กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา ซึ่งในปี ๒๕๕๕ นี้ยังถือเป็นการครบรอบแห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี ซึ่งวันอาสาฬหบูชา ยังถือเป็นวันสำคัญที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกในโลก ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุรูปแรกและเป็นวันที่บังเกิดพระรัตนตรัย ครบทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ สำหรับวันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่ พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา ๓ เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์ และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จึงได้กำหนดจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ประจำปี ๒๕๕๕ ขึ้น โดยจัดกิจกรรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทำความดีเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๘๐ พรรษา และเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครบ ๖๐ พรรษา
นายสมชาย กล่าวอีกว่า นับเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง สมควรที่พุทธศาสนิกชนจะประกอบคุณงามความดี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเป็นภาระสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนถาวรตลอดไป ซึ่งในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ลานเอนกประสงค์ ชั้น ๑ อาคารธนาลงกรณ์ทาวเวอร์ กระทรวงวัฒนธรรม มีพิธีหล่อเทียนพรรษา และในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และเวลา ๑๔.๓๐ น. ณ วัดบวรนิเวศวิหาร มีการถวายต้นเทียนพรรษา โดยมีนางสุกุมล คุณปลื้ม เป็นปร ะธานในการถวายเทียนพรรษา สำหรับกิจกรรมในส่วนภูมิภาค ทั้ง ๗๖ จังหวัด ได้แก่ การถวายเทียนพรรษาพระอารามหลวง การเข้าวัดปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษา โดยนุ่งขาวห่มขาว และการบวช เป็นต้น
ด้าน นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสังคมไทยเต็มไปด้วยการแข่งขันในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม อาทิ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ต่างมีภาระหน้าที่รับผิดชอบมากจนละเลยการนำหลักธรรมทางศาสนาไปใช้อบรมสั่งสอนบุตรหลานของตน ปล่อยให้เป็นภาระของผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั้งประเทศ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ห่างไกลพระพุทธศาสนา ขาดการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติจนกลายเป็นคนที่ขาดคุณธรรมจริยธรรม การจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในครั้งนี้ จึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้นำหลักธรรมไปปฏิบัติ สร้างคุณความดี สร้างความสัมพันธ์กันระหว่างศาสนากับประชาชน ให้ประชาชนได้เข้าใกล้พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น โดยการนำกิจกรรมทางศาสนาออกเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ชักชวนให้มีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถือเป็นการพัฒนาจิตใจ พัฒนาคุณธรรมจริยธรรม เป็นการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทย