กรีนพีซเปิดตัวโดมกู้วิกฤตโลกร้อน ผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียน

ข่าวทั่วไป Monday August 6, 2012 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 55 กรีนพีซได้เปิดตัวโดมกู้วิกฤตโลกร้อน (Climate Rescue Station) เพื่อทำการณรงค์ยาวต่อเนื่องสามอาทิตย์เพื่อระดมพลังภาคประชาชนผลักดัน ให้รัฐบาลออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและ การปกป้องสิ่งแวดล้อม โดมกู้วิกฤตโลกร้อนของกรีนพีซตั้งอยู่ที่ลานหน้าสนามกีฬาราชมังคลา หัวหมาก และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ตัวโดมเป็นทรงลูกโลกจำลอง ความสูงประมาณตึกสี่ชั้น มีระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลสุริยะและกังหันลมขนาดเล็ก กรีนพีซนำโดมกู้วิกฤตโลกร้อนไปยังหลายประเทศทั่วโลกเพื่อสื่อสารและแสดงให้เห็นว่า ทุกคนสามารถลงมือทำเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ หากรัฐบาลมีเจตจำนงทางเมืองในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่ นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า “ประเทศไทยต้องมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียน ที่สร้างหลักประกันว่าคนไทยจะมีพลังงานที่สะอาด มีราคาเป็นธรรม และใช้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปชั่วลูกหลาน ในทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าเราได้เห็นการขยายตัวของการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างชาญฉลาดในประเทศไทย แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีกรอบทางกฎหมายที่เข้มแข็ง และเป็นกฏหมายที่ผ่านความเห็นชอบผ่านรัฐสภา เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค (๑) กรีนพีซติดตั้งโดมกู้วิกฤตโลกร้อนเพื่อให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาล ตระหนักว่า เราร่วมมือกันเพื่อให้สร้างอนาคตพลังงานหมุนเวียน เราเรียกร้องให้ทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน โดยเข้าร่วมกิจกรรมที่โดมกู้วิกฤตโลกร้อน หรือลงชื่อออนไลน์เพื่อผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่ www.greenpeace.or.th/GoRenewable” กรีนพีซเริ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทั้งทางออนไลน์และการจัดกิจก รรมตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อระดมพลังประชาชนอย่างน้อย ๕๕,๕๕๕ คน เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมาย พลังงานหมุนเวียนฉบับแรกของไทย กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียน ซึ่งต้องมีหลักการขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ - ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนเป็นอันดับแรก ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงระบบสายส่งก่อนพลังงานอื่นๆ - ทุกคน ทุกบ้าน ทุกหย่อมหญ้า สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้และขายเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียน - การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีความโปร่งใสและราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความเป็นธรรม - จัดตั้งกองทุนและพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัด และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากการลงทุนและการดำเนินงานระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืน - ผู้ใช้ไฟฟ้ามีสิทธิเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนแทนไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพื่อสร้างจิตสาธารณะร่วมกัน ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ตลอดสามสัปดาห์ของการจัดงาน นอกจากจะมีการแสดงนิทรรศการ เสวนา และการแสดงบนเวทีที่หลากหลายบนโดมกู้วิกฤตโลกร้อน กรีนพีซยังได้จัดกิจกรรม ”ดนตรีข้างถนน” โดยใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะจัดขึ้นตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยจะนำไปสู่งานคอนเสิร์ตใหญ่ในคืนวันวันที่ ๑๘ สิงหาคม ที่โดมกู้วิกฤตโลกร้อนซึ่งมีนักดนตรีชื่อดังหลายกลุ่มร่วมอาสาเล่นดนตรีให้กับโครงการนี้ของกรีนพีซ หมายเหตุ : (๑) ข้อมูลของเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ประเทศไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิต ไฟฟ้าอยู่ที่ ๘,๒๗๒ เมกะวัตต์ โดยร้อยละ ๑๑ หรือ ๙๓๔.๗๓ เมกะวัตต์ ป้อนเข้าระบบสายส่งของ การฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนร้อยละ ๒๕ ภายในปี ๒๕๖๔ กรีนพีซเชื่อว่า เมื่อเรามีกฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่เข้มแข็ง ประเทศไทยจะขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่าเป้าหมายของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น ศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ ๒,๑๐๐ เมกะวัตต์ และจากพลังงานลมอยู่ที่ ๑,๒๐๐ เมกะวัตต์ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Renewable-Energy-Law/ กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม สุขทวี สุวรรณชัยรย หัวหน้าฝ่ายสื่อมวลชนประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีเมล์ ssuwanna@greenpeace.org โทร 083 841 2798 www.greenpeace.or.th www.greenpeace.or.th/GoRenewable www.facebook.com/greenpeaceseath

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ