กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เนคเทค จับมือมูลนิธิสยามกัมมาจล และภาคีเครือข่าย จัดโครงการ “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 15 (The Fifteenth National Software Contest : NSC 2013)” เปิดโอกาสเด็กไทยพัฒนาความรู้สู่การเป็นนักวิจัยระดับมืออาชีพ หนุนเด็กไทย “ต่อยอด” พัฒนาผลงานให้ใช้ได้จริงใน “โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่” พร้อมโอกาสก้าวสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระดับนานาชาติ
นายเจษฎา จงสุขวรากุล หัวหน้างานพัฒนาวิชาชีพและเยาวชนไอที ฝ่ายบริหารและสนับสนุนงานวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)เปิดเผยว่าปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก การผลิตบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศเป็นสิ่งจำเป็น และต้องเริ่มต้นปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดโครงการ “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 (The Fifteenth National Software Contest : NSC 2013)” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสพัฒนาซอฟต์แวร์และนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน และร่วมพัฒนาศักยภาพด้านไอซีทีให้สามารถนำไปสู่การเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพต่อไป
โครงการ “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 หรือ NSC 2013” จัดการแข่งขันทั้งสิ้น 12 ประเภท แบ่งเป็น ระดับนักเรียน และระดับนิสิตนักศึกษา ทั้งนี้ในระดับนักเรียนจัดการแข่งขันใน 3 หัวข้อ ได้แก่ โปรแกรมเพื่อความบันเทิง โปรแกรมเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ และโปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งาน ในส่วนของระดับนิสิตนักศึกษา แบ่งออกเป็น 5 หัวข้อโดยเพิ่มเติมจากระดับนักเรียน 2 หัวข้อ คือ โปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการ ผู้สูงอายุ และโปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับลินุกซ์
โปรแกรมเพื่อความบันเทิง ผู้ส่งเข้าประกวดจะต้องพัฒนาโปรแกรมที่สร้างความบันเทิง ด้วยภาพ เสียง สัมผัส การเคลื่อนที่ที่กระตุ้นการใช้ไหวพริบของผู้เล่นหรือส่งเสริมวัฒนธรรม รวมถึงการนำเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ดีของไทยมาใช้ในเกม ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของไทย โปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กำหนดให้ทำในรูปแบบโครงงานมัลติมีเดียที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะในการคิด และแก้ปัญหาให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกกับเนื้อหาในบทเรียน ในส่วนของโปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการ จัดทำโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการประเภทต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ อาทิ โปรแกรมช่วยการเขียนหรือการอ่านของเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ โปรแกรมช่วยขยายหน้าจอของคนสายตาเลือนลาง นอกจากหัวข้อดังกล่าวข้างต้นยังมีโปรแกรมเพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการจัดทำโปรแกรมจำลองสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อสังคม เช่น ปริมาณน้ำในธรรมชาติ การจัดการพื้นที่ป่าไม้ รวมไปถึงโปรแกรมเพื่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับลินุกซ์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน จึงอยากให้เยาวชนมาพัฒนางานในระบบดังกล่าวให้มากขึ้น
“เวทีนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการเขียนโปรแกรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในอนาคตแล้ว ยังช่วยสร้างและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมามีซอฟแวร์ต้นแบบหลายชิ้นถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง”
ด้านนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการจัดการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฯ ที่ผ่านมา มูลนิธิสยามกัมมาจล พบว่า มีผลงานของเยาวชนที่ส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลในแต่ละปี หลายๆ โครงการเป็นนวัตกรรม ที่หากสามารถสพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง จะเกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย และสังคมอย่างมาก อาทิ การพัฒนาโปรแกรมไปสู่เครื่องช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ การพัฒนาโปรแกรมไปสู่การพัฒนาทางการแพทย์ กลุ่มผู้ต้องการสร้างเสริมสุขภาพ mobile apps รวมไปถึงการพัฒนาโปรแกรมเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ เป็นต้น
ดังนั้นมูลนิธิฯ จึงร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จัดทำโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ขึ้น เพื่อให้การสนับสนุน “ทุนต่อยอด” การพัฒนาผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในระดับชุมชน สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งให้การสนับสนุนเจ้าของผลงานเข้าร่วมแข่งขันในเวทีนานาชาติอีกด้วย โดยเยาวชนที่ส่งผลงานเข้าแข่งขันฯ และมีความสนใจ สามารถสมัครขอรับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงานเพิ่มเติมจากมูลนิธิฯ ได้ โดยมูลนิธิฯ หวังว่า การสนับสนุนครั้งนี้คงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านไอทีของเยาวชนไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้
สำหรับเยาวชนผู้สนใจสามารถส่งใบสมัครเพื่อขอรับทุนพัฒนาผลงาน ทีมละไม่เกิน 3 คน พร้อมส่งข้อเสนอผลงานเพื่อขอรับทุนสนับสนุนเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานภูมิภาค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.nectec.or.th/nscหรือ www.nscthailand.netโทรศัพท์ 0 - 2564 - 6900 ต่อ 2345 , 2326 — 28 โทรสาร 0 — 2564 — 6768 หรือที่ Email : fics@nnet.nectec.or.th