กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--กทม.
กทม. เพิ่มสีสันการรณรงค์เลือกตั้ง จัดหีบเลือกตั้งยักษ์สีแดงสด ขนาด กว้าง 2.40 ยาว 4.80 เมตร และสูง 2.40 เมตร ให้ปลัดกทม.นั่งแถลงข่าวเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 26-30 ก.ค.นี้ เผยมีผู้สนใจขอใบสมัครล่วงหน้าแล้ว 17 ราย ดีเดย์รับสมัครวันแรกเตรียมเปิดศูนย์ฯรอรับผู้สมัครแต่ไก่โห่ ใครมาถึงก่อน 08.30 น. ถือว่ามาพร้อมกันมีสิทธิจับสลากหมายเลขเข้าสมัคร ชี้คุณสมบัติไม่ครบตามกฎหมายกำหนดหมดสิทธิ งบหาเสียงใช้ได้ไม่เกินคนละ 37 ล้านบาท เลือกตั้งเสร็จต้องแจงค่าใช้จ่ายด้วย
รับสมัครผู้ว่าฯกทม. 26-30 ก.ค.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (20 ก.ค.47) เวลา 11.00 น. กรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรม “เปิดหีบแดงแถลงข่าวรับสมัครผู้ว่าฯกทม.” ขึ้น โดย คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุทธิชัย ทรรศนสฤษดิ์ และนายตลอด จรูญรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว และมีพลเรือโทณรงค์ ชโลธร ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ร่วมในงาน
ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน(นายสมัคร สุนทรเวช) ซึ่งได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) จึงมีมติให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. โดยกำหนดวันเลือกตั้ง วันที่ 29 สิงหาคม 2547 ระยะเวลาการรับสมัคร 5 วัน คือ วันที่ 26-30 กรกฎาคม 2547 เวลา 08.30-16.30 น. ณ ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) ซึ่งจะมีเขตเลือกตั้งเพียง 1 เขต คือ พื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมดเป็นเขตเลือกตั้ง
เตรียมหลักฐานสำคัญพร้อมเงิน 70,000 บาท
นายตลอด จรูญรัตน์ รองปลัดกรุงเทพหานคร กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ประสงค์ที่จะสมัครรับการเลือกตั้งเกี่ยวกับคุณสมบัติ และการเตรียมพร้อมหลักฐาน เอกสารต่างๆ ให้พร้อมและถูกต้อง เพื่อที่จะได้ ไม่เกิดปัญหาในการสมัครและการตรวจสอบคุณสมบัติ สำหรับหลักฐานสำคัญที่ผู้สมัครจะต้องนำมา ประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชน, ใบรับรองแพทย์รับรองว่าไม่วิกลจริตหรือมีสติฟั่นเฟือน, ค่าธรรมเนียมการรับสมัคร จำนวน 50,000 บาท รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก ขนาดประมาณ 8.5 x 13.5 เซนติเมตร จำนวน 12 รูป พร้อมเงินสดจำนวน 20,000 บาท เพื่อเป็นค่าจัดพิมพ์ใบประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. (ผ.ถ.28) จำนวน 18,000 ฉบับ โดยจะใช้รูปถ่ายจำนวน 12 รูปดังกล่าวเป็นต้นฉบับในการพิมพ์ และหลักฐานอื่นๆ (ถ้ามีกรณีที่ต้องอ้างอิง) เช่น เอกสารใบเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล สูติบัตร หลักฐานหรือใบรับรองแสดงการเกิด ถิ่นที่อยู่ ส่วนกรณีที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพฯน้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันรับสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีหลักฐานการเสียภาษีฯ หลักฐานการลาออกกรณีเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐ เป็นต้น ทั้งนี้ กทม.ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สมัครโดยสามารถส่งเอกสารหลักฐานมา ตรวจสอบก่อนล่วงหน้าได้
คุณสมบัติไม่ครบหมดสิทธิ
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ได้กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครฯ ต้องเป็นผู้ที่มี
สัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี บริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพฯ(เขตใดก็ได้) ติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีบำรุงท้องที่ให้กับกรุงเทพมหานครติดต่อกัน 3 ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้จะต้องไม่เป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ ติดยาเสพติดให้โทษ, เป็นบุคคลล้มละลาย, เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 34 (1) (2) หรือ(4), ต้องคำพิพากษาให้ถูกจำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล หรือได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป และพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท, ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยได้พ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง, เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ, เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ, เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนมายังไม่ถึง 5 ปี หรืออยู่ในระหว่างการเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในครั้งที่ผ่านมาโดยไม่แจ้งสาเหตุกับหัวหน้าส่วนปกครองท้องที่ เป็นต้น
เปิดศูนย์ฯรับสมัครแต่เช้าตรู่
ในการรับสมัครวันแรกจะมีการเปิดศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งฯตั้งแต่ 06.30 น. ผู้สมัครทุกคนที่มาลงทะเบียนก่อนเวลา 08.30 น. จะถือว่ามาพร้อมกัน หลังจากตรวจเอกสารหลักฐานเบื้องต้นแล้ว เมื่อถึงเวลา 08.30 น. ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (ป.กทม.) จะเรียนเชิญผู้สมัครมาทำความตกลงกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้ยื่นหลักฐานการสมัครก่อนหลัง ถ้าหากผู้สมัครตกลงกันไม่ได้ จะใช้วิธีจับสลาก 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 จับเพื่อจัดลำดับการจับสลากก่อนหลัง ครั้งที่ 2 จับได้หมายเลขใดถือเป็นลำดับการสมัคร ซึ่งยังไม่ใช่หมายเลขประจำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะใช้ในการหาเสียง จนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกทม. จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครโดยละเอียดอีกครั้ง และจะแจ้งผลให้ผู้สมัครทราบภายใน 7 วัน หลังจาก
วันปิดรับสมัคร
สำหรับในวันรับสมัครนั้นผู้สมัครสามารถมีกองเชียร์มาสนับสนุนได้ โดยอยู่ในจุดที่กทม.จัดไว้รองรับบริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกทม. ทั้งนี้ กทม. ได้จัดเตรียมห้องอเนกประสงค์ ไว้เป็นสถานที่รับสมัคร โดยจัดพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวและถ่ายทอดสดบรรยากาศการรับสมัคร พร้อมทั้งติดตั้งทีวีวงจรปิดขนาด 32 นิ้ว เครื่องโทรศัพท์และโทรสารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชน ซึ่งจะมีการนัดประชุมซักซ้อมร่วมกับสื่อมวลชนในวันพุธที่ 21 ก.ค.นี้ เวลา 14.00 น.
ว่าที่ผู้สมัครฯ มาจองใบสมัครล่วงหน้าแล้ว 17 คน
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกด้วยว่า จากการที่กรุงเทพมหานครได้ประกาศให้ผู้สนใจจะสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ติดต่อขอรับใบสมัครได้ที่ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. เป็นต้นมา ปรากฏว่า ณ วันที่ 19 ก.ค.47 มีผู้สนใจติดต่อขอรับใบสมัครแล้ว 17 คน ได้แก่ นางลีนา จังจรรยา, นายวรัญชัย โชคชนะ, ว่าที่ ร.ท.ปัญญา ชัยรัตนพาณิชย์, นายกิตติศักดิ์ ถิรวิศิษฎ์, นายสุชาติ เกิดผล, นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์, นายธวัชชัย สัจจกุล, ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ, นายทรงพล สุวรรณกูฎ, ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์, นายพีระพงษ์ ถนอมพงษ์พันธ์, นางปวีณา หงสกุล, นายวิทยา จังกอบวัฒนา, นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล, ดร.มานะ มหาสุวีระชัย, ดร.การุณ จันทรางศุ, และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ทั้งนี้จะเปิดให้ผู้สนใจขอรับใบสมัครไปจนถึงวันที่ 30 ก.ค.นี้ ซึ่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งที่แล้วมีผู้สมัครทั้งสิ้น 23 คน
ใช้งบหาเสียงคนละไม่เกิน 37 ล้านบาท
การยื่นค่าใช้จ่าย กกต.กทม. ได้กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ไม่เกิน 37 ล้านบาท โดยจะคิดรวมจากค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้ง ค่าจ้างแรงงานทุกประเภทเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ค่าเช่าและค่าตกแต่งสถานที่ ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าจัดซื้อหรือเช่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหาเสียง ค่าจัดทำป้าย เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่จะใช้ในการหาเสียง ค่าสาธารณูปโภคและค่าไปรษณียากร รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ผู้สมัครจะต้องยื่นบัญชีรายงานการใช้จ่ายต่อ กกต.กทม.ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ประกาศผล
ไฟเขียวสถานที่ปราศรัยหาเสียง 10 แห่ง
เพื่อให้การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย กทม. จึงได้จัดสถานที่ปราศรัยหาเสียงสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ สนามหลวง, ลานคนเมือง, สวนจตุจักร, สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์, สวนรถไฟ, สวนลุมพินี, สวนอุทยานเบญจสิริ, อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช, ศูนย์เยาวชนพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) และศูนย์เยาวชนพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) ซึ่งผู้ประสงค์จะขอใช้สถานที่ต้องยื่นขออนุญาตต่อปลัดกทม.เป็นการล่วงหน้าก่อนวันเข้าใช้สถานที่ไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยยื่นคำร้องขออนุญาตได้ที่ ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกทม. ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.47 เป็นต้นไป
สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร หลักฐาน ค่าใช้จ่ายการสมัคร และขั้นตอนการรับสมัคร สามารถสอบถาม
รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 ศาลาว่าการกทม. โทร. 0 2224 2945 และ 0 2224 3044--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--