กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--มจธ.
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เผยยุทธศาสตร์เชิงรุก นำนักศึกษาสู่ความเป็น World Wide วางรากฐานน้องใหม่ ยกระดับบัณฑิต ก้าวสู่โลกกว้างในตลาดอาชีพ รับมือการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีก่อนถึงเวลาเข้าร่วมอาเซียน
ผศ.ดร.ชวิน จันทรเสนาวงศ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ International Center for Engineering :ICE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการเรียนการสอนให้บัณฑิตที่จบออกไปจากรั้ว มจธ.สามารถออกไปทำงานที่ใดก็ได้ในโลกไม่เว้นแต่ภูมิภาคอาเซียน ที่เพียงไม่กี่ปีข้างหน้าการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีจะเกิดขึ้นใน 8 อาชีพ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพด้านวิศวกรรม การสำรวจ สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี รวมถึงการบริการและการท่องเที่ยว อาชีพเหล่านี้กำลังเป็นที่จับตาของหลายๆ ฝ่ายในเชิงความได้เปรียบเสียเปรียบด้านการแข่งขันทักษะและฝีมือ ขณะที่ มจธ. ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ผลิตบัณฑิตทั้งปริญญาตรี โท เอก ที่มีความเชี่ยวชาญมานาน ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มจธ.ได้วางทิศทางและยุทธศาสตร์ในเชิงรุกเพื่อให้นักศึกษามีทักษะความสามารถมากขึ้นเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
ผศ.ดร.ชวิน กล่าวว่า ในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ Quantum Jump to the NEXT ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมาย 3 ด้านคือ Global Player, Local champion และ Knowledge entrepreneur ซึ่งการพัฒนานักศึกษานั้น เรามีกลยุทธ์หลักคือ Global Player เนื่องจาก มจธ.ต้องการพัฒนาให้นักศึกษามีความเป็นนานาชาติสูงเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งกระบวนการพัฒนานักศึกษาให้ก้าวไปถึงจุดนั้น มีกิจกรรมต่างๆ มากมายที่มจธ.จะต้องช่วยผลักดันให้นักศึกษา เริ่มตั้งแต่แรกเข้าในรั้วมหาวิทยาลัย
“ดังนั้นระบบคุณภาพของเราจะเริ่มตั้งแต่การพัฒนาเรื่องภาษา เขาจะต้องดีขึ้นโดยนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียนแล้วเรายังจัดตั้งศูนย์ International Center for Engineering :ICE เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์นี้เปรียบเสมือนกระทรวงต่างประเทศของคณะฯ เพื่อสร้างกลไกให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีรูปธรรมชัดเจน มีทั้งการสนับสนุนให้นักศึกษาออกไปศึกษาในต่างประเทศในระยะสั้นๆ ช่วงปิดภาคเรียฤดูร้อน (summer) หรือการหาช่องทางให้นักศึกษาได้ไปฝึกงานในต่างประเทศผ่านมหาวิทยาลัยเครือข่ายมจธ. ซึ่งมีอยู่ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นในแถบอาเซียน เอเชีย หรือยุโรป รวมถึงการจัดหาอาจารย์ชาวต่างชาติมาบรรยายพิเศษ เป็นระยะ
ดร.ชวิน กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการจัดระบบการพัฒนาเพื่อให้เกิดกลไก ในการพัฒนานักศึกษาแล้วอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้อง เช่น การสนับสนุนชมรมและสโมสรนักศึกษา ที่กิจกรรมรับน้องใหม่ใช้ภาษาอังกฤษล้วนๆ อย่างกิจกรรมมิตติ้ง(meeting)ทุก เดือน โดยชวนนักศึกษาต่างชาติมาเปิดประเด็นพูดคุยแลกเปลี่ยนในบรรยากาศสนุกสนานเป็นกันเอง รวมถึงกิจกรรมโต้วาทีภาษาอังกฤษ กิจกรรมเหล่านี้นักศึกษารุ่นพี่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในคณะวิศวกรรมศาสตร์มจธ.
“ต่อไปเราจะพยายามให้ภาษาเข้าไปอยู่ในการเรียนการสอนมากขึ้น ที่ผ่านมาหลักสูตรปกติก็จะเรียนภาษาไทย แต่ถ้าเป็นหลักสูตรนานาชาติก็จะใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ปัจจุบันเราจะเริ่มนำภาษาอังกฤษเข้าไปในหลักสูตรปกติให้มากขึ้น ตอนนี้แม้การเรียนการสอนจะพูดสื่อสารเป็นภาษาไทย แต่การเรียนในห้องอาจารย์ส่วนมากจะใช้ slides เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด อ้างอิงตำราภาษาอังกฤษ และข้อสอบก็เป็นภาษาอังกฤษล้วน นอกจากนี้เราเริ่มบังคับให้นักศึกษาหลักสูตรปกติจะต้องทำรายงานกลุ่ม แล้วนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ นี่อาจเป็นกิจกรรมที่ริเริ่มเป็นจุดเล็กๆ แต่เราจะให้มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราอยากเห็นนักศึกษาได้รับการพัฒนาภาษาไปพร้อมๆกับความเข้มข้นทางวิชาการ และนี่คือมาตรฐานการศึกษาสำหรับเด็กไทยที่ควรจะได้รับ”