กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--มายด์ พีอาร์
สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) จับมือกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) และสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) เปิดตัวโครงการ “ติดอาวุธการตลาดให้ซอฟต์แวร์ไทย” (Marketing Weapons for Thai Software) ให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ได้พัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สู่ตลาดระดับโลก ตั้งเป้ามีเจ้าของบริษัทเข้าร่วม 40 ราย และพนักงานขาย 240 ราย
นายสมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เปิดเผยว่า “โครงการติดอาวุธการตลาดให้ซอฟต์แวร์ไทย”(Marketing Weapons for Thai Software) เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยส่วนใหญ่มีความรู้ความสามารถในเชิงเทคนิค การบริหารจัดการ มีการผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด และตอบโจทย์ธุรกิจได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาด ซึ่งปัจจุบันถือว่า “การตลาด” เป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ และถึงแม้กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จะยังไม่ได้มีอัตราการแข่งขันที่สูงมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค แต่ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่ได้เล็งเห็นความสำคัญและต้องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในธุรกิจมากขึ้น ทำให้มีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์รายใหม่ๆ เล็งเห็นโอกาสและพร้อมที่จะเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะการแข่งขันภายในประเทศเท่านั้น การเปิดตลาดการค้าแบบเสรีในการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี 2558นี้ จะยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์จากต่างประเทศได้เข้ามามีโอกาสชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยมากขึ้นอีกด้วย
“เราต้องการเสริมสร้างจุดแข็ง ความรู้ ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ซึ่งเป็นอาวุธที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย สามารถพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งระดับภายในประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียน และสู่ระดับโลกได้ และนอกจากเราจะมีอาวุธการตลาดที่ดีแล้ว ทางสมาคมฯ ยังต้องสร้างนักขายมือทองเข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อีกด้วย เพื่อให้เกิดการขายที่ครบวงจร โดยคาดว่า ในปีแรกนี้จะมีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยที่เป็นเจ้าของธุรกิจเข้าร่วมโครงการฯ 40 ราย และมีการส่งพนักงานขายเข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 240 ราย”
นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) กล่าวว่า “ซิป้าในฐานะหน่วยงานหลักในการวางแผนและกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศให้สอดคล้องกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความยินดีให้การสนับสนุน “โครงการติดอาวุธการตลาดให้ซอฟต์แวร์ไทย” ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ด้านการตลาด ให้เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยทั้งในและต่างประเทศ และสอดรับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เป็นยุทธศาสตร์หลักในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย โดยซิป้าคาดว่าการจัดทำโครงการติดอาวุธการตลาดให้ซอฟต์แวร์ไทยในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำความรู้ด้านการตลาดไปประยุกต์ใช้ในการบริหารต่อยอดธุรกิจ เกิดความเชื่อมั่น ว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจของตนได้ ด้วยแผนธุรกิจที่เข้มแข็งและแผนการตลาดที่ดี
นอกจากเป้าหมายในการพัฒนายกระดับขีดความสามารถทางด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยและบุคลากรแล้ว การจัดกิจกรรมนี้ยังเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือใหม่ๆระหว่างผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยด้วยกัน สร้างความแข็งแรงให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นอีกด้วย”
ด้านนายชลิต ลิมปนะเวช อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) กล่าวว่า สมาคมการตลาดฯ เป็นสมาคมวิชาชีพด้านการตลาด ดำเนินการโดยไม่หวังผลกำไร มุ่งส่งเสริมความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการตลาดและความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการตลาด ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่สมาคมการตลาดฯ ได้เข้าร่วมสนับสนุนและผลักดัน “โครงการติดอาวุธการตลาดให้ซอฟต์แวร์ไทย” ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการตลาด รวมทั้งเผยแพร่เทคนิคทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย
“ตลอดจนช่วยหาแนวทางในการเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้ทักษะทางด้านการตลาดเป็นอาวุธให้กับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เพื่อที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ เพิ่มโอกาสด้านการขาย และการขยายตลาดได้อย่างมีแบบแผน พร้อมทั้งได้จัดทำหลักสูตรด้านการตลาดและการขายสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ และนำมาใช้อบรมในรูปแบบการทำเวิร์คช็อป (Workshop) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงประเด็น ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้าใจและพร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจได้ทันที”
สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ดังนี้
- ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยสัญชาติไทยถือครองหุ้นอย่างน้อย 51% (เจ้าของกิจการ, บุคลากรด้านฝ่ายขายและบุคคลากรฝ่ายการตลาด)
- เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป