บอร์ดบีโอไออนุมัติรวด 11 โครงการใหญ่ เงินลงทุนรวมกว่าสองหมื่นสี่พันล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday July 28, 2004 10:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--บีโอไอ
กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ 2 โครงการ
กิจการปิโตรเคมี
กิจการผลิตไก่แบบครบวงจร 4 โครงการ
กิจการขนส่งทางเรือ 3 โครงการ
กิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติ
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น 11 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น ประมาณ 24,000 ล้านบาท ดังนี้
กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ของบริษัท เคฮิน (ไทยแลนด์) จำกัด ขอรับการส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนของระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ ได้แก่ Throttle Body Assembly และ Fuel Pump Unit Assembly ปีละประมาณ 7,200,000 ชิ้น (Throttle Body Assembly ประกอบด้วย Fuel Injector และ Throttle Module ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณอากาศและน้ำมันที่จะป้อนเข้าเครื่องยนต์ ส่วน Fuel Pump Unit Assy ประกอบด้วย Fuel Feed Pump และ Fuel Pump Module ทำหน้าที่ป้อนน้ำมันเข้าเครื่องยนต์และวัดระบบน้ำมัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,542 ล้านบาท ใช้วัตุดิบในประเทศ 4,542 ล้านบาท/ปี เพิ่มการจ้างแรงงานไทย 337 คน โดยจะส่งออกโดยตรงร้อยละ 60 ไปยังประเทศอินโดนีเซีย จีน บราซิลเป็นต้นตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
โครงการนี้เป็นการผลิตส่วนประกอบของระบบฉีดเชื้อเพลิง (Fuel Injection) สำหรับรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ เพื่อช่วยให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยังเป็นการลดมลภาวะที่เกิดจากท่อไอเสียของรถจักรยานยนต์ได้อีกด้วย
กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ของบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิต Condenser และชิ้นส่วนในระบบระบายความร้อน (Cooling System) ของยานพาหนะ ได้แก่ Condenser Radiator, Intercooler, Oil Cooler, Reserve Tank เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,058 ล้านบาท จ้างแรงงานไทย 92 คน มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ารวม 562 ล้านบาท/ปี ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 7 ปี และได้รับลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักร
โครงการนี้จะทำการผลิตเพื่อป้อนโครงการผลิตรถ Pick up รุ่นใหม่ของโตโยต้าเป็นหลักประมาณร้อยละ 70 และจะป้อนผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศรายอื่นอีกระมาณร้อยละ 18 ที่เหลือร้อยละ 12 จะส่งออกให้บริษัทในเครือเด็นโซ่ในอาเซียน ชิ้นส่วนที่ส่งออก ได้แก่ Condenser และ Radiator
กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ของบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิต PROPYLENE,PROPANE และ MIX C4 โดยมีกำลังการผลิต PROPYLEN ปีละประมาณ 4,000 ตัน PROPANE ปีละประมาณ 20,000 ตัน และ MIX C4 ปีละประมาณ 6,664 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 700 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักร
โครงการนี้ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของก๊าซที่ผลิตได้ในอ่าวไทย และยังเป็นการรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้ PROPYLENE ที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนยังเป็นกิจการที่สนับสนุนการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลาย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติก และเป็นการทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
ปัจจุบันบีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่เริ่มมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีถึงเดือนมิถุนายน 2547 มีบริษัทที่ได้รับส่งเสริมรวม 64 บริษัท 110 โครงการ เงินลงทุนรวมกันประมาณ 331,380 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่ม 16,850 คน
กิจการผลิตไก่ครบวงจร ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ขอรับการส่งเสริมในกิจการผลิตไก่ครบวงจร จำนวน 4 โครงการ คิดเป็น มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 7,873.2 ล้านบาท ดังนี้
1. กิจการผลิตอาหารสัตว์ อบพืชและไซโล กำลังการผลิตอาหารรสัตว์ 1.2 ล้านตัน/ปี, อบพืชและไซโล 0.96 ล้านตัน/ปี เงินลงทุน 1,444.5 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 101 คน มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ปลาป่น ฯลฯ มูลค่าประมาณ 6,310.5 ล้านบาท/ปี โดยจำหน่ายในประเทศทั้งสิ้น
ปัจจุบันมีผู้ผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปรายใหญ่ ได้แก่ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเบทาโกร กลุ่มแหลมทอง กลุ่มลีพัฒนา กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทย และกลุ่มกรุงไทยอาหารสัตว์
2. กิจการขยายพันธุ์สัตว์ กำลังการผลิต (ลูกไก่) 55 ล้านตัว/ปี เงินลงทุน 733.2 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 199 คน มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ ลูกไก่พ่อแม่พันธุ์ อาหารสัตว์ ฯลฯ มูลค่าประมาณ 105 ล้านบาท/ปี
กิจการขยายพันธุ์ไก่ เป็นอุตสาหกรรมเชื่อมโยงที่ต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมต้นน้ำได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เลี้ยงไก่จนถึงการชำแหละแปรรูป ซึ่งผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะในสถานการณ์เนื้อไก่ส่งออกของไทยที่คาดว่าจะมีอนาคตที่สดใสหากมีการควบคุมที่มีคุณภาพ
3. กิจการเลี้ยงสัตว์ ฆ่าและชำแหละและอาหารสัตว์ กำลังการผลิตไก่เนื้อ 52 ล้านตัว/ปี ไก่แช่แข็ง 249,000 ตัน/ปี ขนไก่ป่น 9,730 ตัน/ปี เงินลงทุน 4,497.1 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 3,916 คน มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ ลูกไก่ อาหาร แกลบและแก๊ส มูลค่าประมาณ 5,936 ล้านบาท/ปี จำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 ต่างประเทศ (ญี่ปุ่น ยุโรปอื่นๆ) ร้อยละ 60
4. กิจการผลิตอาหารจากเนื้อไก่ กำลังการผลิต 86,400 ตัน /ปี เงินลงทุน 1,198.4 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,008 คน โดยจะตั้งโรงงานอยู่ที่ อ.ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักร
อุตสาหกรรมเนื้อไก่และไก่แปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงจากการผลิตอาหารสัตว์ไปยังการเลี้ยงลูกไก่และไก่กระทง ฆ่าและชำแหละเนื้อไก่ ซึ่งผลผลิตที่ได้จะมีการจำหน่ายในรูปไก่สดแช่แข็งทั้งในประเทศและส่งออก หรือนำไปผลิตเป็นอาหารจากไก่แปรรูปเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่ นอกจากนี้อุตสาหกรรมอาหารแปรูปจากเนื้อไก่ยังเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งปรุงแต่งอาหารและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย
ผลผลิตเนื้อไก่ของโลกปี 2545 มีจำนวนทั้งสิ้น 49 ล้านตัว โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ส่วนไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อในอันดับที่ 6 มีผลผลิตไก่คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของผลผลิตรวม โดยตลาดส่งออกหลักของไทย คือ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ประสบปัญหาเรื่องไข้หวัดนกในช่วงปลายปี 2546-ต้นปี 2547 และประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ดังนั้นปริมาณการผลิตและความต้องการของตลาดมีแนวโน้มที่จะลดลง แต่ทั้งนี้เพราะไทยมีความได้เปรียบในหลายๆ ด้าน เช่น ต้นทุน ฝีมือแรงงาน วิธีการเลี้ยง ความสะอาด จึงคาดว่าธุรกิจไก่เนื้อจากประเทศไทยยังสามารถแข่งขันได้และมีโอกาสฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2547 โดยหากมีการปรับปรุงคุณภาพในการผลิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป
โครงการทั้ง 4 โครงการนี้ ถือเป็นการขยายกำลังการผลิตไก่แบบครบวงจร เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาดโลกที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากเหตุการณ์ไข้หวัดนกได้กลับคืนสู่สภาพปกติ
กิจการขนส่งทางเรือ ของนายลิ้ม ชูเส็ง ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางเรือ จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 2,111 ล้านบาท ได้แก่ 1.บริษัท แพลทตินั่ม เจด จำกัด เงินลงทุน 656.4 ล้านบาท 2.บริษัท แพลทตินั่ม เอ็มเมอรัลด์ จำกัด เงินลงทุน 711.6 ล้านบาท 3.บริษัทแพลท ตินั่ม ไดมอนด์ จำกัด เงินลงทุน 743 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจะได้รับการยกเว้นเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็นเวลา 8 ปี และได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าเครื่องจักร
โดยจะเปิดให้บริการเดินเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ลักษณะประจำเส้นทาง (Liner) ระหว่างท่าเรือของบริษัท บางปะกง เทอร์มินอล จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา ไปยังท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชาและท่าเรือฮ่องกง
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ถือเป็นประโยชน์ต่อกิจการพาณิชย์นาวีและเศรษฐกิจของประเทศ และยังเป็นการเพิ่มระวางกองเรือไทย รวมถึงการเพิ่มรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ การจ้างแรงงานและประสบการณ์ของลูกเรือไทยเป็นต้น
กิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ของบริษัท ปตท. ขอรับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ปีละประมาณ 180,000 ลูกบาศก์ฟุต จ้างแรงงานไทย 51 คน เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,648 ล้านบาท โดยจะวางท่อขนาด 30 นิ้ว ระยะทางรวม 70 กิโลเมตร จากท่อส่งก๊าซธรรมชาติราชบุรี-วังน้อย ที่จุดเชื่อมต่อที่สถานีควบคุมก๊าซที่ 6 อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรีไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งโครงการนี้จัดเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
โครงการขนส่งทางท่อเป็นการขยายเครือข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตห่งประเทศไทย ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ โรงงานอุตสาหกรรม และสถานีบริการก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ โดยบริษัทจำหน่ายก๊าซธรรมชาติในปี 2546 มีปริมาณ 2,635 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณการใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังขนส่งก๊าซเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนพระนครใต้ ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมพระนครใต้ชุดที่ 3 ขนาด 70 เมกะวัตต์ที่จะก่อสร้างในอนาคต รวมทั้งยังมีแผนการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมและยานยนต์ เนื่องจากเป็นเชื้อเพลงที่สะอาดจะช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลได้เป็นอย่างดี--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ