ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ชุดปัจจุบัน และจัดอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกัน วงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท “บ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น” ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2012 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ไทคอนอินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า อย่างไรก็ตาม วิกฤติหนี้ในยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าได้ต่อไป แม้ธุรกิจโรงงานให้เช่าจะอ่อนตัวลงบ้างในช่วงนี้ แต่พื้นที่เช่ารวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจคลังสินค้า ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทย โดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ เดือนมิถุนายน 2555 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 110 แห่ง และมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 76 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 584,067 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในช่วงปี 2548-2553 รายได้หลักของบริษัท (65%) มาจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ 27% ของรายได้มาจากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า ในระหว่างปี 2548-2553 บริษัทมีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจีสติคส์ (TLOGIS) ประมาณ 1,500-2,200 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลดลงเหลือ 944 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ณ เดือนมิถุนายน 2555 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นยังคงเป็น บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (21.5%) กลุ่มผู้บริหารของบริษัท (7.4%) และกลุ่มซิตี้เรียลตี้ (6.4%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการใช้ทีมงานก่อสร้างของบริษัทเอง ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากระจายตัวในทำเลต่าง ๆ 10 แห่งและคลังสินค้าให้เช่าอีก 7 แห่ง รายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่าบริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทย ณ เดือนมีนาคม 2555 บริษัทและ TFUND มีส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่โรงงานให้เช่ารวม 62.2% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นอย่างมาก โดยคู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (13.5%) บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (10.7%) บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (7.1%) และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (6.5%) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 แม้ว่าความต้องการพื้นที่โรงงานให้เช่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่อัตราการย้ายออกของผู้เช่าในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยมีสัดส่วนที่สูงกว่า ทำให้พื้นที่โรงงานให้เช่ารวมของบริษัทไทคอนอินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นลดลง หากไม่รวมการขายโรงงานให้เช่าพื้นที่รวม 35,725 ตร.ม. เข้า TFUND ในเดือนมีนาคม 2555 พื้นที่โรงงานให้เช่าของบริษัทจะลดลงในอัตรา 21% จาก 387,515 ตร.ม. ณ สิ้นปี 2554 เป็น 342,165 ตร.ม. ณสิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ในทางตรงกันข้าม ความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเติบโตอย่างมาก โดยพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทเติบโต 35% จาก 205,352 ตร.ม. ณ สิ้นปี 2554 เป็น 277,627 ตร.ม. ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจคลังสินค้าช่วยลดผลกระทบจากธุรกิจโรงงานให้เช่าที่อ่อนตัวลง หากไม่นับรวมการขายสินทรัพย์เข้า TFUND ในเดือนมีนาคม 2555 บริษัทมีพื้นที่ให้เช่ารวมเพิ่มขี้นสุทธิ 5% หรือเพิ่มขี้น 26,925 ตร.ม. ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 แม้บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นจะสูญเสียรายได้ค่าเช่าจำนวน 73 ล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 จากเหตุอุทกภัย แต่รายได้ค่าเช่ารวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีรายได้รวม 1,303 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 116% ทั้งนี้ รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 762 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ลดลงจาก 67% ในครึ่งแรกของปี 2554 เป็น 51% ในครึ่งแรกของปีนี้โดยมีสาเหตุหลักมาจากโครงสร้างรายได้ที่ไม่เหมือนกัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการให้เช่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีต้นทุนการให้เช่าเพิ่มขึ้นจำนวน 52 ล้านบาทจากค่าซ่อมแซมโรงงานและคลังสินค้าที่ประสบอุทกภัย ภาระหนี้รวมของบริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นเพิ่มขึ้นจาก 6,176 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 เป็น 10,476 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 การเพิ่มขี้นของภาระหนี้เป็นผลมาจากความต้องการเงินทุนในการขยายกิจการของบริษัทเพื่อรองรับความต้องการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในภาคตะวันออก ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 63.9% ณ เดือนมิถุนายน 2555 จาก 52.5% ในปี 2553 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนดังกล่าวคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นหากบริษัทสามารถขายสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 3,500-3,700 ล้านบาทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และเพิ่มทุนประมาณ 976 ล้านบาทได้สำเร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 การฟื้นตัวของภาคการผลิตหลังอุทกภัยช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น มูลค่าโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่ารวมสูงถึง 478.5 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้นถึง 98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรปอาจส่งผลลบต่อการส่งออกและการลงทุน แต่ผลกระทบดังกล่าวน่าจะผ่อนคลายลงจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย โดยประเทศไทยยังคงน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างประเทศสำหรับการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากประเทศไทยยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศและมีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี อีกทั้งยังอยู่ในทำเลที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันโดยเฉพาะในขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะเกิดขึ้นด้วย ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A อันดับเครดิตตราสารหนี้: TICON128A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A TICON141A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ A TICON155A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A TICON165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 คงเดิมที่ A TICON171A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A TICON177A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A TICON187A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 350 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 คงเดิมที่ A หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ