บสย. ผนึก 3 สภาหลักให้ SME กู้เงินได้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 26, 2012 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--โฟร์ฮันเดรท “วิรุฬ รมช.คลัง” จับมือ บสย. พร้อมผนึก 3 หน่วยงานยักษ์ สภาหอการค้าไทยฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ SME ภาคการค้าอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และบริการ ที่มีการขยายตัวมากที่สุด หวังช่วยเหลือ SME ที่อยู่ในสังกัด 3 สภาหลักกว่า 90,000 ราย ได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินมากขึ้น ผู้บริหาร “บสย.” ย้ำ ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยากเป็นเถ้าแก่ได้เฮ รัฐช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมปีแรกให้ 1.75 % ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการใหม่ที่มีวงเงินช่วยเหลือถึง 10,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการ SME สนใจรีบติดต่อ “ศูนย์ช่วยเหลือ SMEs” โทร. 02-308-2741 นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้ที่ให้ความสำคัญแก่ธุรกิจขนาดย่อมซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยดังนั้นการเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของธุรกิจขนาดย่อมจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือให้ SME ที่มีศักยภาพที่ต้องการสินเชื่อแต่ขาดหลักประกัน ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินมากขึ้น ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงหน่วยงานสำคัญ 3 องค์กรคือ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก รวม ๆ กันแล้วมากกว่า 90,000 ราย ตามนโยบายของกระทรวงการคลังที่จะให้ บสย. ปรับเงื่อนไขการค้ำประกันให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น หลังมีข้อสรุปว่ายอดค้ำประกันที่ยังไม่สูง เกิดจาก SMEs ขาดหลักประกัน ซึ่งจะต้องปรับเพิ่มวงเงินค้ำประกันให้จูงใจมากขึ้น รวมถึงการปรับค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้มีหลายระดับตามความเสี่ยงของลูกค้าหรือความแตกต่างกันของแต่ละธุรกิจเพื่อช่วยให้ SME เข้าถึงสินเชื่อได้กว้างมากขึ้นในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เมื่อเทียบกู้เงินนอกระบบซึ่งในกลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่มหลักนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ ที่ต้องการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมศักยภาพได้มากยิ่งขึ้น นายวิบูลย์ เพิ่มอารยะวงศ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. กล่าวว่า เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ของ บสย. ในการก้าวไปสู่สถาบันค้ำประกันสินเชื่อแห่งชาติตามพันธกิจในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีศักยภาพทั่วประเทศให้สามารถได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ บสย. จึงได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนที่มีความสำคัญยิ่งในด้านเศรษฐกิจของประเทศคือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่าง บสย. และ 3 สภาหลักของประเทศครั้งประวัติศาสตร์นี้จะนำไปสู่ความร่วมมือที่จะช่วยให้ SME ทั่วประเทศไทยกู้เงินเพิ่มขึ้นได้จากการทำงานร่วมกันในรูปแบบต่างๆ คือ สมาชิก SME กว่า 90,000 รายของทั้ง 3 สภาจะได้รับรู้และเข้าใจพันธกิจของ บสย. ที่จะช่วยให้ SME กู้เงินได้จากการเข้าร่วมฟังการบรรยายในการประชุมกรรมการ สมาชิกของ 3 สภาหรือประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ และสมาชิกในกลุ่มจะได้มีโอกาสแจ้งปัญหาการกู้เงินไมได้หรือไม่เพียงพอรวมทั้งมูลค่าของเงินกู้ที่ต้องการผ่านสภาที่ตนเองเป็นสมาชิกเพื่อ บสย. จะนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์การค้ำประกันร่วมกับธนาคารต่อไปเพื่อ SME กู้เงินได้ในที่สุด นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมี SMEs อยู่ประมาณ 3 ล้านราย แต่มี SMEs เพียง 1 ล้านรายได้รับเงินกู้จากธนาคาร อีก 2 ล้านรายที่เหลือประมาณว่าอาจมีอีก 6 แสนราย ที่มีความต้องการกู้เงินจากธนาคาร แต่ยังไม่สามารถกู้ได้ SMEs กลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือให้กู้เงินจากธนาคารได้ บสย. และผมได้พูดย้ำกับพนักงาน บสย. ทั้งหมดอยู่เสมอว่า “อย่าปล่อยให้ SMEs กู้เงินไม่ได้” และ “รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหนเราจะไปช่วยให้เขา กู้ได้ กู้ง่าย กู้ถูก” “20 ปีที่ผ่านมา การช่วยเหลือ SME ให้กู้เงินธนาคารได้ของ บสย. พึ่งพาเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคาร 7,000 คน ศูนย์ธุรกิจ 950 แห่ง และสาขา 8,600 แห่งเป็นหลัก บสย. สามารถช่วยให้ SME กว่า 65,000 ราย กู้เงินได้เป็นเงินกว่า 300,000 ล้านบาท การจะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่ม SME ที่ยังกู้เงินไม่ได้ดังกล่าวในเชิงรุก บสย. ไม่มีทีมเจ้าหน้าที่ขายที่ใหญ่พอ และไม่คุ้มค่าในเชิงค่าใช้จ่าย บสย. จึงจำเป็นต้องมีพันธมิตรที่จะช่วยให้ บสย. สามารถ เข้าถึง เข้าใจ และ เข้าช่วย SME เหล่านั้นได้ และพันธมิตรของ บสย. ที่ดีที่สุดในประเทศไทยก็คือ 3 สภาหลักของประเทศ ที่ SME ที่เป็นสมาชิกยังกู้เงินธนาคารไม่ได้ หรือได้แต่ยังไม่เพียงพอ การผนึกกำลังกันระหว่าง 3 สภา และ บสย. เพื่อให้ SME กู้เงินได้จึงเกิดขึ้นและเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันแห่งประวัติศาสตร์นี้” นายวิบูลย์ กล่าว และว่า การได้เข้าถึง SME ที่เป็นสมาชิกของทั้ง 3 สภาเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจและข้อมูลปัญหาและปริมาณความต้องการสินเชื่อที่นำมาจากความร่วมมือจาก 3 สภาหลักนี้ จะทำให้ บสย. เข้าใจ SME สามารถร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับธนาคารเพื่อให้ SME กู้เงินได้ในลักษณะ Need-based solution ซึ่งเป็นการช่วย SME ที่เป็นเป้าหมายได้โดยตรง นายวิบูลย์ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ยังได้มีการจัดการประชุมเป็นครั้งคราวตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ระหว่างกัน และเพื่อ บสย.ได้รับรู้ถึงปัญหาจากสมาชิก และประชาสัมพันธ์ บสย.ให้เป็นที่รู้จักของสมาชิกและยินดีให้การสนับสนุนกิจกรรมที่จะเป็นประโยชน์แก่สมาชิกในวาระต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าความร่วมมือนี้สามารถช่วยเหลือ SME ได้อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยพภาพ เพิ่มขีดความสามารถของ SME ในภาพรวมได้ สำหรับโครงการ PGS ระยะ 4 และโครงการ PGS สำหรับผู้ประกอบการใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่ถึงเดือน ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะนี้ได้มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 1,000 ราย โดยมี วงเงินอนุมัติการค้ำประกันไปแล้วกว่า 3,400 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อกว่า 5,500 ล้านบาท ในส่วนผลการค้ำประกันสะสม ณ วันที่ 30 มิ.ย.55 บสย. เข้าไปให้การค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs แล้วจำนวนทั้งสิ้น 64,350 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันกว่า 189,494 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อไปแล้วรวมทั้งสิ้น 312,016 ล้านบาท โดยประเภทของธุรกิจที่ บสย. ให้การค้ำประกันสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ อันดับที่ 1 ธุรกิจการบริการ อันดับที่ 2 ธุรกิจการผลิตสินค้า และอันดับที่ 3 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม นายวิบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอคำปรึกษาเรื่องการขอสินเชื่อ สามารถโทรติดต่อ “ศูนย์ช่วยเหลือ SMEs” ได้ที่ โทร. 02-3082741 ซึ่งเป็นบริการพิเศษของ บสย. โดยศูนย์ช่วยเหลือ SMEs จะให้ข้อมูล คำแนะนำและคำปรึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การร่วมมือกับ บสย. ภายใต้ทิศทางการพัฒนา SMEs ของรัฐบาล ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่ปัจจุบันมีการแข่งขันสูง ซึ่ง ส.อ.ท. มีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ถึง 79% ของ ส.อ.ท.ทั้งหมด ทั้งยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อนำมาเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรม การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริหารจัดการ โดยส.อ.ท. พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้การสนับสนุนด้านข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อสินเชื่อ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาของผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. รวมถึงให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ทั้งสมาชิกของ ส.อ.ท. และผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปให้มีศักยภาพด้านการเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจต่อไป ทางด้านนายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME โดยการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันหลากหลายกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้มีการจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ SME ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และจากการได้มีโอกาสพบปะกับผู้ประกอบการ SME ก็จะได้รับฟังเสียงสะท้อนเรื่องปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่เสมอ ดังนั้น ภายใต้กรอบความร่วมมือกับ บสย.นี้ จะเป็นแรงเสริมให้ผู้ประกอบการ SME มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ภายหลังการลงนามความร่วมมือในวันนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคงต้องร่วมมือกับ บสย. ในการจัดเวทีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ รับฟังประเด็นปัญหาและความต้องการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ SME เพื่อนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของ บสย. ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ SME อย่างแท้จริง เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจของ SME ไทยสู่ระดับสากลต่อไป ทางด้าน นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับในกลุ่มท่องเที่ยว และบริการ ซึ่งร้อยละ 80 เป็นผู้ประกอบการ SMEs และยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ในขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับต้นๆ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ จะเห็นได้ว่า ในหลายๆเวทีมักจะมีการกล่าวถึงความสำคัญของการท่องเที่ยว ซึ่งแทบจะเกี่ยวโยงกับทุกอุตสาหกรรม หากแต่ส่วนมากแล้วมักจะไม่เข้าถึงองค์ประกอบที่สำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะที่พักแรมแต่ยังต้องรวมภัตตาคาร บริษัทนำเที่ยวทั้งส่วนของ Inbound Outbound และ Domestic มัคคุเทศก์ การคมนาคมขนส่งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมถึง นันทนาการและผู้จำหน่ายและผู้ผลิตสินค้าที่ระลึก ปัญหาหลักของผู้ประกอบการท่องเที่ยวคือ หลักประกันทางการท่องเที่ยวที่สถาบันการเงินยังไม่ยอมรับให้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันได้ เช่น เรือ รถ บริษัทนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ ธุรกิจเหล่านี้ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่สินค้าหลักคือการให้บริการ ไม่สามารถจับต้องได้ และการลงนามในครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง และ เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ