ธนาคารกรุงไทย ชี้แจงผลประกอบการและสาเหตุการจัดชั้นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday July 28, 2004 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--ธ.กรุงไทย
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2547 ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตลอดจนปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญนั้น ธนาคารใคร่ขอชี้แจงเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
1. ธนาคารมีฐานะการเงินที่มั่นคงโดยครึ่งปีแรกนี้ธนาคารมีกำไรสุทธิ 6,806 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 1,587 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2546 ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 3,250 ล้านบาท เทียบกับการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 3,541 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจุบันธนาคารมียอดสำรองหนี้สงสัยจะสูญทั้งสิ้น 62,062 ล้านบาท เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 8.8 โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่หนึ่งร้อยละ 8 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานความพอเพียงของทุนที่ทางการกำหนด ธนาคารมั่นใจว่าจะยังคงมีความสามารถในการสร้างกำไรอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี
2. ธนาคารกรุงไทยได้ตั้งสำรองหนี้สูญส่วนเกินจากเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยมาโดยตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โดยยึดหลักความรอบคอบระมัดระวังเผื่อกรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ได้ผ่านกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งแม้จะปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดก็ตาม นอกจากกลุ่มลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ธนาคารยังมีสำรองส่วนเกินไว้อีกจำนวนหนึ่งสำหรับสินเชื่อทั่ว ๆ ไป
3. การจัดชั้นลูกหนี้ที่ทำให้แสดงยอดเอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้นในครั้งนี้เกิดจากการหารือร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคาร การตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งล่าสุด ได้ใช้เกณฑ์ดุลยพินิจที่เข้มงวดมากขึ้นในการจัดชั้นลูกหนี้ให้เป็นหนี้สงสัยจะสูญ แม้ว่าลูกหนี้จะยังชำระหนี้เป็นปกติ ดุลยพินิจที่เข้มงวดนี้เป็นการมองคาดการณ์ในอนาคตว่าอาจมีเหตุการณ์หรือปัจจัยที่จะทำให้ลูกหนี้บางรายไม่สามารถชำระหนี้ได้เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
4. เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นจากการจัดชั้นลูกหนี้ที่เข้มงวดขึ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของธนาคารในงวดนี้ เพราะธนาคารได้ใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดในการตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญส่วนเกินมาก่อนหน้านี้แล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงเป็นการโอนสำรองหนี้สูญส่วนเกินเข้าสู่สำรองลูกหนี้รายตัว
5. ยอดเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นลูกหนี้ที่ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่รับโอนมาจากธนาคารมหานคร อีกครึ่งหนึ่งเป็นลูกหนี้ทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยลูกหนี้ขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายราย และไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการรากหญ้าของรัฐบาลแต่อย่างใด
6. การพิจารณาการให้สินเชื่อของธนาคาร ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเข้มงวดมีกระบวนการอนุมัติเป็นองค์คณะกรรมการแต่ละระดับ และได้มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง การจัดชั้นประเภทลูกหนี้และการตั้งสำรองที่ผ่านมา ธนาคารได้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานตามช่วงเวลานั้น ๆ ที่ทางการกำหนด เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือและต้องการเพิ่มหลักเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้น โดยเพิ่มดุลยพินิจในการพิจารณาความเสี่ยงเชิงคุณภาพในการจัดชั้นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ และต้องการให้ธนาคารกรุงไทยดำเนินการเป็นตัวอย่างในการใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อเตรียมตัวรับมือกับมาตรฐานสากลตามกรอบ Basel II ธนาคารกรุงไทยจึงเห็นด้วยและจะถือปฏิบัติต่อไป โดยจะมีการติดตามและหารืออย่างใกล้ชิดกับทางการ
7. ตามที่หนังสือพิมพ์บางฉบับได้เสนอข่าวและตีพิมพ์บัญชีรายชื่อและข้อมูลต่าง ๆ ที่อ้างว่าเป็นลูกค้าของธนาคารกรุงไทยนั้น ธนาคารขอเรียนว่าธนาคารไม่มีนโยบายที่จะเปิดเผยรายชื่อและข้อมูลลูกค้า เพราะเป็นข้อมูลทางธุรกิจระหว่างธนาคารและลูกค้าที่ไม่พึงเปิดเผย ส่วนข้อมูลที่อ้างถึงธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่พึงเปิดเผยของราชการ ธนาคารจึงไม่ทราบแหล่งที่มาและข้อเท็จจริงของ
บัญชีรายชื่อและข้อมูลตามที่ปรากฏเป็นข่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สำนักคณะกรรมการธนาคารและผู้ถือหุ้น
สายงานนโยบายและกำกับ
โทร. 0-2208-4139,4146-7--จบ--
--อินโฟเควสท์ (กภ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ