กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ตลท.
ปัจจุบันกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นกลไกหลักสำคัญกลไกหนึ่งในการสนับสนุนการออมระยะยาวของกำลังแรงงานไทยยังมีปัญหาสำคัญ 2 ประการที่ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนและส่งเสริมการออมระยะยาวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนัก คือ ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไม่สามารถสร้างความครอบคลุมแรงงานในระบบอย่างทั่วถึง โดยในวันนี้กำลังแรงงานที่อยู่ภายใต้ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเพียง 2.5 ล้านคน จากกำลังแรงงานภาคเอกชนทั้งสิ้นประมาณ 13 ล้านคน นอกจากนี้กองทุนทั้ง 2 กองทุนยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพหลังเกษียณอายุ อันเนื่องมาจากแนวนโยบายการลงทุนของกองทุนส่วนใหญ่ที่มุ่งเน้นรักษาเงินต้นและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากกว่าที่จะมีรูปแบบการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงขึ้น ผลการศึกษาพบว่าหากพิจารณาถึงความเพียงพอของเงินก้อนที่ได้รับภายหลังจากการเกษียณอายุเพียงแหล่งเดียวโดยไม่นับรวมผลตอบแทนหรือรายได้จากแหล่งอื่นแล้ว เช่น เงินบำนาญ หรือดอกเบี้ยเงินฝาก จะพบว่าผู้เกษียณอายุบางกลุ่มอาจไม่สามารถพึ่งพาเงินก้อนที่ได้รับจากการเกษียณอายุเพียงอย่างเดียวเพื่อดำรงชีพได้อย่างเพียงพอ
หากพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ระบบการออมระยะยาวของไทยมีลักษณะเช่นในปัจจุบัน จะพบว่าพฤติกรรมของผู้ร่วมตลาดที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ 1) คณะกรรมการกองทุนที่กำหนดนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นรักษาเงินต้นและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากกว่ารูปแบบการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงขึ้น ตลอดจนการไม่ได้รับการผลักดันและมอบหมายงานให้เป็นงานหลักเพื่อให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายกองทุนอย่างแท้จริง 2) สมาชิกกองทุนหรือเจ้าของเงินที่ขาดความรู้ความเข้าใจด้านการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงขาดการวางแผนด้านการเงินเพื่อวัยเกษียณอายุทำให้ภาพของการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านรายได้ในระยะยาวขาดความชัดเจน 3) ธุรกิจจัดการกองทุนหรือบริษัทจัดการกองทุนที่มีการแข่งขันสูงในด้านค่าธรรมเนียม ไม่สนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานเพื่อหาผลตอบแทนเชิงรุก และ 4) การขาดหน่วยงานที่จะรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องการพัฒนาความรู้ด้านการออมระยะยาว และจัดลำดับการให้ความรู้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้การเลือกแผนการลงทุนตอบโจทย์ความต้องการด้านรายได้ได้อย่างแท้จริง
ต้องทำอย่างไรให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถตอบโจทย์ด้านความครอบคลุมและความเพียงพอในด้านรายได้หลังเกษียณอายุ?
1. เร่งขยายความครอบคลุมระบบการออมระยะยาวให้ทั่วถึง โดยเฉพาะนายจ้างภาคเอกชนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผลักดันให้กองทุนการออมแห่งชาติสำหรับแรงงานนอกระบบเปิดดำเนินการรับสมาชิกและบริหารกองทุนโดยเร็ว และในระยะยาวจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้การออมภาคบังคับ (Mandatory provident fund) เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
2. เร่งสร้างความเพียงพอด้านรายได้ โดยจัดให้มีมาตรการส่งเสริมให้องค์กรขยายระยะเวลาเกษียณอายุให้นานขึ้น ปรับเพิ่มอัตราเงินสะสมและเงินสมทบทั้งด้านนายจ้างและลูกจ้างให้ ผลักดันนโยบายการลงทุนแบบที่ให้สมาชิกสามารถเลือกแผนการลงทุนด้วยตนเอง (employee’s choice) ให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงเพื่อปลดล็อกปัญหานโยบายการจัดสรรการลงทุน (asset allocation) ที่ไม่ตรงต่อความต้องการ เพื่อให้การดำเนินการผลักดันประสบความสำเร็จ รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดแนวทางส่งเสริมและการให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมมือด้วยความเต็มใจ นอกจากนี้ระบบสนับสนุนต่างๆ ต้องได้รับการผลักดันให้เข้ามารับผิดชอบอย่างแท้จริง ตั้งแต่คณะกรรมการกองทุนที่ควรได้รับมอบหมายในลักษณะงานประจำและจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาความรู้ขึ้นเพื่อดูแลโดยตรง
(งานวิจัยนี้จัดทำโดยคุณสุวิสาส์ เผ่าเหลืองทอง และดร.ปติ พุทธวิบูลย์ สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน และเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่นำเสนอในงาน Capital Market Research Forum ครั้งที่ 8/2555 ท่านสามารถ download บทความนี้และงานวิจัยอื่นๆ ของสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ได้ที่ www.set.or.th/setresearch)