KTAMแนะล็อกผลตอบแทนหนี้ยุโรปยืดเยื้อ ขายตราสารหนี้ใน-ตปท.6เดือนชูยิลด์3.20%ต่อปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 7, 2012 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--กรุงไทย นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่าย 2 กองทุนตราสารหนี้ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน โดยกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ บี 41 ( KTSUP B 41 ) เปิดจำหน่ายในวันที่ 8-14 สิงหาคม 2555 อายุ 6 เดือน มูลค่า 5,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้ต่างประเทศ ได้แก่ เงินฝากประจำ Standard Chartered Bank ( Hong Kong ) Ltd , เงินฝากประจำ Bank of China สาขามาเก๊า ในสัดส่วน 44% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และส่วนที่เหลือลงทุนตราสารในประเทศ ได้แก่ เงินฝาก ตราสารการเงินระยะสั้นธนาคารพาณิชย์ไทย ตั๋วแลกเงินบริษัทเอกชน และพันธบัตรภาครัฐ ผลตอบแทนประมาณ 3.20% ต่อปี โดยเงินลงทุนในต่างประเทศจะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่าย รอบใหม่ ของกองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 3 เดือน 2 (KTSIV3M2 ) ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2555 อายุ 3 เดือน เน้นลงทุนในเงินฝาก / บัตรเงินฝาก/ตั๋วแลกเงินของธนาคารธนชาต และธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ในสัดส่วน 43% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในตั๋วแลกเงินของภาคเอกชน ที่มีอันดับเครดิต ตั้งแต่ BBB+ ขึ้นไป ผลตอบแทนประมาณ 2.90% ต่อปี สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ยังอยู่ในช่วงการปรับฐาน และขายทำกำไร ภายหลังการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ระดับ 3% ทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารระยะกลางถึงยาวปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตราสาหนี้ อายุ 3-12 เดือน ปรับตัวลง 1-3 bp คาดว่า เกิดจากการปรับพอร์ตเพื่อพักเงินลงทุนในช่วงอายุดังกล่าว ในส่วนของวิกฤตหนี้ยุโรป ล่าสุดหลังจากการประชุมของFED และ ECB ทำให้ตลาดการเงินค่อนข้างผิดหวังกับผลการประชุมที่รายงาน ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ชะลอลงในปีนี้ และไม่มีการเสนอมาตรการที่ชัดเจนที่จะกระตุ้นทางการเงินครั้งใหม่ ส่งผลให้การประเมินแนวโน้มค่าเงินบาท มีโอกาสแกว่งตัวผันผวนและอ่อนค่าลง ดังนั้น การลงทุนในกองทุนประเภทกำหนดอายุโครงการ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อล็อคผลตอบแทนสำหรับการลงทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ