กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เปิดเวทีระดมสมอง “นวัตกรรม...ป้องกันภัยน้ำท่วม 2555 ” โดยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมเชิญ 3 กูรูน้ำคนดัง มร.คอร์เนลิส เดคร๊าฟ , ดร. สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร และ ผศ. ดร. คมสัน มาลีสี ณ หอประชุมใหญ่ สจล.โดยมีพลังชุมชน61แห่งที่ประสบภัยพิบัติปี 2554และผู้ประกอบการกว่า 1,000 คน
รศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวถึงสถานการณ์มหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ ปี 2555 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายสูงสุดแก่ประเทศไทย เป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าสูญเสียทรัพยากรบุคคลของครอบครัวและค่าเสียโอกาสของประเทศชาติ วัตถุประสงค์ของการจัดงาน“นวัตกรรม...ป้องกันภัยน้ำท่วม 2555 ” เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทย และกำหนดแนวทางในการจัดทำแผนการรับมือ รวมถึงเพื่อสร้างภาคีเครือข่ายในการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยใช้ประเด็นภัยพิบัติเป็นจุดเริ่ม โดยเริ่มในพื้นที่เขตลาดกระบังก่อน เนื่องจากเป็น Flood way ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อีกทั้งผืนดินกรุงเทพฯทรุดปีละ 1 นิ้ว และปัญหาภัยพิบัตินับวันจะรุนแรงขึ้นและคาดเดาได้ยาก ดังเช่นญี่ปุ่นที่เตรียมการป้องกันอย่างดี ก็ยังรับความรุนแรงสึนามิที่เกินมาไม่ได้ ดังนั้นเราต้องคิดให้ตกผลึกและศึกษานวัตกรรมต่างๆเพื่อบูรณาการให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
มร.คอร์เนลิส เดคร๊าฟ (Mr. Cornelis Dijkgraaf )ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกภัย การพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมือง และคณะทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ต้นตระกูลเดคร๊าฟเป็นผู้ก่อสร้างพนังกั้นทะเลของประเทศมาก่อน เดคร๊าฟ นำเสนอประสบการณ์ของเนเธอร์แลนด์ด้านการบริหารจัดการน้ำที่ปลายน้ำซึ่งพัฒนาต่อเนื่องประสบความสำเร็จในการป้องกันการเกิดอุทกภัย ว่า 26 %พื้นที่ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และ 59 % ของพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ชาวดัทช์เรียนรุ้เรื่องน้ำมาหลายร้อยปี จนถึงปัจจุบันผังเมืองจะแบ่งตามเส้นแบ่งของการจัดการน้ำเปิดแนวคิดนวัตกรรมป้องกันกรุงเทพฯจากวิกฤติน้ำทะเลหนุนในภาวะเสี่ยงต่ออุทกภัย น้ำอุทกภัยมาจาก 2 ส่วนคือ จากทะเลและจากสวิสและเยอรมัน วิธีการแก้ปัญหาโดยการบูรณาการจัดการน้ำ สร้างทะเลสาบน้ำจืด ที่สามารถเก็บกักน้ำส่วนเกินไว้และนำไปใช้ในฤดูแล้งได้ ควบคุมน้ำจากเครือข่ายคลองเล็กเชื่อมโยงกับคลองใหญ่ และเขื่อนพนังกั้นชายฝั่งทะเล สมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ปั๊มน้ำออกจากพื้นที่ต่ำภายในเขื่อนด้วยกังหันลม (Wind Mills)
สิ่งที่น่าสนใจ เรียกว่า ระบบผันน้ำ BEEMSTER ประกอบด้วยการทำพนัง(Dike )ในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วม และขุดคลองเล็กนอกพนัง แล้วทำ polder โดยติดตั้งระบบปั๊มน้ำและกังหันลม 50 แห่ง ผันน้ำท่วมออกสู่คลองนอกพนัง จนเป็นพื้นที่แห้ง จากการเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงกลายเป็นพื้นที่มีค่าไป เพราะมีคุณภาพดินดีอุดมด้วยแร่ธาตุ ได้รับการป้องกันน้ำท่วม ดึงดูดให้มีการลงทุนพัฒนาในที่ดินเหล่านี้ นับเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน พิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลได้
ในปี 2496 หรือค.ศ. 1953 เกิดวิกฤติพายุฝนหนัก น้ำท่วมใหญ่ เขื่อนแตก มีคนเสียชีวิตกว่า 800 คน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงทุ่มเทคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ระดมผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาทั่วประเทศและทำพนังเขื่อนชายฝั่งทะเล ปัจจุบันมีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ และในการออกแบบ วางแผนหรือก่อสร้างสิ่งใดก็ตาม จะคำนึงว่าน้ำเป็นโจทย์หรือองค์ประกอบหนึ่งเสมอ (Planning and Design With Water) ดังจะเห็นจากตัวอย่างของ บ้านริมชายน้ำมีที่จอดเรือ , บ้านลอยน้ำ (Floating House)ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ครบครันด้วยระบบประปา ไฟฟ้าและกำจัดสิ่งปฎิกูล , บ้านแถวลอยน้ำ (Floating Community )กลางเมืองร๊อตเตอร์ดัม แต่คนทั้งประเทศคงจะอยู่ในเรือไม่ได้ทั้งหมด ฉะนั้นจึงต้องปรับมุมมองความคิดกันใหม่ว่า น้ำเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และเราจะต้องมีวิธีการอย่างยั่งยืนเพื่อลดภาวะเสี่ยงต่ออุทกภัย
สำหรับประเทศไทย หลังมหาอุทกภัยปี 2554 มีแผนดำเนินการมากมายหลายอย่าง จะทำพื้นที่รองรับน้ำ หรือ Floodway ที่มีความกว้างถึง 200 เมตร อันตรายที่มองเห็น คือ Flood way จะระบายน้ำท่วมได้ก็เมื่อระดับน้ำในทะเลอยุ่ต่ำกว่าเท่านั้น 2.การสร้างพนังคอนกรีตสูงรอบนิคมอุตสาหกรรม น้ำก็จะไหลไปท่วมพื้นที่อยู่อาศัยรอบๆ เราจะต้องแก้ปัญหาอย่างองค์รวม (Integrated Approach) ไม่เพียงนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะได้รับการป้องกันแต่ต้องรวมพื้นที่อยู่อาศัยด้วย การบริหารจัดการน้ำที่ผสมผสานบูรราการเท่านั้นที่จะเกิดประสิทธิภาพและความสำเร็จ พื้นที่กรุงเทพฯมีการทรุดตัวลงเรื่อยๆควรนำระบบ Polder System มาใช้
ดร. สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร หัวหน้ากลุ่มงานแบบจำลอง ฝ่ายสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า คนไทยต้องปรับความคิดใหม่ อย่ากลัวน้ำ แต่ควรกลัวว่าน้ำจะไม่มีใช้ จริงๆแล้วคนไทยอยู่กับน้ำมาช้านาน เราต้องพึ่งพาน้ำ การจะอยู่กับธรรมชาติ ให้มองอย่างสมดุล จุดต่างของสถานการณ์ปี 2554 และ 2555 คือ ปีก่อนเรามีพายุ 5 ลูก ปี 2555 ผ่านไปแล้ว 2 ลูก มีปริมาณฝนน้อยกว่าการเตรียมความพร้อม เราทำคลังข้อมูลน้ำรวมเป็นข้อมูลชุดเดียว จากแหล่งเดียว ดูได้จาก www.thaiwater.net มีระบบมอนิเตอร์น้ำโดยติดตั้งเครื่องมือพลังแสงอาทิตย์ CCTV 140 จุด ในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน แม่น้ำเจ้าพระยาและเครือข่ายคลองสำคัญ ทำให้ทราบอัพเดทปริมาณและทิศทางของน้ำอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมโดยพัฒนาการสำรวจทางอากาศ ใช้หุ่นยนต์ติดกล้องและเครื่องบินบังคับออกสำรวจ (Unmanned Aerial Vehicle —UAV )ซึ่งมีประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายถูกกว่าการใช้เฮลิคอปเตอร์อย่างมาก เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำและติดตามตรวจสอบระหว่างดำเนินการได้ดี เช่น ดูคันกันน้ำที่รั่ว ดูการทำงานของเรือผลักดันน้ำทั้ง 54 จุดในกทม.เป็นต้น ทั้งนี้ระบบสารสนเทศและข้อมูลที่ดีจะทำให้การบริหารจัดการน้ำในปี 2555 ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพในการป้องกันน้ำท่วม “
ผศ. ดร. คมสัน มาลีสี รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จะได้นำเสนอแนวคิดว่า กรุงเทพฯในด้านตะวันออกสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 50 ซม.แต่อัตราการทรุดตัวสูงปีละ 1 นิ้ว เนื่องจากตั้งบนดินเหนียวอ่อนซึ่งลึก 12 -15 เมตร ในช่วง 100 ปี อาจทรุดลงถึง 2 เมตร ต้องคิดอนาคตลูกหลานจะอยู่กันอย่างไร หากมองสาเหตุน้ำท่วมหนักปี 54 นั้นเกิดจากการบริหารจัดการน้ำและฝนพายุที่ตกหนัก ทำให้น้ำท่ามาเจอน้ำเขื่อนที่จำเป็นต้องระบายออกมาปริมาณมหาศาล เพราะช่วงก.ย. —ต.ค.น้ำในเขื่อน 100 % แต่ปี2555ขณะนี้น้ำในเขื่อน 50 กว่า เปอร์เซ็นต์ ต่อให้ฝนตกหนักอย่างปีที่แล้ว ถ้าบริหารน้ำในเขื่อนให้ดี ก็ยากที่จะท่วมรุนแรง
จุดสำคัญต้องตัดแบ่งลุ่มน้ำที่นครสวรรค์ ไปสูลุ่มน้ำท่าจีน บางปะกง และเจ้าพระยา ซึ่งเจ้าพระยาปัจจุบันมีเขื่อนกั้นตลอด ไม่มีแก้มลิงธรรมชาติแล้ว เราต้องจัดการน้ำส่วนนี้ด้วยแก้มลิงที่สร้างขึ้น หากการลงทุนป้องกันน้ำท่วม 350,000 ล้านบาทของรัฐบาล ยังไม่มีการศึกษาอย่างรอบด้านโดยวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญในการนำนวัตกรรมใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพ แล้วจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้อย่างไร การลงทุนนี้ก็จะกลายเป็นหนี้สินของประชาชนที่ต้องแบกรับไปถึงรุ่นลูกหลาน หลายปัญหาเช่น ปัญหาผลักดันน้ำบนพื้นดินและทางน้ำไม่ไปเพราะสภาพพื้นที่กรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงไปมากมาย จะแก้อย่างไร เราต้องหาคำตอบที่ดีที่สุดให้ประเทศเรา ส่วนในมุมมองนวัตกรรมของภาคประชาชน ซึ่งได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ พัฒนาจากประสบการณ์ “ลาดกระบังโมเดล” ในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา พร้อมสร้างเสริมนวัตกรรมในการสื่อสารและบริหารจัดการของหน่วย ให้ชุมชนตื่นตัวด้วยองค์ความรู้และทักษะ สามารถขับเคลื่อนในภารกิจภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพและเปี่ยมด้วยมิตรภาพ การช่วยเหลือกันและกัน”