พินิจเตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงทุนลง 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมดึงเดลต้าจ้างชาวบ้านรับช่วงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวทั่วไป Friday July 23, 2004 10:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--บีโอไอ
พินิจเตรียมเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนลงภาคใต้ และหาแนวทางผลักดันให้สงขลาเป็น RUBBER CITY แถมดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ เดลต้าอิเล็กทรอนิกส์กระจายงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านเลขาธิการบีโอไอมั่นใจแนวโน้มการลงทุนภาคใต้จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกคำขอรับส่งเสริมขยายตัวถึง 200% เงินลงทุน 6 เดือนแรกเกือบเท่า ปีที่แล้วทั้งปี
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่อง “การประสานและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้กับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน” ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 ณ โรงแรม เจ บี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ร่วมกับ นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคใต้ 14 จังหวัด ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน ว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการรับฟังข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ เพื่อที่บีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับการลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มสิทธิประโยชน์เป็นพิเศษ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ในภาคใต้จะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ อาหารแปรรูปและปาล์มน้ำมัน โดยจังหวัดสงขลานั้นมีศักยภาพมากในอุตสาหกรรมยาง ซึ่งมีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาเป็นเมืองยาง (Rubber City) นอกจากนี้ยังมีศักยภาพในการเป็นท่าเรือน้ำลึกที่จะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปยังต่างประเทศโดยตรงไม่ต้องผ่านไปท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอ ก็จะพิจารณาหาแนวทางในการส่งเสริมเพิ่มเติมที่จะช่วยผลักดันให้เกิด RUBBER CITY อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปได้อีก
“ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องการสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงจึงได้ชักชวนให้บริษัทเดลต้าอิเล็กทรอนิกส์มาว่าจ้างชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้รับช่วงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของเดลต้า โดยจะมีการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพและจัดให้มีการฝึกอบรม ก่อนที่จะเริ่มรับช่วงการผลิตได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้” นายพินิจกล่าว
ด้านนายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ในช่วง 6 เดือนนับจากนี้น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะจากสถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้พบว่า มีโครงการขอรับส่งเสริมที่อยู่ในภาคใต้ 50 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 9,253 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 200 เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 3,094 ล้านบาท และมีมูลค่าสูงเกือบเท่ามูลค่าการลงทุนทั้งปีของปี 2546 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10,559 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมการลงทุนในภาคใต้ที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอตั้งแต่ปี 2541 — 2546 นั้น มีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 15,244 ล้านบาท คิดเป็นการลงทุนประมาณ 6% ของการลงทุน ทั้งประเทศ
ทั้งนี้ การประชุมหารือกับผู้ว่าฯ ซีอีโอภาคใต้ถือเป็นการประชุมหารือยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มจังหวัดต่างๆ เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอได้หารือกับผู้ว่าฯ ซีอีโอภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางมาแล้ว และจะได้สรุปผลเพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนที่สอดคล้องกันในแต่ละภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ ต่อไป--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ