เรื่องของจันดาราและคนรอบข้าง

ข่าวบันเทิง Monday August 6, 2012 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สหมงคลฟิล์ม “จันดารา…นั่นแหละชื่อผม ขอแนะนำตัวเองในฐานะที่เป็นเจ้าของเรื่องพิกลนี้ และเราคงจะได้มักคุ้นกันต่อไปอีกพักใหญ่ ถ้าผมไม่มีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน...คือไม่เป็นบ้าก็ตาย...ชีวิตผมมันมากด้วยมุมหักเหตั้งแต่เกิด พูดก็พูดเถอะ ผมเกิดเมื่อแม่ผมตาย ฟังดูบ้าดีไหมล่ะ” จันดารา (มาริโอ้ เมาเร่อ) - ชายผู้ละเอียดอ่อน ละเมียดละไม และลึกซึ้งเกินกว่ามนุษย์ปุถุชนจะเข้าใจได้จนบางคราดูเหมือนจะอ่อนไหวและเปราะบางเมื่อเทียบกับโลกแห่งวัตถุอันหยาบกระด้าง แม้ว่าชะตากรรมที่เขาจำต้องเผชิญจะโหดร้ายทารุณเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานปวดร้าวใจสักปานใดก็ตาม เขาสามารถแปรเปลี่ยนให้มันกลายเป็น “ความงาม” อันบริสุทธิ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ทุกภาพชีวิตที่เขาเห็น ทุกสรรพเสียงสำเนียงที่เขาได้ยิน ทุกสรรพสัมผัสด้วยเรือนกาย หรือเรือนใจล้วนถูกกลั่นกรองและปรุงแต่งออกมาจากสุนทรีย์แห่งจินตภาพที่เลือกสรรมาแล้วอย่างสมบูรณ์ทั้งสิ้น ดังนั้นทุกการกระทำของเขาจึงแฝงไว้ด้วย “ความหมาย” อันยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าผลของมันจะปรากฏออกมาในรูปของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม “ครั้งแรกที่โอ้ได้รู้ว่าหม่อมทำเรื่องนี้ โอ้ก็เชื่อมั่นและรู้ว่าหม่อมมีแง่มุมต่างๆ ที่ต้องการจะนำเสนออยู่แล้ว มันเป็นบทที่ท้าทายฝีมือการแสดงของเรา คือไม่ต้องคิดเยอะเลยครับ หม่อมเสนอมาโอ้ก็รับเล่นเลย จากเรื่องที่แล้วเนี่ยมันคนละด้านกันเลย เรื่อง ‘จันดารา’ นี้จะเป็นมนุษย์จริงๆ มีทั้งด้านดีและร้าย มีหลากหลายอารมณ์ที่ต้องแสดงและเป็นตัวดำเนินเรื่องไปตลอด ต้องเล่นตั้งแต่หนุ่มยันแก่เลย ตัวละครของโอ้จะต้องเจออะไรที่แตกต่างไปตามช่วงอายุ มุมมองความคิด และเหตุผลของการกระทำก็จะเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ ก็ไม่เคยคิดว่าชีวิตเราอายุเท่านี้จะได้เล่นบทบาทที่มันท้าทายความสามารถขนาดนี้ และยากมากที่จะได้รับโอกาสดีๆ อย่างนี้ ทำให้โอ้ต้องหมั่นฝึกฝนและเข้าคลาสกับหม่อมอย่างหนักมาก นี่เป็นบทที่ดีมากจริงๆ ครับ ก็อย่างที่ทุกคนก็รู้จักจันดารา มันต้องมีเรื่องของอีโรติก ต้องมีเรื่องของเลิฟซีน แต่ว่าโอ้อ่านบทเรื่องนี้หลายรอบและก็ได้เล่นเอง โอ้รู้สึกว่าทุกซีนมันมีเหตุผลของมัน ถ้าไม่มีเลิฟซีนอันนั้นเรื่องก็จะไม่ต่อ จะไม่ทำให้ตัวละครต้องเจอเรื่องราวต่อๆ มา จริงๆ มันก็เหมือนกับชีวิตคนทุกคนที่ต้องมี แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นแค่เลิฟซีนหรือให้คนมาเมคเลิฟกันเฉยๆ ผมว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น อาจเป็นความใคร่ตัณหาราคะ เป็นความรักระหว่างแม่กับลูก รักระหว่างสามีภรรยา รักในเชิงชู้สาว ซึ่งมันทำให้เรื่องราวดำเนินต่อไปแล้วผมรู้สึกว่าแต่ละซีนมันขาดไม่ได้ มันทำให้สนุกและมีรสชาติที่พอพูดถึงจันดาราแล้วต้องนึกถึงครับ” “นี่คุณจัน รู้มั้ย พอเนื้อสาวโดนปากโดนลิ้นโดนจมูกเราเข้านะ โดยเฉพาะที่ยอดปทุมถัน… คุณจันจะได้ยินเสียงครางเบาๆ ผสมกับเสียงลมหายใจหนักๆ ถี่ๆ มันครางเป็นชื่อเราด้วยนะ เพราะชิบหายเลย...นี่จะบอกให้เอาบุญนะคุณจัน ลงได้ลองขึ้นครูแค่ครั้งเดียว คุณจันจะลืมนางทั้งห้าไปเลย...เชื่อไอ้เคนเถอะ” เคน กระทิงทอง (ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต) - ชายผู้ดูเหมือนหยาบกระด้างแต่ไม่หยาบคาย และแข็งแกร่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งชายชาตรีผู้มาดมั่นในเพศผู้ กล้าและท้าทายชีวิตแต่ไม่บ้าบิ่น คือคุณลักษณะภายนอกของเขา แต่ลึกลงไปในจิตใจของเขานั้น “เคน กระทิงทอง” เป็นคนซื่อ ตรงไปตรงมา และจริงใจอย่างหาใครมาเปรียบมิได้ ฉะนั้นคนประเภทนี้จึงเคารพความถูกต้อง และพร้อมเสมอที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมสมกับคำว่า “สุภาพบุรุษ” โดยแท้ “ความรู้สึกแรกที่รู้ว่าได้เล่นก็ตื่นเต้นก่อนเลย หม่อมจะให้เราเล่นจริงเหรอ เพราะเป็นบทนำเต็มตัวเรื่องแรก ในหนังจะเดินเรื่องคู่กะโอ้ตลอดเรื่องตั้งแต่ฉากแรกยันฉากสุดท้ายเลย บทมันเยอะมาก ความรู้สึกต่อมาคือ เราจะทำได้มั้ย เพราะเรื่องที่แล้วใน ‘อุโมงค์ผาเมือง’ เล่นแค่ 3-4 ฉากแค่นั้นเราก็ตื่นเต้นกลัวทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่นี่มาทั้งเรื่องเลย ก็เครียดกลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่เมื่อได้ซ้อมการแสดงกับหม่อมก่อนการถ่ายทำจริงประมาณ 5-6 เดือน ก็ทำให้บทที่ยากมันง่ายขึ้น พูดได้เลยว่าแทบไม่มีปัญหาการแสดงในช่วงถ่ายทำเลยครับ เพราะปัญหาในการแสดงการจำบทมันเป็นปัญหาในตอนซ้อมและก็ได้คลี่คลายไปหมดแล้ว แต่ถ้าถามว่ายากมั้ย ยากมาก ยากที่สุดในชีวิตที่เคยแสดงมาเพราะต้องเล่นตั้งแต่หนุ่มยันแก่ดำเนินเรื่องผ่าน 4 ยุคสมัย (ร.6-ร.9) อย่างน่าสนใจมากๆ ครับ ทีมงานนักแสดงทุกคนก็ตั้งใจกันเกินร้อยมาก จันดาราเวอร์ชั่นของหม่อมน้อยนี้ ผมว่าเป็นหนังที่ให้แง่คิดในหลายๆ แง่มุมเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ให้เป็นกระจกส่องว่า มนุษย์อย่างเราเนี่ยทำสิ่งที่ไม่ดีอย่างในหนังหรือเปล่า ถ้าทำก็ควรจะหยุดและก็เลิกทำ การแก้แค้นหรือการจองเวรจองกรรม การเอารัดเอาเปรียบกัน การเห็นแก่ตัวเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่แล้ว เมื่อเราไปจองเวรจองกรรมกับคนอื่น มันก็ทำให้ทั้งตัวเราและตัวเขานั้นไม่มีความสุขหรอก จองเวรกันไปมามันก็ไม่จบไม่สิ้น เราควรที่จะเริ่มต้นชีวิตและก็ปล่อยวางในบางสิ่งที่ไม่จำเป็นไป และก็อยู่กับปัจจุบันให้มีความสุขและอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก รวมถึงอยู่กับคนที่เรารัก คนที่เขารักและแคร์เรา ผมว่าแค่นี้ชีวิตเราก็มีความสุขได้แล้ว บางทีคนที่คิดว่าเงินสำคัญที่สุดหรืออำนาจสำคัญที่สุด สุดท้ายแล้วเนี่ยเขาก็ต้องอยู่แบบโดดเดี่ยวและก็รอวันตาย...” “กู...หลวงวิสนันท์เดชา ขอประกาศต่อฟ้าดินว่ากูจะขอจองเวรจองกรรมกับไอ้เด็กจัญไรนั่นทุกชาติไป...จำเอาไว้ กูจะไม่มีวันยกโทษให้มึง...ไอ้จัญไร” หลวงวิสนันท์เดชา (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) - บุรุษผู้ยึดมั่นในศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิอันสูงส่ง จารีตประเพณีอันเป็นคุณสมบัติของบุรุษสยามจึงปรากฏอยู่อย่างเด่นชัดในทุกลมหายใจของเขา ไม่ว่าจะเป็นความลุ่มหลงในอำนาจวาสนาและกามคุณอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นการถูกหมิ่นเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีจึงเป็นสิ่งที่เขายอมไม่ได้ง่ายๆ และพร้อมเสมอที่จะต่อสู้เพื่อกอบกู้ให้ได้มา ไม่ว่าจะด้วยวิถีทางใดก็ตาม และเป็นที่น่าเสียดายที่เขาเลือกวิถีทางอันรุนแรงและป่าเถื่อนที่ส่งผลให้เขาต้องเผชิญกับความหายนะอันยิ่งใหญ่ “เรื่องนี้ยากมากกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา เพราะว่าตัวละครคุณหลวงตัวนี้จะอารมณ์รุนแรงตลอด พอเห็นหน้าจันปุ๊บก็จะปรี๊ดปั๊บ ซึ่งต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมาเช่น ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ อันนั้นเล่นเก็บอารมณ์เก็บความรู้สึกคือรับรู้เหตุการณ์ทั้งหมด รู้สึกก็แสดงออกแค่ทางสีหน้าแววตา แต่เรื่องนี้อารมณ์จะพุ่งแรงตลอด เราต้องใช้พลังในการแสดงเยอะมาก จะเหนื่อยจนท้องตัวเองเนี่ยปวดไปหมดเลย คือมันผสมผสานทั้งสภาพอากาศ สภาพสิ่งแวดล้อมตอนถ่ายทำด้วย ก็ทำให้ใช้พลังไปเยอะมาก ก็ทำให้เราบาดเจ็บได้ เหนื่อยมากครับเรื่องนี้ ฟังแค่ชื่อเรื่องมันอาจจะสื่อไปทางด้านเซ็กส์อย่างที่เคยรู้จักกันมา แต่จริงๆ แล้วเนี่ยมันเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาสาระมาก การทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นเรื่องของกรรม (การกระทำ) เป็นกงเกวียนกำเกวียนมากกว่าครับ ผมว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่น่าดูอีกเรื่องหนึ่งที่หม่อมตั้งใจทำและนักแสดงทุกคนก็ตั้งใจแสดงมาก ผมว่ามันคุ้มค่าในการชมที่จะได้ทั้งสาระและความบันเทิงแน่นอนครับ” “คุณหลวงต้องสัญญากับฉันก่อน ไม่ว่าคุณหลวงจะโกรธจะเกลียดจันมันเพียงไร คุณหลวงต้องไม่ทำร้ายมันจนถึงแก่ชีวิต ถ้าคุณหลวงรับคำฉัน ฉันจะมอบชีวิตฉันทั้งชีวิตไว้แทบเท้าคุณหลวง” น้าวาด (บงกช คงมาลัย) - สตรีผู้ยึดมั่นในความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษอันยิ่งใหญ่ เธอถูกหล่อหลอมในกรอบจารีตประเพณีอันละเอียดประณีตบรรจงแห่งกุลสตรีสยามอย่างสมบูรณ์แบบ แม่วาดงามทั้งกาย วาจา และใจ สมกับคำว่า “ผู้ดี” ทุกกระเบียดนิ้ว แต่ในส่วนลึกของเธอนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณแห่งความเป็นสตรีเพศ เธอมีความปรารถนาอันซ่อนเร้นและบูชา “รักแท้” เยี่ยงมนุษย์ปุถุชน แต่ด้วยความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ทำให้ชีวิตของเธอต้องพบกับความทรมานอย่างแสนสาหัสที่ไม่สามารถที่จะแสดงออกและปริปากได้แม้แต่คำเดียว “จริงๆ ตั๊กก็ดูผลงานของหม่อมน้อยมาหลายเรื่อง และก็อยากร่วมงานกับหม่อมมากๆ ทุกตัวละครในหนังของหม่อมจะมีเรื่องราว เป็นหนังไทยพีเรียดย้อนยุคที่น่าสนใจ ดูสนุก ไม่น่าเบื่อ ตอนแรกที่หม่อมติดต่อให้เข้าไปคุยก็แซวตั๊กก่อนเลยว่า เราเคยเห็นในข่าวเธอดูแรงๆ นะ (หัวเราะ) เรื่องนี้ก็อยากให้ตั๊กเปลี่ยนลุคไปจากเรื่องที่ผ่านๆ มา จะให้เล่นบท ‘น้าวาด’ ซึ่งจะเป็นหญิงไทยที่เรียบร้อยมาก จะไม่ค่อยมีอิสระเท่าไรนัก จะเป็นผู้หญิงที่ยอม ไม่มีปากเสียง ทำทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ไว้ แต่เป็นวิธีที่นิ่มนวลไม่รุนแรง คาแร็คเตอร์นี้จะไม่แต่งตัวเลย แล้วพอไปอยู่กับคุณบุญเลื่องเราก็จะกลายเป็นแม่บ้านไปเลย บทนี้ก็ยากเลยค่ะ มันต้องเก็บอารมณ์ทุกอย่าง มันนิ่งก็จริง แต่สายตาจะแสดงออก หม่อมจะไม่ได้ให้เล่นท่าทางมาก แต่จะให้ออกทางหน้าทางสายตา แล้วก็เป็นผู้หญิงอารมณ์อ่อนไหว ชอบร้องไห้ ดีใจก็ร้อง เสียใจก็ร้อง จริงๆ ตั๊กจะเป็นคนแข็งนอกอ่อนใน ร้องเฉพาะเรื่องที่เรารู้สึกไม่ดีจริงๆ แต่พอมาเรื่องนี้เราต้องร้องไห้ตลอด แล้วก็ไม่ได้ร้องนิดเดียวนะ ร้องทั้งวันเลย เพราะมันถ่ายต่อเนื่อง บางครั้งก็ต้องรอหน่อย เราก็กดดันเหมือนกัน หม่อมก็จะพูดเล่น ‘อ่ะ ทุกคนเงียบ รอตั๊กร้องไห้ ตอนนี้ทุกอย่างพร้อมแล้วรอตั๊กร้องไห้อย่างเดียว’ (หัวเราะ) ก่อนหน้าที่จะมาร่วมงานกันนี้ ตั๊กก็รู้ว่าหม่อมตั้งใจทำงาน ก็ต้องมีดุกันบ้าง แต่ไม่ได้กลัวนะคะ ก็ต้องมีระเบียบวินัย ซึ่งก็ทำให้การทำงานมันเป็นไปด้วยดี หม่อมจะบอกว่า การที่เราจะทำอะไรให้สัมฤทธิ์ผลได้ เราเองต้องมีวินัย ถ้าเราไม่มีวินัย เราจะทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จได้มันก็ยาก” “ถ้าคุณวาดเคยรักใครสักคน รักอย่างดื่มด่ำเป็นครั้งแรกในชีวิตสาว แต่ไม่มีโอกาสได้ร่วมชีวิตกับเค้าเลย คุณวาดจะเข้าใจถึงเหตุผลที่ดิชั้นมาอยู่ที่นี่” คุณบุญเลื่อง (รฐา โพธิ์งาม) - สตรีม่ายผู้เลอโฉมผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยวิญญาณแห่งเสรีภาพ หล่อนถูกหล่อหลอมในดินแดนแห่งมนุษยชนและศิลปะชั้นสูง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นทุกหยาดหยดแห่งลมหายใจและสายเลือดจึงไร้ซึ่งกฎเกณฑ์และกรอบประเพณีแห่งสยามประเทศ หล่อนรักทุกชีวิตรอบข้าง โลกของหล่อนจึงสดใสงดงามเต็มไปด้วยความสุนทรียภาพอันไร้ขอบเขตและถูกถ่ายทอดออกมาอย่างประณีตบรรจง ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน การดนตรี หรือการขับร้อง แม้กระทั้งเสื้อผ้าอาภรณ์และทุกอากัปกิริยาในทุกวิถีแห่งอารมณ์ และนั่นเองที่ทำให้หล่อนต้องตกอยู่ในกับดักแห่งกิเลสและตัณหา “ตอนแรกที่หญิงรู้ว่าได้รับบทนี้ก็รู้สึกดีใจมากที่หม่อมน้อยเชื่อมั่นว่าเราแสดงได้ แต่ก็ตื่นเต้นและกังวลด้วยเพราะเป็นหนังไทยเรื่องแรกในชีวิตก็ได้รับบทใหญ่นี้เลย หญิงฝันมาตลอดว่าอยากเล่นพีเรียด พอรู้ว่าได้เล่นก็ดีใจมาก บอกตัวเองว่าจะพยายามทำให้ดี จะไม่ปิดกั้นตัวละคร และจะทำให้เต็มที่ในทุกๆ ฉาก สำหรับบทอีโรติกกับโอ้ หญิงจะมองให้เป็นตัวละครค่ะ เวลาเล่นก็จะคิดถึงเหตุและผลของตัวละครตลอด และคุณบุญเลื่องเองก็จะมองเรื่องบนเตียงเป็นเรื่องที่รองจากความรักอยู่แล้ว เค้ามองว่าเป็นแค่ความต้องการที่มนุษย์ทุกคนต้องมี รวมๆ แล้วการแสดงในเรื่องนี้ก็จะยากทั้งหมดเลยค่ะ ต่างกันที่ยากมากยากน้อยค่ะ ตัวละครมีความกลมมีมิติของตัวละครมากขึ้น คือเราไม่ได้ถูกนำเสนอไปในทางที่ว่า คุณบุญเลื่องมาแล้วเป็นเรื่องของความเซ็กซี่เพียงอย่างเดียว หรือว่าจันที่จะดีในช่วงแรก และเหตุผลที่เขาจะรุนแรงขึ้นในช่วงกลางชีวิต ตัวละครทุกตัวแม้กระทั่งคุณหลวงเอง มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดี เพียงแต่ว่าด้วยเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมทุกสิ่งที่มันหล่อหลอมเรามาตั้งแต่เด็กจนโตต่างหากที่มันทำให้เราตัดสินใจในแต่ละช่วงชีวิตให้เป็นยังไง ดังนั้นเนี่ยทุกคนจะให้มากกว่าที่คนดูจะคิดว่าโอ้โหจันดาราจะโป๊แค่ไหน หญิงบอกได้เลยว่า โอเคมันต้องมีเรื่องอีโรติกอย่างที่บอกกัน แต่ว่าในความสวยงามของฉากเหล่านี้นั้น มันได้เล่าถึงความต้องการของมนุษย์ในแต่ละมุมของแต่ละตัวละคร ดังนั้นเวลาเข้าไปดูเนี่ยอยากให้ดูแล้วคิดตาม และสุดท้ายคุณจะได้อะไรจากหนังเรื่องนี้เยอะมากๆ ค่ะ” “แก้วจะฟังทุกเรื่องที่คุณแม่สอน ยกเว้นเรื่องไอ้จัน คุณแม่ก็ดีแต่เข้าข้างมัน ไอ้จันมันทำอะไรก็เห็นดีเห็นงามไปหมด เพราะอะไรน่ะเหรอ เพราะคุณแม่รักมัน คุณแม่รักไอ้จันมากกว่าลูกในไส้ของตัวเอง” คุณแก้ว (โช นิชิโนะ) - วิไลเลข วิสนันท์ หรือ คุณแก้ว เป็นสตรีที่ตกอยู่ในชะตากรรมอันโหดร้ายโดยไม่รู้ตัว การเกิดมาเป็นธิดาสาวคนเดียวในตระกูลและเป็นที่รักยิ่งของบิดาผู้มีทั้งอำนาจและทรัพย์สินเงินทอง ทำให้เธอยึดมั่นใน “อัตตา” แห่งตนและถอดนิสัยมาจาก “หลวงวิสนันท์เดชา” ผู้บิดาราวกับพิมพ์เดียวกันไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องกามราคะ จะได้นิสัย “แม่วาด” ผู้เป็นมารดาบ้างก็ในเรื่องความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว มองดูเผินๆ เธอเป็นสตรีที่ถือตัวเย่อหยิ่ง ชอบดูถูกคนและให้ร้ายคนอื่นเต็มไปด้วยความริษยาแม้แต่เงาของตัวเอง หากเธอได้รักชอบใครก็จะลุ่มหลงทุ่มเทโดยไม่คำนึงถึงถึงเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น “ตอนแรกที่รู้ว่าจะได้เล่นหนังไทยเรื่องแรกอย่าง ‘จันดารา’ ก็รู้สึกงงๆ ว่าติดต่อมาได้ยังไง ดิฉันจะทำได้เหรอ เพราะเป็นคนญี่ปุ่น พูดภาษาไทยก็ไม่ได้ แล้วจะพูดบทได้ยังไง แต่ว่าพอพูดคุยกันและได้เห็นบทแล้วเนี่ย รู้สึกว่านี่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับตัวเอง เพราะว่าบท ‘แก้ว’ เป็นบทที่ใหญ่และสำคัญมากต่อเรื่อง แต่ก็รู้สึกกดดันและตื่นเต้นว่าจะทำได้หรือเปล่า ที่ยากที่สุดก็คือบทพูดภาษาไทยนี่แหละค่ะ เพราะไม่เคยทำเลยในชีวิต พอมีเวลาว่างก็จะหัดซ้อมฝึกพูดตลอดเวลาเลยค่ะจากแผ่นซีดีบ้าง จากล่ามบ้าง และจากนักแสดงคนอื่นๆ ด้วย ก่อนถ่ายทำก็กลัวมากๆ ค่ะ แต่พอถ่ายเสร็จแล้ว ทุกคนแฮปปี้ ปรบมือกันก็รู้สึกดีใจมากเลยค่ะ เรื่องซีนอีโรติกเนี่ย ดิฉันคิดว่ามันเป็นความแตกต่างทางประเพณีและวัฒธรรมของไทยและญี่ปุ่นนะคะ เพราะที่ญี่ปุ่นเวลาถ่ายซีนอีโรติกจะเป็นเรื่องธรรมดามากค่ะ แต่ว่าที่เมืองไทยอาจจะไม่ค่อยมีเท่ากับญี่ปุ่น ก็รู้สึกแปลกใจว่าคนที่เล่นด้วยบางซีนจะค่อนข้างเขินอาย แต่ตัวดิฉันถือเป็นเรื่องปกติมาก แต่ว่าก็แฮปปี้มากที่ทุกคนเกรงใจและก็ดูแลดิฉันดีมากในซีนเหล่านี้ค่ะ ได้เล่นหนังไทยเรื่องแรกก็รู้สึกประทับใจมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงของทุกคนที่รับส่งอารมณ์กันได้ดี ภาพสวยมากๆ รวมถึงเนื้อหาที่สามารถดูได้ว่ามนุษย์เรามันจะมีหลายอารมณ์ทั้งเศร้า แฮปปี้ พอใจ มั่นใจ เห็นแก่ตัว บางทีแฮปปี้แป๊ปเดียวปุ๊บชีวิตก็อาจจะเปลี่ยนไปเหมือนลงนรกเลย เป็นสัจธรรมของชีวิต ใครทำอะไรไว้ก็ได้อย่างนั้น เป็นธรรมชาติในชีวิตคนเราค่ะ ผู้ชมสามารถดูได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้” “จัน ฉันเองก็เข้าใจดีว่ามันเป็นเรื่องยากที่ใครก็ตามในโลกนี้จะทำใจได้ง่ายๆ ถ้าได้พบกับชะตากรรมในชีวิตเยี่ยงเธอ ซึ่งอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับความเข้มแข็ง และความอดทนที่จะพาเราฝ่ามรสุมชีวิตในครั้งนี้ไปได้อย่างรอดปลอดภัย” ไฮซินธ์ (สาวิกา ไชยเดช) - สาวน้อยวัย 16 จากหัวเมืองทางภาคใต้ผู้เป็นนางในดวงใจของจัน ดาราตั้งแต่แรกพบประสบหน้า เธอมีร่างสูงระหง ดวงหน้างามคมขำราวกับเทพธิดาและมีอะไรในดวงหน้านั้นคล้ายมารดาของเขาเป็นอย่างยิ่ง นัยน์ตาโศกแต่รอยยิ้มอันสดใสของเธอก็ทำให้โลกทั้งใบพลอยมีความสุขไปกับเธอด้วย ไฮซินธ์และจันเรียนภาษาอังกฤษภาคค่ำที่โรงเรียนครูสาลี่ และสานสัมพันธ์ความเป็นเพื่อนด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ ก่อนเหตุการณ์ร้ายจะทำให้ทั้งคู่พรากจากกันโดยไม่ทันตั้งตัว “เรื่องนี้กี้ได้แสดงสองบทเลยค่ะ บทแรกก็จะเป็น ‘ดารา’ เป็นผู้หญิงที่สวยสง่า มีฐานะดี เข้าใจความรู้สึกของทุกคน เป็นคนมีจิตใจดีเหมือนกับจัน ดารา เพราะว่าเค้าเป็นแม่ลูกกัน จิตใจของเค้าที่ไม่คิดอะไรกับคนอื่นมันส่งไปถึงตัวจัน ส่วนอีกบทคือ ‘ไฮซินธ์’ เป็นนักเรียนอิสลาม จะเป็นความรู้สึกของเด็กใสๆ ที่จะเป็นรักแรกของจันค่ะ ทั้งสองตัวละครนี้ก็จะมีคาแร็คเตอร์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและเป็นผู้หญิงที่เป็นปมในใจของจันอยู่ตลอดมาค่ะ สำหรับเรื่องนี้เป็นหนังที่มีอารมณ์หลากหลายของมนุษย์มากทั้งความรัก ความใคร่ ความแค้น ถ้าลองมาดูเรื่องนี้มันจะมีอะไรมากมายให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์มันไม่มีความแน่นอนเลยค่ะ กี้ถือว่าได้รับโอกาสที่ดีมากครั้งหนึ่งในชีวิตการแสดงค่ะ รู้สึกดีใจมาก ก็คิดว่าครั้งหนึ่งเราอยากร่วมงานกับหม่อมน้อย แล้ววันนี้ฝันก็เป็นจริง พอเราได้มาเล่นจริงๆ เราก็ได้อะไรมากมายจากหม่อม นอกเหนือไปจากการแสดงแล้วหม่อมยังมีแง่มุมการใช้ชีวิตให้เราได้เรียนรู้อีกด้วย กี้รู้สึกปลาบปลื้มและโชคดีที่ได้เล่นเรื่องนี้จริงๆ ค่ะ” “จันดารา” ในเชิงจิตวิเคราะห์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (SIGMUND FREUD) ปรมาจารย์แห่งจิตรวิทยาชาวเยอรมันได้กล่าวว่า ในทุกๆ “การกระทำ” ของมนุษย์ล้วนแล้วแต่มี “แรงผลักดันทางเพศ” (SEX DRIVE) แฝงไว้ใน “จิตใต้สำนึก” เสมอ เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมี “ปมทางจิต” ที่เรียกว่า “ปมอิดิพุส” (OEDIPUS COMPLEX) ซ่อนอยู่ภายใต้จิตใจอันบอบบาง ซึ่งจะปรากฏออกมาในรูปของบิดามักจะรักลูกสาว มารดามักจะรักลูกชาย และในทางกลับกัน ลูกสาวมักจะรักบิดา และลูกชายมักจะรักมารดา เป็นต้น อันเป็นรากฐานของ “ความรัก” ในระดับต่อๆ มาในวัยของมนุษย์ เช่น ชายหนุ่มมักจะนิยมชมชอบผู้หญิงที่มีความเหมือนมารดา และหญิงสาวมักจะนิยมชมชอบชายที่มีนิสัยคล้ายกับบิดา ซึ่งพื้นฐานของแนวคิดทางจิตวิเคราะห์เหล่านี้ล้วนปรากฏเด่นชัดใน “ตัวละคร” ซึ่งขาดความอบอุ่นทั้งจากบิดาและมารดา เขาจึงแสวงหา “ความรัก” และ “ความอบอุ่น” ดังกล่าวจนชั่วชีวิต แต่ก็ล้มเหลวที่จะได้พบเจอ ส่วน “แรงผลักดันทางเพศ” (SEX DRIVE) นั้นก็มิได้หมายถึงพฤติกรรมในเชิงสังวาสเพียงอย่างเดียว หากครอบคลุมและผสมผสานไปกับ “ความรักอันบริสุทธิ์” (PURE LOVE) อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ และเป็น “แรงผลักดัน” ที่มีพลังอันมหาศาลเป็นตัวที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นไปในด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม อาทิเช่น เมื่อมนุษย์มีความรักอันแรงกล้าก็จะทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งคนที่เรารักยิ่ง ไม่ว่าจะออกมารูปของการขยันทำมาหากินเพื่อให้คนที่เรารักได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย หรือลักขโมยและฉ้อโกงทรัพย์เพื่อให้คนที่รักมีความสุขได้อีกเช่นกัน และยิ่งเพื่อความมั่นคงของครอบครัวและวงศ์ตระกูลแล้ว พลังอันมหาศาลแห่ง “แรงผลักดันทางเพศ” (SEX DRIVE) จะก่อให้เกิดผลกรรมอันยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็น “กุศลกรรม” หรือ “อกุศลกรรม” อันบันดาลได้ทั้ง “ความเจริญรุ่งเรือง” และ “ความหายนะ” อันใหญ่หลวงในครอบครัวซึ่งแผ่ไปถึงสังคมรอบข้าง ภาพยนตร์มหากาพย์แห่งโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่เรื่อง “จันดารา” นี้จึงเป็นภาพสะท้อนของผลกรรมของมนุษย์ผู้ไร้เดียงสาที่ถูกสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแสวงหา “อำนาจ” ทั้งใน “สมบัติ” และ “กามคุณ” หล่อหลอมจนจิตใจเต็มไปด้วย “กิเลส” และ “ตัณหาราคะ” อันก่อให้เกิด “เปลวไฟแห่งความแค้น” ที่เผาผลาญชีวิตรอบข้างและตนเองให้มอดไหม้จนกลายเป็นธุลี เกร็ดภาพยนตร์ 1) ภาพยนตร์เรื่อง “จันดารา” (2555) ดัดแปลงจากนวนิยายสุดคลาสสิก “เรื่องของจัน ดารา” ของนักประพันธ์ชั้นครู “อุษณา เพลิงธรรม” (ประมูล อุณหธูป) (2463-2530) ตีพิมพ์ เป็นตอนๆ ครั้งแรกใน “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” (2507-2509) 2) ต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดย “สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น” (2509) และหลังจากนั้นตลอดเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาก็ถูกพิมพ์รวมเล่มเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 13 โดย “สำนักพิมพ์มติชน” (เม.ย. 2555) 3) สู่การเขียนบทและตีความใหม่สุดเข้มข้นโดยผู้กำกับฯ ฝีมือละเมียด “หม่อมน้อย - ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” เป็นผลงานลำดับที่ 11 ถัดจากภาพยนตร์ขึ้นหิ้งอย่าง เพลิงพิศวาส (2527), ช่างมันฉันไม่แคร์ (2529), ฉันผู้ชายนะยะ (2530), นางนวล (2530), เผื่อใจไว้ให้กันสักหน่อย (2532), ความรักไม่มีชื่อ (2533), มหัศจรรย์แห่งรัก (2538), อันดากับฟ้าใส (2540), ชั่วฟ้าดินสลาย (2553), อุโมงค์ผาเมือง (2554) 4) “จันดารา” เวอร์ชั่นหม่อมน้อยใน พ.ศ. นี้ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งที่ 3 ถัดจาก 2 ครั้งแรก คือ - ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2520) สร้างโดย เทพกรภาพยนตร์ / อำนวยการสร้างโดย กิติมา เศรษฐภักดี / กำกับโดย รัตน์ เศรษฐภักดี / เขียนบทโดย ส. อาสนจินดา / กำกับภาพโดย อดุลย์ เศรษฐภักดี / นำแสดงโดย สมบูรณ์ สุขีนัย (จัน), อรัญญา นามวงศ์ (บุญเลื่อง), ศิริขวัญ นันทศิริ (แก้ว), ภิญโญ ปานนุ้ย (เคน) เข้าฉายเมื่อ 11 มี.ค. 2520 ที่โรงเพชรรามา และโรงเพชรเอ็มไพร์ - ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2544) สร้างโดย ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ / กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร / เขียนบทโดย ศิรภัค เผ่าบุญเกิด, นนทรีย์ นิมิบุตร / นำแสดงโดย สันติสุข พรหมศิริ (คุณหลวง), สุวินิต ปัญจมะวัต-เอกรัตน์ สารสุข (จัน), วิภาวี เจริญปุระ (น้าวาด), คริสตี้ ชุง (บุญเลื่อง), ภัทรวรินทร์ ทิมกุล (แก้ว), เคน (ครรชิต ถ้ำทอง) เข้าฉายเมื่อ 28 ก.ย. 2544 5) “จันดารา” เวอร์ชั่นหม่อมน้อยจะถูกสร้างเป็นสองภาค คือ “จันดารา ปฐมบท” (พร้อมฉาย 6 ก.ย.) และ “จันดารา ปัจฉิมบท” (กำลังถ่ายทำ) เพื่อความสมบูรณ์แบบของเนื้อหาและสาระบันเทิงอย่างเต็มอิ่ม 6) พลิกบทบาทประชันฝีมือด้วยทีมนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทยไม่ว่าจะเป็น มาริโอ้ เมาเร่อ (จัน ดารา), ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต (เคน กระทิงทอง), ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ (หลวงวิสนันท์เดชา), บงกช คงมาลัย (น้าวาด), รฐา โพธิ์งาม (คุณบุญเลื่อง), โช นิชิโนะ (คุณแก้ว), สาวิกา ไชยเดช (ดารา / ไฮซินธ์), รัดเกล้า อามระดิษ (คุณท้าวพิจิตรรักษา), ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ขจร) ร่วมด้วยนักแสดงสมทบและรับเชิญอีกมากมายที่จะมาเพิ่มสีสันให้กับภาพยนตร์โดยเฉพาะ 7) “จันดารา” เซ็ตฉากถ่ายทำอย่างงดงามในทุกๆ โลเกชั่นไม่ว่าจะเป็น บ้านสังคหวังตาล บ้านโป่ง จ.ราชบุรี / หอวัฒนธรรมไทยวน (ไท-ยวน) อำเภอเสาไห้ สระบุรี / โฮมพุเตย, น้ำตกเจ็ดสาวน้อย จ.กาญจนบุรี / ลานพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5, ถนนราชดำเนิน หน้าวังปารุสกวัน, สถานีดับเพลิงบางรัก, ตึกพัสดุการรถไฟ, หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร 8) รวมพลคนเบื้องหลังมืออาชีพทุกๆ ด้านที่จะมาสร้างสรรค์ให้ “จันดารา” เวอร์ชั่นนี้ตระการตาเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบงานสร้างสุดวิจิตรในทุกฉากโดย “พัฒน์ฑริก มีสายญาติ” (อุโมงค์ผาเมือง), การกำกับภาพสุดงดงามในทุกเฟรมภาพของ “พนม พรมชาติ” (ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ), งานออกแบบเครื่องแต่งกายสุดประณีตของ “อธิษฐ์ ฐิรกิตสัฒน์” (ซีอุย, ต้มยำกุ้ง, Me, Myself ขอให้รักจงเจริญ), การเมคอัพสุดบรรจงในทุกคาแร็คเตอร์โดย “มนตรี วัดละเอียด” (สุริโยไท, โหมโรง, ชั่วฟ้าดินสลาย, อุโมงค์ผาเมือง ฯลฯ) และดนตรีประกอบสุดตรึงใจโดย “ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์” (นางนาก, จัน ดารา-2544, โอเคเบตง, โหมโรง, เดอะ เลตเตอร์ จดหมายรัก, ก้านกล้วย, ปืนใหญ่จอมสลัด, อุโมงค์ผาเมือง, คน-โลก-จิต ฯลฯ) 9) “เพลงเมื่อไหร่จะให้พบ” ประพันธ์คำร้องโดย “แก้ว อัจริยะกุล” / ทำนองโดย “หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์” / ต้นฉบับขับร้องโดย “มัณฑนา โมรากุล” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2555 นี้ จะขับร้องโดย “รฐา โพธิ์งาม” และ “ศักราช ฤกษ์ธำรงค์” สองนักแสดงในเรื่องนี้อย่างแสนไพเราะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ