กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--วธ.
นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย จึงกำหนดจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๕ ขึ้น ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๙.๐๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ ด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และการอนุรักษ์ภาษาไทยและภาษาท้องถิ่นอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมอันยาวนาน ตลอดจนการสืบสานภาษาไทยให้คงอยู่สู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป
นางสุกุมล กล่าวอีกว่า การจัดงานในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลให้แก่ปูชนียบุคคลหรือบุคคลที่เป็นแบบอย่างด้านการใช้ภาษาไทย โดยแบ่งเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ ๑. ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการด้านภาษาไทย จำนวน ๕ ราย อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คมคาย นิลประภัสสร ผู้ช่วยศาสตราจารย์วินัย ภู่ระหงษ์ และนายอำพล สุวรรณธาดา เป็นต้น ๒.ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เป็นชาวไทยที่มีผลงานการสร้างสรรค์ภาษาไทย และสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และชาวต่างประเทศที่ใช้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้มีความชำนาญในการใช้ภาษาไทยและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จำนวน ๑๘ ราย อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิติยวดี บุญซื่อ นางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน นางสาวนิตยา อรุณวงศ์ และนายพิณโญ รุ่งสมัย รวมทั้งชาวต่างชาติ ได้แก่ นายปีเตอร์ จอห์น แวนฮาเร็น เป็นต้น ๓. ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น เป็นผู้ที่มีผลงานการสร้างสรรค์ภาษาไทยถิ่น และสามารถใช้ได้อย่างเหมาะสม จำนวน ๔ ราย อาทิ นายกลิ่น คงเหมือนเพชร และนางสาวพรพิมล เฟื่องฟุ้ง เป็นต้น ๔. ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นบุคคลหรือองค์กรที่มีคุณูปการต่อวงการภาษาไทยหรือภาษาไทยถิ่น จำนวน ๑๓ ราย เป็นบุคคล ๑๑ ราย และองค์กร ๒ แห่ง อาทิ ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล รวมทั้งชาวต่างชาติ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์ ศาสตราจารย์ ดร. ฮานู ลี ส่วนองค์กร ได้แก่ มูลนิธิซิเมนต์ไทย และบริษัท ซี พี ออลล์ จำกัด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้ประพันธ์ นักร้อง เพลงไทยสากลและลูกทุ่งที่ออกเสียงได้ถูกต้องตามอักขระภาษาไทย ซึ่งได้จัดประกวดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ ๙ เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ทั้งนักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ด้านภาษา วรรณกรรม และนักร้องที่ร้องเพลงออกเสียงชัดเจน และถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาไทย โดยมีผู้ได้รับการประกาศยกย่องและมอบรางวัลทั้งประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง และเพลงไทยสากล ได้แก่ ๑. รางวัลเชิดชูเกียรติผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นในอดีต จำนวน ๒ รางวัล อาทิ เพลงน้ำตาแสงไต้ โดยนายอำนวย กสัสนิมิ (ครูเนรมิต) และผู้ประพันธ์ร่วม และเพลงชมทุ่ง โดยนายสมส่วน พรหมสว่าง (เพลิน พรหมแดน) เป็นต้น ๒. รางวัลประเภทการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน ๖ รางวัล อาทิ เพลงวันเพ็ญ โดยนายวิเชียร ตันติพิมลพันธ์ และเพลงขอเช็ดน้ำตาบนหน้าแม่ โดย นายศิวพล เพชรทอง เป็นต้น ๓. รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน ๑๒ รางวัล อาทิ เพลงผู้ปิดทองหลังพระ โดยนายยืนยง โอภากุล เพลงตามรอยพระราชา โดยนายธงไชย แมคอินไตย์ เพลงวันเพ็ญ โดย นายนภัทร อินทร์ใจเอื้อ (กัน เดอะสตาร์) เพลงชีวิตคู่ โดยนางสาวธนพร แวกประยูร (ปาน ธนพร) เพลงคนไม่น่าสงสาร โดย นางสาวธิติมา ประทุมทิพย์ (แอน ธิติมา) เพลงเข็ดรักจากเจ้าพระยา โดยนายสร่างศัลย์ เรืองศรี (หนู มิเตอร์) และเพลงสัญญาบ้านทุ่ง โดย นางสาววริดา อุสุภะ (วิรดา วงศ์เทวัญ) เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนเข้าร่วมการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลแก่ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย รวมถึงรางวัลโครงการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามรายละเอียด โทร. ๐๒-๔๒๒๘๘๕๑-๘ หรือ ๑๗๖๕ สายด่วนวัฒนธรรม