กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อบรมบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการตรวจวินิจฉัยโรคมือเท้าปาก ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโรคมือ เท้า ปาก หรือวิธี PCR และจัดตั้งเครือข่ายการตรวจในส่วนภูมิภาคการส่งต่อตัวอย่างเป็นระบบเดียวกัน พร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโรคและสามารถตรวจวินิจฉัยโรคมือเท้าปากอย่างถูกต้อง สร้างความมั่นใจต่อระบบงานสาธารณสุขและประชาชน
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโรคมือเท้าปากทางห้องปฏิบัติการมีความสำคัญมาก เนื่องจากผลการตรวจวินิจฉัย ที่มีความถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำและเชื่อถือได้จะเป็นข้อมูลช่วยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและทันการณ์ ซึ่งจะมีผลต่อการรักษาและการรอดชีวิตของผู้ป่วย อีกทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ด้วยเหตุนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้จัดการฝึกอบรมให้กับบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจวินิจฉัยโรคมือเท้าปาก ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนภูมิภาค 14 แห่ง ทั่วประเทศ โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโรคมือ เท้า ปาก โดยวิธี PCR ในการหาไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งเคยมีการฝึกอบรมมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ถือเป็นการทบทวนและเพิ่มเติมข้อมูล ทางเทคนิคจากประสบการณ์จริงซึ่งใช้เวลา ในการฝึกอบรมไม่นาน เป็นการเพิ่มศักยภาพของการตรวจวินิจฉัยโรค พร้อมรับสถานการณ์ การระบาดของโรคและสามารถตรวจวินิจฉัยโรคมือเท้าปากอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ในการ ควบคุมโรค
จากข้อมูลห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 -2554 พบว่าไวรัส Coxsackievirus A16 เป็นสาเหตุสำคัญของการระบาด ในปี 2550 และ 2553 ส่วนปี 2552 และ 2554 เป็น Enterovirus 71 โดยในปี 2554 มีตัวอย่างส่งตรวจ 1,150 ตัวอย่าง จากผู้ป่วย 781 ราย พบตัวอย่างผู้ป่วยที่ให้ผลบวก จำนวนทั้งสิ้น 172 ราย ในจำนวนผู้ป่วยที่ให้ผลบวกนี้ พบ Enterovirus71 จำนวน 80 ราย และ Coxsackievirus A16 จำนวน 42 ราย คิดเป็นร้อยละ 46.5 และ 24.4 ของจำนวนผู้ป่วยที่ให้ ผลบวกทั้งหมด ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นเชื้อ Enterovirus ชนิดอื่นซึ่งไม่สำคัญ สำหรับปี พ.ศ. 2555 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 22 กรกฎาคม ได้รับตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วย จำนวน 372 ราย (525 ตัวอย่าง) พบ Enterovirus 71 และ Coxsackievirus A16 จำนวน 33 และ 24 ราย ตามลำดับ และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 42 ราย
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า Enterovirus 71 สามารถแบ่งได้เป็น Genogroup A, B, C และ D โดย Genogroup A จะเป็น prototype ของ Enterovirus 71 ส่วน Genogroup B และ C จะแบ่งได้อีกชนิดละ 5 subgenogroups โดยปกติในการระบาดของEnterovirus 71 ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของโรคกับ subgenogroup ที่พบ เพียงแต่ เป็นการเฝ้าระวังจากข้อมูลของเชื้อที่พบในประเทศที่มีการระบาดใหญ่และมีผู้เสียชีวิตในหลายๆ ประเทศที่ผ่านมา เช่น C4 สำหรับ Enterovirus 71 ที่ตรวจพบในประเทศไทยปี 2554 นั้นห้องปฏิบัติการฯได้นำมาศึกษาคุณสมบัติทางพันธุกรรม พบว่าเป็น subgenogroup B5 และ C4 จำนวน 51 และ 3 ราย ตามลำดับ โดย C4 ที่พบนั้นแยกได้จากผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย และจากผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอีก 2 ราย ส่วน B5 นั้นแยกได้จากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง 2 รายและจากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง 49 ราย ส่วนในปี 2555 ยังคงเป็น subgenogroup B5
“อย่างไรก็ตามช่วงนี้มีการส่งตัวอย่างจากผู้ป่วยมาที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโรคมือ เท้า ปาก เฉลี่ยประมาณ วันละ 30 ตัวอย่าง ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยโรค ด้วยวิธี PCR จากตัวอย่างอุจจาระ สวอบคอ ตลอดจน น้ำไขสันหลัง จากผู้ป่วย จะสามารถทราบผลภายใน 24-48 ชั่วโมง”
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข