สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ผนึกพลังภาคีเครือข่ายเผยโฉม “ร้าน 0 บาท” สอดรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวทั่วไป Friday July 27, 2012 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE)ผนึกพลังภาคีเครือข่ายเผยโฉม “ร้าน 0 บาท” สอดรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแถมลดปัญหาค่าครองชีพที่ต้องเผชิญ ณ ปัจจุบัน -ครั้งแรกที่ “ขยะ” จะถูกเปลี่ยนเป็นเงิน เพื่อเลือกช็อปปิ้งสินค้าภายในร้านได้ตามความพอใจ- TIPMSE เดินหน้ารุกสร้างความเข้าใจแก่คนไทยในการคัดแยกบรรจุภัณฑ์และตระหนักถึงมูลค่า เพื่อนำ “ขยะ” มาเปลี่ยนเป็นเงิน ลดปัญหาค่าครองชีพ ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ล่าสุดผุด “ร้าน 0 บาท” ต้นแบบที่ศูนย์วัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ เตรียมแผน เชิงรุกขยายสาขาทั่วประเทศ นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นในทุกด้าน สิ่งของอุปโภคบริโภคต่างๆ ล้วนพร้อมใจกันปรับตัวขึ้นราคา ในขณะที่รายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบถึงคนทั่วประเทศ TIPMSE ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและพยายามที่จะร่วมหาทางออกให้กับประเทศในบทบาทและขอบเขตที่ทางสถาบันฯ มีความเชี่ยวชาญ นั่นคือ การจัดการวัสดุรีไซเคิล ซึ่งสถาบันฯ พบว่า คนส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญและมูลค่าของการจัดการวัสดุรีไซเคิลซึ่งมีมูลค่าเป็นเงิน สามารถนำมาจับจ่ายใช้สอยช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้ อีกทั้ง TIPMSE มีชุมชนเครือข่ายที่มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การจัดการระบบร้านชุมชนวัสดุรีไซเคิลแบบยั่งยืน จึงได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายของสถาบันฯ จัดตั้งโครงการ “ร้าน 0 บาท” ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดยร้านดังกล่าว เป็นร้านค้าของชุมชนอย่างแท้จริงที่มุ่งสนองตอบความต้องการของแต่ละชุมชน ในรูปแบบต่างๆ เช่น ร้านของชำ ร้านข้าวแกง ร้านรับแลกสินค้าเคลื่อนที่ ตามความต้องการของแต่ละชุมชน โดยมีแนวคิดในการใช้วัสดุรีไซเคิลแทนเงินสดเพื่อแลกสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน และลดปริมาณขยะในประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างวัฒนธรรมการคัดแยกขยะให้กับคนไทยอีกด้วย ทั้งนี้ นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบัน TIPMSE กล่าวเสริมว่า “TIPMSE กำหนด วัตถุประสงค์ในการดำเนินการ “ร้าน 0 บาท” ไว้ 3 ประการ คือ 1. เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ของประชาชนโดยการใช้วัสดุรีไซเคิลแทนเงินสด 2. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมองเห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิล ก่อนทิ้งเป็นขยะ และ 3. เพื่อรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่คนรุ่นใหม่ร่วมใจคัดแยกวัสดุรีไซเคิล ซึ่งเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หากโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการไปแล้วจะสร้างให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ ที่คนในชุมชนสามารถจัดการเรื่องขยะในชุมชนได้ โดยเฉพาะเรื่องของการคัดแยกขยะจากต้นทางซึ่งจะช่วยให้ปัญหาขยะในชุมชนลดลงได้ ทั้งยังสามารถลดค่าครองชีพของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดย "ร้าน 0 บาท" จะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ให้กับคนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจในแนวคิดของร้านนี้ว่า แม้จะไม่มีเงินสดก็สามารถซื้อสินค้าได้ด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว จำพวก ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องกระดาษ กล่องเครื่องดื่ม และวัสดุรีไซเคิลประเภทอื่นๆ มาแลกสินค้าแทนเงินสด ซึ่งสินค้าหลักๆ ที่จำหน่ายในร้านก็จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เพื่อให้บริการแก่สมาชิกและคนในชุมชนอีกทั้งรูปแบบของร้าน 0 บาท ก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าแบบถาวร ในชุมชนหรือแบบร้าน 0 บาทเคลื่อนที่ หรือแม้แต่ร้านข้าวแกงก็สามารถทำเป็น ร้าน 0 บาทได้เช่นกัน โดยที่ร้าน 0 บาทของแต่ละชุมชน จะถูกพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับสภาพของชุมชน เพื่อให้เป็นร้านของชุมชนอย่างแท้จริง และสมาชิกของชุมชนสามารถใช้บริการได้อย่างยั่งยืน ทาง TIPMSE ไม่ได้เป็นผู้จัดหาสินค้าในร้านให้ แต่จะเป็นพี่เลี้ยงในด้านการวางแผนการจัดการ การเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อให้แต่ละชุมชนได้ดำเนินการร้าน 0 บาท ได้เหมาะสมกับสภาพของตน ซึ่งทางร้านจะเป็นผู้จัดหาสินค้าตามความต้องการของชุมชน” ทั้งนี้ ร้านต้นแบบโครงการ “ร้าน 0 บาท” ได้เปิดให้บริการร้านแรก ณ ศูนย์คัดแยกวัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพ ซาเล้ง อ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ พร้อมกันนี้ ในเฟสแรกจะมีร้านต้นแบบ อีก 2 ร้าน ได้แก่ ร้านชุมชนเคหะดินแดง และชุมชนวัดกลางที่จะเปิดเป็นร้าน 0 บาทต้นแบบ ให้ชุมชนที่สนใจเข้าศึกษารูปแบบการจัดการได้ นอกจากนี้ ทาง TIPMSE ยังเปิดรับสมัครบุคคลหรือชุมชน หมู่บ้านที่มีความสนใจจะเปิดดำเนินกิจการร้าน 0 บาท สามารถติดต่อสถาบันได้โดยตรง เพื่อศึกษารูปแบบและเงื่อนไขการดำเนินการ โดยทาง TIPMSE จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนสื่อส่งเสริมการขายและให้การอบรมก่อนการดำเนินการเปิดร้าน โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) โทร 02-272-1552 ต่อ 19 หรือ http://www.facebook.com/0bahtshop ประวัติความเป็นมา TIPMSE: สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIPMSE เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ริเริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 โดยกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมและสมาชิกที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้บรรจุภัณฑ์ เพื่อรณรงค์ ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วออกจากขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ปริมาณ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในกองขยะทั่วประเทศลดลงด้วยวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะสม ภายใต้แนวคิด "บรรจุภัณฑ์ ไม่ใช่ขยะ" คัดแยกก่อนทิ้ง เงินสนับสนุนหลักมาจากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรม และสมาชิกที่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ สถาบันฯ ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย โดยผู้สนใจสามารถชมข้อมูล สถาบันเพิ่มเติมได้ที่ www.tipmse.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ