมชาติถูกบุกรุกทำลายอย่าต่อเนื่องรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการชะล้างพังทลายของดินประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำของดินลดลง แหล่งน้ำตื้นเขินกักเก็บได้น้อยลง นำไปสู่ปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและอุทกภัยในฤดูฝน โดยเฉพาะวิกฤตอุทกภัยในปี 2554 ที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง รัฐบาลได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ถือเป็นพันธกิจสำคัญที่จะต้องบูรณาการงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกับภาคประชาชน เพื่อผลักดันมาตรการและแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ แม้จะต้องทุ่มเทงบประมาณ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 อนุมัติแผนงานโครงการฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน การทำฝาย ในส่วนของกรมป่าไม้แล้ว ประกอบด้วยกิจกรรมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่วิกฤติ และการก่อสร้างฝาย ทั้งฝายถาวรและกึ่งถาวร ระยะเวลาการดำเนินงานปี 2555-2559 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งสอดคล้องกับแนวทางตามพระราชดำริด้วย พื้นที่เป้าหมายที่ต้องเร่งฟื้นฟู ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ป่าสัก สะแกกรัง เจ้าพระยา และท่าจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม รวม 8.46 ล้านไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่สามารถฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ เป็นพื้นที่ขนาดน้อยกว่า 100 ไร่ มีแม่ไม้ขึ้นในพื้นที่ ต้องป้องกันดูแลรักษาพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมตามแนวพระราชดำริเป็นพื้นที่ 2.69 ล้านไร่ ในส่วนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ต้องปลูกฟื้นฟู เป็นพื้นที่ขนาด 100 ไร่ ขึ้นไป สามารถฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ ต้องมีการปลุกฟื้นฟูเป็นพื้นที่ 5.77 ล้านไร่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1.80 ล้านไร่ มีวิธีการดำเนินงาน 2 รูปแบบ รูปแบบแรกวิธีปลูกฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ 1.33 ล้านไร่ รูปแบบที่สองวิธีรณรงค์ส่งเสริมราษฎร์ เอกชน หน่วยงานราชการอื่น ๆ ปลูกต้นไม้ 0.47 ล้านไร่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 3.97 ล้านไร่ มีวิธีการดำเนินงาน 3 รูปแบบ รูปแบบแรกวิธีปลูกฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยชุมชนท้องถิ่น 0.48 ล้านไร่ รูปแบบที่สองวิธีส่งเสริมปลูกป่าชุมชน 0.12 ล้านไร่ และวิธีรณรงค์ส่งเสริมราษฎร์ เอกชน หน่วยงานราชการอื่น ปลูกต้นไม้ 3.37 ล้านไร่ กรมป่าไม้มีนโยบายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ในระบบนิเวศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นกรอบแนวทางในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ แนวทางพระราชดำริ ได้แก่ 1. การปลูกป่าในใจคน เป็นหลักการสำคัญในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ที่เสื่อมโทรม ซึ่งจะต้องสร้างจิตสำนึกให้ราษฎร์มีความตระหนักถึงคุณค่า มีความรักในทรัพยากรป่าไม้ก่อน จึงได้รับความร่วมมือเปรียบเป็นการปลูกป่าในใจคนก่อน รวมทั้งทฤษฎีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณพื้นที่ป่าไม้ โดยวิธีการดำเนินงานที่เรียบง่ายและประหยัด โดยใช้หลักการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และปล่อยให้ป่าเจริญเติบโดขึ้นมาเป็นป่าที่สมบูรณ์โดยไม่ต้องปลูก 2. การปลูกฟื้นฟูป่าและการปลูกป่าทดแทน ในพื้นที่ป่าที่มีการเสื่อมโทรม และจำเป็นต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ด้วยแนวคิดการปลูกไม้ 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ปลูกไม้ที่ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง เป็นพืชอาหารของทั้งคนและสัตว์ เป็นไม้ฟืนและถ่านเพื่อให้พลังงาน รวมถึงประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในการช่วยปกคลุมหน้าดินและการเก็บรักษาน้ำในดินเพื่อปล่อยลงสู่แม่น้ำลำธาร และให้ราษฎร์เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต ทั้งยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า 3. ป่าเปียก เป็นทฤษฎีการฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความชุ่มชื้นเป็นหลักสำคัญในการสร้างแนวป้องกันไฟป่าโดยใช้ไม้โตเร็วคลุมร่องน้ำเพื่อให้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ร่วมกับการสร้างฝายอนุรักษ์ต้นน้ำ (Check Dam) โดยใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นและประหยัด เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น และมีผลให้ความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้พืชพรรณมีการแพร่พันธุ์เกิดสภาพความเขียวชอุ่ม รวมทั้งยังช่วยกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลสู่ลุ่มน้ำตอนล่าง ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น สำหรับในพื้นที่ตอนกลางและปลายน้ำ ก็อาจพิจารณาการสร้างฝายแบบเรียงด้วยหินค่อยข้างถาวร(ฝายกึ่งถาวร) หรือฝายแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก(ฝายถาวร) ตามความเหมาะสม 4. การปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางความลาดชันและร่องน้ำบนภูเขา เพื่อลดความรุนแรงในการไหลของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และยึดดินไม่ให้ถูกกัดชะและพังทลาย นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในการเก็บกักอินทรียวัตถุในดินและดูดซับสารเคมีไม่ให้ลงสู่แหล่งน้ำตอนล่าง และการส่งเสริมพัฒนาอาชีพตามแนวพระราชดำริรวมถึงการแก้ ปัญหาที่ดินทำกิน การเพิ่มผลผลิตด้านเกษตรกรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น การจัดกิจกรรมในโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเกิดความตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของการฟื้นฟูสภาพป่า การก่อสร้างฝาย และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำหลักทั้ง 8 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยมลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกรัง และลุ่มน้ำท่าจีน รวมพื้นที่ทั้งหมด 100.16 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่คงสภาพป่า 42.46 ล้านไร่ และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 8.46 ล้านไร่ โดยจะจัดให้มีคณะกรรมการ ภาครัฐ และชุมชนในการติดตามควบคุมกำกับการดำเนินการทุกลุ่มน้ำในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในส่วนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมป่าไม้รับผิดชอบ อยู่นั้น ประกอบด้วยการเพาะปลูกหญ้าแฝกจำนวน 20 ล้านกล้า การเพาะชำกล้าไม้จำนวน 82.6 ล้านกล้า และการก่อสร้างฝายจำนวน 2,810 ฝาย เป็นฝายกึ่งถาวร 2,200 ฝาย และฝายถาวร 610 ฝายซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นเดือน ก.ค.นี้ สำหรับการดำเนินงานส่งเสริมชุมชนร่วมปลูกฟื้นฟูป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนมีโรงเรียนเข้าร่วมในโครงการเพาะชำกล้าไม้ จำนวน 15 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ เป็นต้น โดยทุกโรงเรียนมีเรือนเพาะชำกล้าไม้ในโรงเรียน ซึ่งมีความพร้อมในการร่วมเพาะชำกล้าไม้ตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศของกรมป่าไม้ระยะการดำเนินงาน 2555-2556 3. การดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าที่พรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราชพื้นที่ป่าครุควนเคร็งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 230,000 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าช้างข้ามอ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งพื้นที่ป่าดังกล่าวถูกบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ โดยการจุดเผาไฟป่าเพื่อต้องการที่ดินทำกิน และปัญหาน้ำในพรุแห้ง ทำให้เกิดการจุดไฟไหม้พรุ ทำให้เกิดไฟไหม้ป่า รวมถึงสภาพอากาศที่แห้ง ลมแรง ทิศทางลมเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ทำให้ไฟป่ากระจายตัวกว้าง รวดเร็ว ควบคุมได้ยาก จากการรายงานสถิติคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ส่วนยุทธการป้องกันรักษาป่าที่ 1-4 สำนักป้องกันรักษาป่าและควบไฟป่า รายงานว่าในปี 2555 (1 ม.ค.-1 ก.ค. 55) มีการกระทำผิดกฎหมาย จำนวน 2,957 คดี ผู้ต้องหา 1,188 คน ยึดของกลางเป็นไม้สัก และไม้กระยาได้ 14,028 ท่อน พื้นที่บุกรุก 11,763-3-64 ไร่
แท็ก กรมป่าไม้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ