เปิดโลกการเรียนรู้สู่วิทยาศาสตร์ ใน “กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน” ประจำปี 2555

ข่าวทั่วไป Tuesday August 7, 2012 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--Extravaganza เสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยกระบวนการที่เป็นระบบผ่านประสบการณ์จริง พร้อมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทย สู่การพัฒนาศักยภาพและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม เปิดรับสมัครเข้าร่วมกิจกรรมแล้วตั้งแต่วันนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวการจัดงาน “กิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน” ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2555 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 -31. สิงหาคม ศกนี้ เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจให้เยาวชนและสังคมทั่วไป ได้ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของประเทศ พร้อมกันนี้ยังเป็นการพัฒนากระบวนการทางความคิด ความสามารถและทักษะด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทย สู่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี ภายในงาน ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ หารหนองบัว นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในงานแถลงข่าว พร้อมกล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ที่จะส่งเสริมกิจกรรมนอกชั้นเรียนต่างๆ เพื่อให้เยาวชนของชาติให้ตระหนักถึงคุณค่าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความสำคัญต่อการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งย้ำว่า ความรู้อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอสำหรับเยาวชนในศตวรรษหน้า ปัจจัยที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้ทางวิชาการคือ เยาวชนยุคใหม่ต้องคิดเป็น ทำเป็น ทำงานเป็นทีมได้ และทำหน้าที่เป็นผู้ตามที่ดีหรือเป็นผู้นำที่ดีได้ ซึ่งทักษะต่างๆ ที่กล่าวมานั้นไม่สามารถหาได้ในชั้นเรียน กิจกรรมเยาชนที่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี เป็นกิจกรรมนอกชั้นเรียน ซึ่งเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดหรืออาจจะเป็นแนวทางเดียวที่จะสร้างทักษะที่จำเป็นเหล่านั้นให้กับเยาวชน ที่กล่าวมานั้นยังไม่รวมทักษะการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงการเรียนรู้ ความเข้าใจและการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างและหลากหลาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เยาวชนรุ่นใหม่กล้าที่จะบินไปสมัครงานที่ไหนก็ได้ อย่างน้อยในกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ใช่คิดเพียงจะหางานในประเทศเหมือนที่ผ่านๆ มา นอกจากนี้ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมากิจกรรมนอกชั้นเรียนไม่ได้รีบความสนใจจากครูและนักเรียนเท่าที่ควร เพราะโรงเรียนและผู้ปกครองเองก็มุ่งที่จะให้บุตรหลานสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ถึงวันนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับรางวัลกิจกรรมต่างๆ เข้าศึกษาต่อได้โดยไม่ต้องมีการสอบคัดเลือก และเป็นที่น่ายินดีเช่นกันว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เห็นถึงความสำคัญกิจกรรมนอกชั้นเรียนต่างๆ ข้างต้น จึงได้มอบหมายให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาหลักเกณฑ์การเพิ่มวิทยฐานะครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยรวมเอาผลงานของครูในด้านกิจกรรมนอกชั้นเรียนของเยาวชนต่างๆ รวมเข้าไปในการเพิ่มวิทยฐานะด้วย ซึ่งคาดว่าจะนำไปปฏิบัติได้ในไม่นานนี้” สำหรับกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมน่าสนใจ 4 ประเภท ดังนี้ กิจกรรมการประกวด ได้แก่ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์, การประกวดสิ่งประดิษฐ์ การประกวดกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ — SCG กิจกรรมการแข่งขัน ได้แก่ การแข่งขันวาดภาพความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการทางวิทยาศาสตร์, การแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การแข่งขันความสามารถการแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์โดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ ณ หว้ากอ และค่ายเยาวชนช้างเผือกซิเมนต์ไทย เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ตรงที่มากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียน ที่รวบรวมผลงานความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนมานำเสนอให้บุคคลทั่วไปได้รับชมและศึกษาหาความรู้ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในภูมิภาค จัดกิจกรรมเยาวชนในศูนย์ภาคต่าง ๆ ด้วย 1. ภาคเหนือตอนบน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2. ภาคเหนือตอนล่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. ภาคตะวันออก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 5. ภาคใต้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 6. ภาคกลาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งระยะเวลาการจัดของศูนย์ภาคจะจัดอยู่ในระยะเวลา 3 — 4 วัน ทั้งนี้จะครอบคลุมวันที่ 18 สิงหาคม ซึ่งมติ ครม. ประกาศให้เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ สามารถสมัครร่วมกิจกรรมได้ที่ ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 02-2185245 หรือ www.scisoc.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ