กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
องค์การอนามัยโลกดันหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกเพื่อการอบรมและวิจัยด้านระบาดวิทยา ปั้นบุคลากรและผลงานวิจัยเกี่ยวกับระบาดวิทยา ผ่านการศึกษาการกระจายและสาเหตุของการเกิดโรคในประชากร หวังควบคุมป้องกันและรักษาโรคให้แก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยานานาชาติและผู้ก่อตั้งหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ตามที่หน่วยระบาดวิทยา ได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ในการสร้างความเข้มแข็งด้านวิจัยและผลิตนักวิจัยให้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมาตั้งแต่ปี 2530 โดยที่ผ่านมา ได้ผลิตนักวิจัยกว่า 130 คน จาก 15 ชาติ ให้กลับไปเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ จนได้รับการยอมรับจากนานาชาตินั้น ล่าสุด องค์การอนามัยโลกได้แต่งตั้งหน่วยระบาดวิทยา ม.อ. เป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกเพื่อการอบรมและวิจัยด้านระบาดวิทยา (WHO Collaboration Center for Research and Training on Epidemiology) อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายในการศึกษาเกี่ยวกับการกระจายและสาเหตุของการเกิดโรคหรือภาวะใดภาวะหนึ่งในประชากร เพื่อควบคุม ป้องกันและรักษาโรค เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพดีของประชาชน
ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว หน่วยระบาดวิทยา ม.อ.มีพันธกิจ 3 ประการ ได้แก่ 1.อบรมพัฒนาวิจัยและจัดการข้อมูลด้านระบาดวิทยา 2. สนับสนุนการวิจัยด้านระบาดวิทยา และ 3.สร้างงานวิจัยด้านระบาดวิทยาสหสถาบันภายในและระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างบุคลากรทางด้านระบาดวิทยาเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
“เราต้องการนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สร้างความหลากหลายในงานวิจัย ทั้งด้านสาธารณสุข สังคม เทคโนโลยี โดยมุ่งหวังให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคมต่างๆ ให้ดีขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.นพ.วีระศักดิ์ กล่าว
สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.วีระศักดิ์ ประธานหลักสูตรระบาดวิทยานานาชาติ ผู้ก่อตั้งหน่วยระบาดวิทยา ม.อ. และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ (วพส.) ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2552 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จากผลงานวิจัยทางด้านวิชาการที่โดดเด่นต่อเนื่องตลอด 30 ปี ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้ในระยะยาว
ด้าน รศ.ดร.พญ.ทิพวรรณ เลียบสื่อตระกูล หัวหน้าหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า หน่วยระบาดวิทยามีการทำงานเป็นระบบระหว่างเครือข่ายกับเครือข่าย ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยผู้ที่มีเรียนระบาดวิทยามีทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือนักวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่สถาบันเป็นผู้ส่งหรือสนับสนุนให้มาเรียน เนื่องจากสถาบันต้องการสร้างคนและพัฒนาองค์กร ดังนั้น งานของหน่วยระบาดวิทยา จึงไม่ได้เน้นสร้างคนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเน้นสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรด้วย เพราะผู้เรียนมีความต้องการเรียนรู้ในหลากหลายสาขา เช่น แม่และเด็กอนามัยเจริญพันธุ์ มะเร็ง สารเสพติด ยาสูบ แอลกอฮอล์ โรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อหรือสิ่งแวดล้อม โดยจะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เป็นผู้ดูแล
“เรามีหลักสูตรทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก โดยปริญญาโทหลักสูตร 2 ปี ส่วนปริญญาเอกหลักสูตร 3-4 ปี ซึ่งการเรียนจะเริ่มจากการเรียนในห้องเรียน สอบโครงร่างวิจัย แล้วไปเก็บข้อมูลที่ประเทศของนักศึกษาเองเป็นระยะเวลา 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นปริญญาโทหรือเอก จากนั้นจะนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ และเขียนบทความตีพิมพ์ ตลอดจนสอบวิทยานิพนธ์ พร้อมเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนด้านองค์ความรู้กับเพื่อนต่างชาติ เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องและตีพิมพ์เป็นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนได้” รศ.ดร.พญ.ทิพวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ รศ.ดร.พญ.ทิพวรรณ หัวหน้าหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ เป็นผู้ได้รับทุนวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สาขาระบาดวิทยานานาชาติ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. และได้ทุนสนับสนุนจากโครงการเร่งรัดสู่ความเป็นเลิศด้านระบาดวิทยาจาก ม.อ. ก่อนจะเข้าอบรมระยะสั้นด้านการประเมินความคุ้มทุนและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ณ มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ ในปี 2553 โดยในปีนี้ รศ.ดร.พญ.ทิพวรรณ เป็นนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์สูงสุด 20 อันดับแรกของ ม.อ. และได้รับคัดเลือกเป็นดุษฎีบัณฑิตโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกดีเด่นประจำปี 2554 โดยงานวิจัยขณะศึกษาปริญญาเอกระบาดวิทยา ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จะเน้นองค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่งานวิจัยเพื่อการมีสุขภาพที่ดีของมารดาและทารกแรกกำเนิดอย่างต่อเนื่อง