วช. จัดประชุมระดมสมอง เรื่อง “พลังงานทดแทนเอทานอลและไบโอดีเซล”

ข่าวทั่วไป Thursday July 22, 2004 09:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดการประชุมระดมสมองเพื่อจัดทำกรอบงานวิจัยประจำปีงบประมาณ 2548 โครงการบูรณาการงานวิจัยเร่งด่วนด้านพลังงานทดแทนเอทานอลและไบโอดีเซล ในวันพุธที่ 28 กรกฎาคม 2547 ณ ห้องมิราเคิลแกรนด์ ซี โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีนายสันทัด โรจนสุนทร ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม เวลา 09.00 น.
พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชากร จากภาวะวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น มีแนวโน้มว่าน้ำมันสำรองจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก รัฐบาลจึงต้องจัดหา ผลิต และสำรองพลังงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาจากภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การประหยัดพลังงานเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยการจัดการด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการประหยัดพลังงานที่เหมาะสม และการแสวงหาพลังงานทดแทนจากแหล่งอื่น ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยลดการนำเข้าและพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียม และช่วยแก้ปัญหาการเกิดมลภาวะจากการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ยังสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยพลังงานทดแทนที่สามารถผลิตได้ในประเทศมีหลายรูปแบบ เช่น การใช้น้ำมันพืชผสมกับน้ำมันดีเซลหรือไบโอดีเซล เพื่อทดแทนน้ำมันไบโอดีเซลบางส่วน การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังหรืออ้อย เพื่อใช้ทดแทนน้ำมันเบนซินในการทำแก๊สโซฮอล์ ทั้งนี้ การวิจัย พัฒนาเอทานอลและไบโอดีเซลจำเป็นต้องสร้างเทคโนโลยีพึ่งตนเอง เพื่อให้สามารถผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ต้นทุนการผลิตต่ำ แข่งขันกับราคาน้ำมันได้ ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลให้เป็นไปอย่างเหมาะสม จึงต้องสอดคล้องกับความสามารถและศักยภาพของประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดจัดการประชุมระดมสมอง เรื่อง “บูรณาการงานวิจัยเร่งด่วนด้านพลังงานทดแทนเอทานอลและไบโอดีเซล” ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้หัวข้องานวิจัยเร่งด่วนด้านพลังงานทดแทนที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2548 ที่มีเป้าหมายและดัชนีชี้วัดความสำเร็จชัดเจน ได้ผลเป็นรูปธรรม สามารถนำผลการวิจัยที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำมันขาดแคลนและราคาที่สูงขึ้น ตลอดจนช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืนในอนาคต โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย นักวิชาการ นักวิจัย ตัวแทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจทั่วไป จำนวนประมาณ 300 คน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ