กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--สกว.
การรับมือกับวิกฤตด้าน “พลังงาน” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นอกเหนือจากการกำหนดมาตรการและนโยบายจากภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพแล้ว การสร้าง “ความมั่นคง” ด้านพลังงานของประเทศ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
ในพิธีเปิดการประชุม “การนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอก ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ที่เป็นการจัดร่วมกันระหว่าง 3 อุดมศึกษาคือ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเกียวโต จากประเทศญีปุ่น เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศ.ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า นอกเหนือจากในแต่ละปีเมืองไทยจะต้องแหล่งพลังงานจากต่างประเทศปีละกว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว สัดส่วนของการใช้พลังงานยังมีลักษณะของความไม่มั่นคง โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า
“ข้อมูลเมื่อ 6 ปีก่อน ไฟฟ้าของเราผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ขณะนี้เราใช้แก๊สมาผลิตเป็นไฟฟ้าถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะขณะนี้ไทยเราจะมีแก๊สธรรมชาติให้ขุดใช้ได้อีกประมาณ 20 ปี ขณะที่ถ่านหินซึ่งสามารถใช้ไปได้อีกกว่า 150 ปีนั้น มีสัดส่วนการนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าน้อยลง ขณะเดียวกันเราก็มีการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นกว่าอดีต”
ในส่วนของพลังงานทางเลือกนั้น ศ.ดร. นักสิทธ์ กล่าวว่า แม้จะมีการกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน หากเมื่อวิเคราะห์ถึงพลังงานทางเลือกแต่ละชนิดก็จะพบข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่ต้องออกแรงจัดการอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ยังมีต้นที่ที่สูงมาก พลังงานลมที่ยังหาจุดที่มีกระแสลมเหมาะสมและคุ้มค่าได้น้อยในเมืองไทย หรือแม้แต่พลังงานชีวมวลที่ยังติดขัดในเรื่องของเทคนิคและต้นทุน
การจะจัดการแก้ไขประเด็นปัญหาและข้อติดขัดเหล่านี้ ส่วนหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ จะต้องสร้างบุคลากรด้านพลังงานที่มีความรู้ความสามารถทัดเทียมต่างประเทศ เพื่อทำการศึกษาวิจัยและหาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดในแง่วิชาการการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งสิ่งนี้คือหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมร่วมกันของ 3 สถาบันอุดมศึกษาในครั้งนี้
ดร. สมหมาย ผิวสอาด จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการวิจัย และการจัดการพลังงานที่ยั่งยืน (COE) กล่าวถึงที่มาของการประชุมครั้งนี้ว่า จากบันทึกความเข้าใจที่ทางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และทาง JGSEE ได้เซ็นร่วมกับ สถาบันพลังงานระดับสูง (Institue of Advance Energy แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการก่อตั้งศูนย์ COE ประจำภูมิภาคเอเซียขึ้นในประเทศไทย โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสถาบันวิจัยรวมถึงตัวนักวิจัยด้านพลังงานทั้งหมดในภูมิภาคเอเซีย และจัดการจัดประชุมวิชากการและพัฒนางานวิจัยด้านนี้ในภูมิภาคนี้ขึ้นมา ซึ่งเหตุนี้ทำให้สถาบันฯของ ม.เกียวโต ตัดสินใจเลือกมาจัดประชุมนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาในต่างประเทศประจำปีนี้ที่ประเทศไทยในครั้งนี้
รศ.ดร. บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยการ JGSEE กล่าวเสริมว่า การประชุมเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอก 20 กว่าชิ้นจากไทยและญี่ปุ่นในครั้งนี้จะทำให้นักศึกษาของไทย ได้เห็นทิศทางและความก้าวหน้างานวิจัยด้านนี้ในระดับสากล ขณะเดียวกันเราก็จะได้ทราบถึงความก้าวหน้าในงานวิจัยพลังงานของสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงของโลก นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนและทำความคุ้นเคยกันระหว่างผู้วิจัยไทยกับต่างประเทศ ที่จะมีส่วนเกื้อหนุนการวิจัยในระยะยาวต่อไป
“การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมในสาขาวิชาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการประชุมในหัวข้อค่อนข้างเฉพาะ คนที่ร่วมประชุมจึงเป็นคนที่สนใจและเกาะติดในประเด็นนี้จริง เพราะฉะนั้นผู้เข้าร่วมโดยเฉพาะนักศึกษาและอาจารย์ไทยจะได้รับประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้ค่อนข้างมาก และสามารถในไปใช้ในการพัฒนางานวิจัยของตนเองได้จริงทั้งปัจจุบันและอนาคต”
ดร.สมหมาย แสดงความคิดเห็นว่า จากจุดเริ่มต้นครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมศักยภาพของผู้เรียนและบุคคลากรในสาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อมของไทย ให้มีความสามารถและได้รับการยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงคุณภาพของนักวิชาการและบุคคลากรระดับสูงด้านพลังงานของประเทศในะระยะยาว อันจะเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการผลักดันให้ประเทศวิธีการและกลไกในการจัดการกับ “พลังงาน” ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
(ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โทร. 0-2298-0454 )--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--