กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--กรมป่าไม้
กรมป่าไม้ส่งเสริมให้เยาวชนร่วมปลูกฟื้นฟูป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน - สนับสนุนเปิดเส้นทางป่าชุมชนศึกษาเส้นทางธรรมชาติ
กรมป่าไม้มีนโยบายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ในระบบนิเวศ และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มาเป็นกรอบแนวทางในการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ แนวทางพระราชดำริ ได้แก่
1. การปลูกป่าในใจคน เป็นหลักการสำคัญในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ที่เสื่อมโทรมซึ่งจะต้องสร้างจิตสำนึกให้ราษฎร์มีความตระหนักถึงคุณค่า มีความรักในทรัพยากรป่าไม้ก่อนจึงได้รับความร่วมมือ เปรียบเป็นการปลูกป่าในใจคนก่อน รวมทั้งทฤษฎีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณพื้นที่ป่าไม้ โดยวิธีการดำเนินงานที่เรียบง่ายและประหยัด โดยใช้หลักการอนุรักษ์ สงวน คุ้มครอง และปล่อยให้ป่าเจริญเติบโดขึ้นมาเป็นป่าที่สมบูรณ์โดยไม่ต้องปลูก
2. การปลูกฟื้นฟูป่าและการปลูกป่าทดแทน ในพื้นที่ป่าที่มีการเสื่อมโทรม และจำเป็นต้องฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ด้วยแนวคิดการปลูกไม้ 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ปลูกไม้ที่ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง เป็นพืชอาหารของทั้งคนและสัตว์ เป็นไม้ฟืนและถ่านเพื่อให้พลังงาน รวมถึงประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในการช่วยปกคลุมหน้าดินและการเก็บรักษาน้ำในดินเพื่อปล่อยลงสู่แม่น้ำลำธาร และให้ราษฎร์เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต ทั้งยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า
3. ป่าเปียก เป็นทฤษฎีการฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความชุ่มชื้นเป็นหลักสำคัญในการสร้างแนวป้องกันไฟป่า
โดยใช้ไม้โตเร็วคลุมร่องน้ำเพื่อให้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ร่วมกับการสร้างฝายอนุรักษ์ต้นน้ำ (Check Dam) โดยใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นและประหยัด เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น และมีผลให้ความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้พืชพรรณมีการแพร่พันธุ์เกิดสภาพความเขียวชอุ่ม รวมทั้งยังช่วยกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลสู่ลุ่มน้ำตอนล่างทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น สำหรับในพื้นที่ตอนกลางและปลายน้ำ ก็อาจพิจารณาการสร้างฝายแบบเรียงด้วยหินค่อยข้างถาวร(ฝายกึ่งถาวร) หรือฝายแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก(ฝายถาวร) ตามความเหมาะสม
4. การปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางความลาดชันและร่องน้ำบนภูเขา เพื่อลดความรุนแรงในการไหลของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และยึดดินไม่ให้ถูกกัดชะและพังทลาย นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการเก็บกักอินทรียวัตถุในดินและดูดซับสารเคมีไม่ให้ลงสู่แหล่งน้ำตอนล่าง และการส่งเสริมพัฒนาอาชีพตามแนวพระราชดำริรวมถึงการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน การเพิ่มผลผลิตด้านเกษตรกร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น
การจัดกิจกรรมในโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเกิดความตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของการฟื้นฟูสภาพป่า การก่อสร้างฝาย และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการในพื้นที่ ลุ่มน้ำหลัก ทั้ง 8 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยมลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกรัง และลุ่มน้ำท่าจีน รวมพื้นที่ทั้งหมด 100.16 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่คงสภาพป่า 42.46 ล้านไร่ และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 8.46 ล้านไร่ โดยจะจัดให้มีคณะกรรมการ ภาครัฐ และชุมชนในการติดตามควบคุมกำกับการดำเนินการทุกลุ่มน้ำในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในส่วนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมป่าไม้รับผิดชอบ อยู่นั้น ประกอบด้วยการเพาะปลูกหญ้าแฝกจำนวน 20 ล้านกล้า การเพาะชำกล้าไม้จำนวน 82.6 ล้านกล้า และการก่อสร้างฝายจำนวน 2,810 ฝาย เป็นฝายกึ่งถาวร 2,200 ฝาย และฝายถาวร 610 ฝาย
สำหรับการดำเนินงานส่งเสริมชุมชนร่วมปลูกฟื้นฟูป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนมีโรงเรียนเข้าร่วมในโครงการเพาะชำกล้าไม้ จำนวน 15 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ เป็นต้น โดยทุกโรงเรียนมีเรือนเพาะชำกล้าไม้ในโรงเรียน ซึ่งมีความพร้อมในการร่วมเพาะชำกล้าไม้ตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศของกรมป่าไม้ระยะการดำเนินงาน 2555-2556
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการป่าชุมชน เพราะจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจธรรมชาติ เพื่อให้คนเกิดตระหนักรู้คุณค่าของธรรมชาติ และกระตุ้นจิตสำนึกสาธารณชนให้เกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โครงการ“คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ได้ดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ค่ายเยาวชนกล้ายิ้ม และสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมุ่งที่จะส่งเสริมป่าชุมชนที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ให้ป่าชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี และสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการอนุรักษ์ป่าชุมชนของตน พร้อมทั้งมีระบบการบริหารจัดการป่าชุมชนที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมแบบสาม ประสาน คือ บ้าน-วัด-โรงเรียน
สำหรับป่าชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็น “เส้นทางศึกษาธรรมชาติ” โครงการกล้ายิ้ม “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” 10 แห่ง มีดังนี้ จังหวัดชัยภูมิ 3 แห่ง ได้เเก่ ป่าชุมชนเขาขามหินโยก ต.ตลาดแร้ง อ.บ้านเขว้า, ป่าชุมชนเขาวง ต. วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว, ป่าชุมชนเขาซ่าเลือด ต.ห้วยยายจิ๋ว อ.เทพสถิต และอีก 7 แห่ง ได้เเก่ ป่าชุมชนบ้านทาป่าเปา ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน ป่าชุมชนเขาอ้ายโป้ด ต.ซับตะเคียน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ป่าชุมชนบ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ป่าชุมชนบ้านสระแก้ว ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ป่าชุมชนโนนใหญ่ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ ป่าชุมชนบ้านพุยาง ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และป่าชุมชนบ้านยางโทน ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
ป่าชุมชนต้นแบบ " เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าชุมชนเขาวง " อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ เป็นเส้นทางที่นำนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ความหลากหลายทางชีวภาพและความสวยงามตลอดลำห้วยเชียงทา รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการดำรงชีวิตจากพื้นที่แห้งแล้วกันดาร จนกลายมาเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนให้พ้นจากความอดอยาก นำไปสู่แรงงานกลับคืนถิ่นฐานบ้านเกิด ความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้ป่าชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จากการประกวดป่าชุมชนตัวอย่างรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากโครงการ "คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน" เมื่อปี 2551 ปัจจุบัน ป่าชุมชนเขาวงถือเป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการป่าของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์การระหว่างประเทศที่มีมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จัดทำขึ้นครั้งนี้ จะช่วยเสริมให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้และการศึกษาธรรมชาติของป่าชุมชนเขาวงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังจะช่วยต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชนได้
การปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนเกิดความรักและหวงเเหน และรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างทัศนคติ ในเรื่องของประโยชน์ของป่าไม้ และผลเสียของการบุกรุกทำลายป่า อันจะนำไปสู่การปฎิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม รวมถึงการพัฒนาด้านป่าไม้โดยเริ่มจากการปลูกป่าเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครอบครัว ตลอดจนการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อไป