กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดของบริษัทในฐานะผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย ตลอดจนปริมาณการใช้บริการธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดต่างประเทศ รวมถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจสื่อสารของบริษัทในภูมิภาคอินโดจีนที่อ่อนตัวลง และกฎระเบียบที่ซับซ้อนในธุรกิจสื่อสารดาวเทียม ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ รวมทั้งยังคงรักษาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ การดำเนินกลยุทธ์เพื่อการเติบโตทางธุรกิจในอนาคตนั้นควรกระทำด้วยความระมัดระวังโดยไม่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยคมซึ่งเดิมชื่อ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการการสื่อสารด้วยดาวเทียมแบบวงโคจรค้างฟ้าจำนวน 2 ดวง โดยเป็นดาวเทียมแบบทั่วไป 1 ดวง คือ ไทยคม 5 และดาวเทียมบรอดแบนด์ 1 ดวง คือ ไทยคม 4 หรือรู้จักในชื่อไอพีสตาร์ รวมทั้งลงทุนผ่าน Shenington Investments Pte Ltd. ใน Mfone Co., Ltd. (Mfone) และ Lao Telecommunications Co., Ltd. (LTC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการสื่อสารในประเทศกัมพูชาและลาวตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมในธุรกิจอินเทอร์เน็ตและสื่อด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปี 2554 รายได้ของบริษัทไทยคมเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.3% มาอยู่ที่ 7,254 ล้านบาท และเติบโตเพิ่มขึ้น 21.5% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555 โดยรายได้จากดาวเทียมแบบทั่วไปคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของรายได้รวม ในขณะที่ดาวเทียมไอพีสตาร์สร้างรายได้ 45% รายได้ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจสื่อสาร อินเทอร์เน็ต และสื่อ ฐานลูกค้าในส่วนของบริการดาวเทียมทั่วไปของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนฐานลูกค้าบริการดาวเทียมไอพีสตาร์ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินเดีย
สถานะธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทไทยคมเป็นผลมาจากสถานะความเป็นผู้นำในการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารดาวเทียมในประเทศ ความต้องการใช้ช่องโทรทัศน์ที่เติบโตสื่อถึงปัจจัยบวกที่มีต่อคุณภาพอันดับเครดิต โดยจำนวนช่องโทรทัศน์เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 358 ช่องในปี 2553 เป็น 427 ช่องในปี 2554 และ 452 ช่อง ณ ปลายเดือนมีนาคม 2555 ส่วนความสามารถในการแข่งขันนั้นบริษัทได้รับแรงหนุนจากลักษณะของธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าได้ยาก ตลอดจนการมีตำแหน่งวงโคจรที่จำกัด เงินลงทุนที่สูง ขั้นตอนของกฎระเบียบที่ซับซ้อน และความต้องการในการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ บริษัทยังถือเป็นผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมที่สำคัญรายหนึ่งในเอเซียแปซิฟิก และทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการรายสำคัญที่ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ ธุรกิจดาวเทียมเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากการทำสัญญาระยะปานกลางถึงระยะยาว
เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 1 และไทยคม 2 ได้ปลดระวางไปแล้วระหว่างปี 2552-2553 บริษัทไทยคมจึงอนุมัติการลงทุนในดาวเทียมแบบทั่วไปดวงใหม่ 2 ดวง คือดาวเทียมไทยคม 6 และดาวเทียมไทยคม 7 ดาวเทียมไทยคม 6 คาดว่าจะถูกปล่อยสู่วงโคจรในกลางปี 2556 ที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก ครอบคลุมเอเซียอาคเนย์และทวีปอาฟริกา โดย ณ เดือนมีนาคม 2555 บริษัทขายช่องรับส่งสัญญาณดาวเทียมไทยคม 6 ล่วงหน้าได้ประมาณ 15% ของความจุทั้งหมด ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 จะถูกปล่อยสู่วงโคจรที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกในปี 2557 ครอบคลุมพื้นที่เอเซียอาคเนย์ เอเซียใต้ และออสเตรเลีย ดาวเทียม 2 ดวงนี้จะเพิ่มความจุช่องรับส่งสัญญาณ 40 ช่อง มูลค่าการลงทุนของดาวเทียมไทยคม 6 คิดเป็นประมาณ 160.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ มูลค่าการลงทุนของดาวเทียมไทยคม 7 คิดเป็นประมาณ 171 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยจ่ายชำระเป็นงวดรายปีตลอดอายุการใช้งานดาวเทียม ทั้งนี้ เงินลงทุนสำหรับดาวเทียมไทยคม 6 ใช้เงินกู้จากธนาคารเป็นหลัก ในขณะที่ดาวเทียมไทยคม 7 จะอยู่ในรูปแบบสัญญาความร่วมมือในการรักษาตำแหน่งวงโคจรที่ 120 องศาตะวันออก และการจัดสร้างดาวเทียมเพื่อให้บริการร่วมกับบริษัท Asia Satellite Telecommunications Co., Ltd. (AsiaSat)
บริษัทไทยคมเน้นการขายช่องสัญญาณบรอดแบนด์จำนวนมากให้แก่บริษัทสื่อสารต่าง ๆ โดยในปี 2554 มีการทำสัญญาและใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์เพิ่มขึ้นในประเทศออสเตรเลีย มาเลเซีย และพม่าเป็นหลัก โดยอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์เพิ่มขึ้นจาก 15.6% ในปี 2553 เป็น 24.6% ในปี 2554 คาดว่าผลการดำเนินการของไอพีสตาร์ในปี 2555 จะปรับตัวดียิ่งขึ้นเนื่องจากบริษัทได้ลงนามในสัญญากับลูกค้าใหม่จากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อนาคตของดาวเทียมไอพีสตาร์ยังมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของรายได้และระยะเวลาจากตลาดในประเทศจีนอยู่เนื่องจากบริษัทได้จัดสรรความจุของช่องสัญญาณไอพีสตาร์สำหรับประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันไอพีสตาร์ให้บริการ Mobile Backhaul สำหรับโครงข่าย CDMA ในจำนวนไม่มากนักในมณฑลซินเจียง ทั้งนี้ บริการไอพีสตาร์ที่ใช้เวลาในการสร้างตลาดในประเทศหลัก ๆ นานกว่าที่คาดเอาไว้ยังคงเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิต
ในปี 2554 และไตรมาสแรกของปี 2555 รายได้จากธุรกิจสื่อสารในลาวและกัมพูชาคิดเป็น 16% ของรายได้รวมของบริษัทไทยคมเทียบกับในอดีตที่เคยสร้างรายได้มากกว่า 20% รายได้ที่ลดลงเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งส่งผลทำให้การทำกำไรของธุรกิจนี้อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะมีข้อสรุปในการแก้ปัญหาธุรกิจสื่อสารในอนาคตอันใกล้นี้
ความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทไทยคมอยู่ในระดับปานกลางและบริษัทมีสภาพคล่องในระดับที่รับได้ อัตราส่วนกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจาก 29.3% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 39% ในปี 2554 และ 41% สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555 ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจดาวเทียมบรอดแบนด์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และรายได้ที่แข็งแกร่งจากธุรกิจการให้บริการดาวเทียมแบบทั่วไป ในขณะที่การดำเนินงานของธุรกิจสื่อสารอ่อนตัวลง คาดว่าอัตรากำไรจะปรับตัวดีขึ้นอีกเมื่อบริการไอพีสตาร์ในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1,479 ล้านบาทในปี 2553 มาอยู่ที่2,298 ล้านบาทในปี 2554 และอยู่ที่ 629 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555 ระดับภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นโดยวัดจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่เพิ่มขึ้นจาก 36.6% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 42% ณ ปลายเดือนมีนาคม 2555 โดยภาระหนี้สินดังกล่าวเกิดจากความต้องการใช้เงินทุนเพื่อลงทุนในดาวเทียมไทยคม 6 เป็นหลัก ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงระยะปานกลางระดับภาระหนี้ของบริษัทไม่น่าจะลดลงเนื่องจากบริษัทได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ AsiaSat เพื่อสร้างดาวเทียมไทยคม 7 ทั้งนี้ วิธีปฏิบัติของทริสเรทติ้งจะคิดมูลค่าปัจจุบันสุทธิของเงินลงทุนสำหรับดาวเทียมไทยคม 7 ให้เป็นภาระหนี้เมื่อดาวเทียมไทยคม 7 เริ่มดำเนินงาน นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังพิจารณาที่จะลงทุนในดาวเทียมแบบทั่วไปดวงใหม่อีก 2 ดวงตามแผนการเติบโตด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นหลังจากมีการรับรู้รายได้จากดาวเทียมดวงใหม่และรายได้จากดาวเทียมไอพีสตาร์มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังให้บริษัทดำเนินตามนโยบายการเงินที่เข้มงวดและแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีสำรองทางการเงินที่เพียงพอ
บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
THCOM12NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ BBB+
THCOM14NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)