สส. มุ่งปลุกจิตสำนึกเยาวชน ดึงโรงเรียนทั่วประเทศสร้างแนวร่วมศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา

ข่าวทั่วไป Wednesday July 28, 2004 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นายสุวัช สิงหพันธุ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ให้การสนับสนุนแก่โรงเรียนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาที่มีความพร้อม เพื่อจัดตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาระดับจังหวัด ในการทำหน้าที่เสมือนเป็นเครือข่ายการส่งเสริมและพัฒนางานสิ่งแวดล้อมศึกษาในระดับจังหวัด โดยจะผ่านการประสานงานระหว่างโรงเรียน ชุมชน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งให้เยาวชนเกิดความรู้ จิตสำนึก รวมถึงทักษะในการปฏิบัติและดำรงชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับความคืบหน้าของโครงการศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาระดับจังหวัดที่ได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันนั้น พบว่ามีศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาระดับจังหวัดทั้งสิ้น 59 ศูนย์ ใน 50 จังหวัด โดยรูปแบบการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมฯ ได้ประสานงานผ่านหน่วยศึกษานิเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กรมสามัญศึกษาเดิม) เขตการศึกษา 2, 3, 4, 5, 7, 8, 9 และ 11 ในการติดตามดูแล และสนับสนุนงานของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละเขตการศึกษา
ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่หลักของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาจังหวัด ประกอบด้วย 4 ภารกิจหลักคือ
1. พัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน
2. ส่งเสริมและพัฒนาเทคนิคการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการจัดกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา หลักสูตร คู่มือ และสื่อการสอนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น
3. ส่งเสริมและพัฒนางานสิ่งแวดล้อมศึกษาร่วมกับชุมชนและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้มีการดำเนินงานในลักษณะเครือข่าย และ
4. เป็นศูนย์บริการสื่อการฝึกอบรม และอุปกรณ์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาแก่สถาบันและชุมชนในจังหวัด
นายสุวัช กล่าวว่า หลังจากที่มีการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ระบบการศึกษาของไทยได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยยึดหลักผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งบทบาทของครูจะเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ในขณะที่หลักการและเป้าหมายของสิ่งแวดล้อมศึกษามีกระบวนการมุ่งพัฒนาคุณภาพคนให้มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักและรับผิดชอบต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายและเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
ดังนั้นจึงถือได้ว่าสิ่งแวดล้อมศึกษามีความสอดคล้องและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษา--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ