กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--กรมป่าไม้
กรมป่าไม้ร่วมกับคณะผู้แทนจากสหภาพยุโรปจัดสัมนาสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในหัวข้อ กฎระเบียบสหภาพยุโรปว่าด้วยไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ —ผลกระทบและยุทธศาสตร์ การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไทยไปสหภาพยุโรป (EU Timber Regulation-Impact and Strategies for Thai Timber Export to the EU) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา
นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การสัมนาในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปเรื่องการค้าไม้ที่ไม่ถูกกฎหมาย การตัดไม้ทำลายป่าและแผนปฎิบัติการ Forest Law Enforcement, Governance and trade (FLEGT) รัฐสมาชิกสหภาพยุโรปแต่ละประเทศจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทางกฎหมายเป็นผู้ประสานงานการนำกฎข้อบังคับปฎิบัติ รัฐสมาชิกยังเป็นผู้กำหนดประเภทและขอบเขตของบทลงโทษที่จะใช้ในกรณีที่เกิดการไม่ปฎิบัติตามกฎข้อบังคับ ภายใต้กฎข้อบังคับจะให้มีการจัดหาองค์กรผู้มีหน้าที่ตรวจสอบและติดตาม ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับ โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป องค์กรอิสระเหล่านี้จะช่วยผู้ประกอบการของสหภาพยุโรปให้ดำเนินการเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบและประเมินค่าของบริษัทที่ทำการค้า ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาระบบขึ้นมาเอง หรือใช้ระบบที่พัฒนาโดยองค์กรผู้มีหน้าที่ตรวจสอบติดตามและประเมินค่าของบริษัท
กฎระเบียบของสหภาพยุโรปหรืออียูเกี่ยวกับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (EU Timber Regulation 995/2010) ซึ่งห้ามจำหน่ายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายในตลาดอียู จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่มีนาคม 2556 เป็นต้นไป ทำให้อุตสาหกรรมการส่งออกไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ชิ้นส่วนที่ทำจากไม้ต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของไทยที่ส่งออกไปยังอียู จะได้รับผลกระทบและต้องเตรียมปรับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับกฎระเบียบดังกล่าวเพื่อรักษาตลาดอียูไว้ ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวมีข้อยกเว้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากป่าปลูกเพื่อการพาณิชย์ เช่น ไม้ยางพาราผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเศษไม้อัด (Wood in chips or particles) ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขี้เลื่อยและเศษไม้ (Sawdust and wood waste) รวมถึงไม้ MDF (medium-density fireboard) ไม้ particle board ไม้ลามิเนต (laminated wood) และกระดาษและเยื้อกระดาษด้วย
นายประยุทธ กล่าวต่อว่า การเตรียมปรับตัวและหามาตรการทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับไทย เพื่อปฎิบัติตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปหรืออียูเกี่ยวกับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (EU Timber Regulation 995/2010) ซึ่งห้ามการจำหน่ายไม้ผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายในตลาดอียู ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่จะเจรจาข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreements-VPAs) ในกรอบแผนปฎิบัติการการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการ Forest Law Enforcement, Governance and trade (FLEGT) กับ อียู เพื่อให้ใบอนุญาติ FLEGT หรือทางเลือกอื่นๆ อาทิ การใช้ระบบของไทยเองที่สามารถรับรองความถูกต้องตามกฎหมายของไม้หรือการจัดระบบ due diligence โดยภาคเอกชน ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนต้องระดมสมองเพื่อเดินหน้ายุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจไทยในอียู อย่างไรก็ดีหากไทยไม่มี VPAs หลังมีนาคม 2556 ไม้และและผลิตภัณฑ์ไม้จากไทยก็ยังสามารถเข้าไปยังตลาดอียูได้ แต่จะต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบของ EU Timber Regulation นั่นหมายถึงไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จากไทยอาจถูกเรียกตรวจสอบจากอียู หากพบว่าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการจากยุโรปจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการจากยุโรปจะต้องมีเอกสารรับรองให้เจ้าหน้าที่อียูเห็นว่าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ตนขายนั้นต้องถูกต้องตามกฎหมาย
ในระยะยาว หากไทยยังไม่มีมาตรการทางออกเพื่อปฎิตามกฎระเบียบดังกล่าว ก็อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการจากยุโรปมีความลังเลหรือไม่ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากประเทศไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาขายในอียูอาจถูกตรวจสอบ และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายหากพบว่าเป็นไม้ผิดกฎหมาย และอาจทำให้ผู้ประกอบการจากยุโรปไปเลือกซื้อสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่สามารถออกเอกสารรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือจากประเทศที่มีใบอนุญาต FLEGT จากอียูแทน ซึ่งตอนนี้ทางกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือเกี่ยวกับกฎระเบียบดังกล่าวต่อไป นายประยุทธ กล่าว