กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
มหาเถรสมาคม, สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม - ๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ นี้ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เพื่อเผยแผ่ศาสนา และเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา สวดมนต์ ร่วมพิธีหล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน และ งดเว้นอบายมุขต่างๆ มุ่งทำความดี ในวันอาสาฬหบูชาและช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในมหามงคลวโรกาส ๘๕ พรรษา
นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และในปีนี้อยู่ในช่วงวาระพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า รัฐบาลจึงเห็นชอบตามมติของมหาเถรสมาคมที่จะให้ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นปีแห่งการ ฉลองพุทธชยันตี โดยรัฐบาลได้สนับสนุนและส่งเสริมให้จัดกิจกรรมเป็นพิเศษ ซึ่งในปีนี้ได้จัดไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่ ๒ ครั้ง คือ วันมาฆบูชา และ วันวิสาขบูชา ล่าสุดในปีนี้คือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งรัฐบาลขอเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ อาทิ การทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ ร่วมพิธีหล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน เวียนเทียน และงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ ซึ่งปีนี้นับเป็นปีแห่งการปฏิบัติบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในมหามงคลวโรกาส ๘๕ พรรษา
ดร.อำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริม ให้พุทธศาสนิกชนได้ยึดหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามหลักเนื้อหาที่ว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจ ให้บริสุทธิ์” ซึ่งวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา เป็นวันพระใหญ่ที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างมาก กล่าวคือ วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ ๒ เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานาม และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา
จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ส่วนวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา ๓ เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น สำหรับพุทธศาสนิกชน วันเข้าพรรษาเป็นวันสำรวจพฤติกรรมของตนที่ผ่านมา และตั้งจิตอธิษฐานที่จะลด ละ เลิกสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ เช่น เลิกเหล้า บุหรี่ การพูดจาหยาบคาย ฯลฯ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ๓ เดือน โดยใช้วันนี้เป็นวันเริ่มต้นในการกระทำดี ซึ่งก็นับว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอสำหรับความตั้งใจทำสิ่งที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้น อันมีอานิสงส์ให้ตนเอง ครอบครัว และสังคมเกิดความสุข สงบ ร่มเย็น
พระพรหมสุธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในพุทธวาระวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม — ๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป อาทิ พิธีหล่อเทียนพรรษาอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีพระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญชัยมงคลคาถาเพื่อเป็นสิริมงคล ณ ลานพระวิหารพระอัฏฐารสฯ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจ อาทิ การประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ, การประกวดร้องเพลงส่งเสริมศีลธรรม, การประกวดตอบปัญหาธรรมะ, การประกวดละครธรรมะ, บรรยายธรรม และวาดภาพ รวมถึง การเจริญจิตตภาวนา, นั่งสมาธิ, ปฏิบัติธรรม, สวดมนต์ไหว้พระภายในพระอุโบสถ, สักการะธรรมเจดีย์ และสักการะพระบรมสารีริกธาตุ บนบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เพื่อความเป็นสิริมงคล อันจะเป็นการปลูกฝังเยาวชนและพุทธศาสนิกชน ให้มีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมที่ถูกต้องและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
โดยใน วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชา วัดสระเกศฯ จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน ๘๙ รูป เดินแถวลงจากบรมบรรพตภูเขาทองรับอาหารบิณฑบาตจากพุทธศาสนิกชน และมีการแสดงธรรมเทศนาโดยท่านเจ้าคุณพระราชปัญญาโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าประคุณสมเด็จฯ เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ พิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน พิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และพิธีเวียนเทียนรอบพระบรมบรรพตภูเขาทอง
วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา นี้ถือเป็นวันแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พุทธศาสนิกชนจึงควรปฏิบัติบูชาด้วยการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน ปฏิบัติตนให้อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักธรรมสายกลาง และนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมสืบไป