บีโอไอหนุนส่งเสริมนิคมฯ ซอฟต์แวร์ หวังดึงดูดซอฟต์แวร์ตั้งฐานในไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 28, 2004 10:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กิจการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีแบบไม่จำกัดวงเงิน
หวังกระตุ้นให้เกิดนิคมฯ ซอฟต์แวร์แห่งใหม่ หลังจากที่ซอฟต์แวร์พาร์คของสวทช. มีเอกชนเข้าลงทุนเต็มแล้ว
มั่นใจนิคมฯ ซอฟต์แวร์แห่งใหม่จะช่วยดึงดูดให้กิจการซอฟต์แวร์ย้ายฐานมาลงทุน ในไทยเพิ่มมากขึ้น
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนตั้งเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มากยิ่งขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้บีโอไอปรับปรุงสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จากเดิมที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี โดยจำกัดวงเงินที่จะได้รับการยกเว้นภาษี ตามมูลค่าเงินลงทุนของโครงการ เป็นให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงิน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกิจการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เพียงแห่งเดียวคือ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้มีกิจการซอฟต์แวร์เข้ามาใช้พื้นที่เต็มแล้วประมาณ 87 ราย ดังนั้น หากมีการลงทุนตั้งเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยดึงดูดให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์จากต่างประเทศย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น เพราะกิจการด้านซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ต้องอาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกในเขต อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อาทิ ระบบสื่อสารใยแก้วความเร็วสูง มีการวางสายสื่อสารเชื่อมโยงจาก เขตอุตสาหกรรมไปยังศูนย์กลางสื่อสารโทรคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ และมีระบบไฟฟ้าสำรองจ่าย
ส่วนสาเหตุที่ภาคเอกชนไทยไม่สนใจลงทุนตั้งเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้นอาจเป็นเพราะ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 รวมทั้งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพิเศษเพื่อรองรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจได้ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง และบีโอไอก็ได้ปรับปรุงนโยบายการส่งเสริมกิจการซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น จึงเชื่อว่าแรงผลักดันต่างๆ นี้จะช่วยให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มากขึ้น--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ