กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--วช.
กุ้งกุลาดำ เป็นสินค้าส่งออกลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย ทำรายได้เข้าประเทศปีละนับพันล้านบาท ซึ่งการทำนากุ้งต้องใช้พื้นที่มาก ต้องบริหารจัดการฟาร์มดี ไม่ปล่อยของเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติเพราะจะทำให้ระบบนิเวศน์เสียไป หากว่ามีการจัดการบริหารพื้นที่อย่างเหมาะสมโดยการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาใช้ (GIS) ในการวางแผน แก้ไข ป้องกันปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ สามารถตรวจสอบและแก้ไขได้อย่างรวดเร็วก็จะสามารถทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ใช้ประโยชน์นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการทำนากุ้ง ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ ผศ.ดร. สุนทร พูนพิพัฒน์ และ ดร. วัฒนชัย พงศ์นาค จากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการวิจัยเรื่อง “ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ : การใช้ประโยชน์เพื่อการจัดการและบริหารพื้นที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมที่สืบเนื่องมาจากธุรกิจเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ” โดยผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ที่ดินเพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในจังหวัดฉะเชิงเทราพบว่า มีแนวโน้มการขยายตัวในการเพาะเลี้ยงกุ้งเพิ่มมากขึ้น ประมาณกว่า 1 แสนไร่ โดยใช้ขุดดินบางกอก ขุดดินบางปะกง ชุดดินสมุทรปราการ ขุดดินฉะเชิงเทรา นำมาสร้างเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งดินเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นดินเหนียว อุ้มน้ำสูง ทำให้เก็บกักน้ำได้ดี นอกจากนี้ ยังได้จัดลำดับขั้นความเหมาะสมของพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งโดยอาศัยคุณสมบัติทางเคมีของน้ำ อันประกอบด้วย ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ปริมาณโปตัสเซียม คลอรีน เหล็ก อลูมินั่มและแมงกานีส ซึ่งพบชัดเจนว่า คุณสมบัติของดินและน้ำในบ่อกุ้งต่างมีอิทธิพลมากต่อการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยหากว่าบ่อกุ้งที่มีการเลี้ยงติดต่อกันมานานหลายปีคุณภาพดินและน้ำเสียจะเสียไปส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงและผลผลิตกุ้ง พื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสมเลยที่จะเพาะเลี้ยงกุ้ง ซึ่งได้แก่ เขตอำเภอบางปะกง อำเภอเมือง (เนื่องจากเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งเก่า) ส่วนพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งที่มีความเหมาะสมมากจนถึงปานกลางที่จะเลี้ยงจะกระจายตัวอยู่ในเขตอำเภอบางคล้า อำเภอแปลงยาวบางส่วน (เป็นพื้นที่ใหม่) ดังนั้น หากเกษตรกรนำกุ้งกุลาดำเลี้ยงเฉพาะในเขตที่มีน้ำจืดโดยไม่นำน้ำทะเลเข้ามาใส่บ่อเลี้ยง, ปรับความเค็มให้ลูกกุ้งอยู่ในสภาพน้ำที่มีความเป็นศูนย์ในบริเวณเขตเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ก่อนนำไปเลี้ยงในเขตน้ำจืดและควรเลี้ยงอยู่ในระบบปิดโดยเติมน้ำอย่างเดียว ไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำออกมาสู่ภายนอก หรือหากจำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทิ้ง น้ำทิ้งดังกล่าวจะต้องมีระดับความเค็มไม่เกิน 1 ส่วนในพันส่วน ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมลงได้ และการมีคูน้ำจืดอยู่รอบ ๆ บริเวณบ่อเลี้ยงก็จะเป็นการป้องกันการไหลแทรกซึมของน้ำเค็มออกไปยังพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งแนวทางดังกล่าวข้างต้นจะสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในการเพาะเลี้ยงกุ้งได้--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--