กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและผลักดันการส่งออกรายสินค้า(สินค้าอาหาร)ครั้งที่ 1 ว่า ที่ประชุมพิจารณาปัญหาฯ 5 กลุ่มสินค้าอาหาร โดยแยกเป็นประเด็นปัญหา แนวทางแก้ไขที่ชัดเจน มีการบูรณาการและวางแผนในระยะสั้น กลางและยาวอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาราคาและผลผลิตให้มีเสถียรภาพ สุขอนามัยพืช แรงงาน การเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาด เป็นต้น
“มาตรการในแต่ละช่วง อาจจะไม่เห็นผลในเวลาอันสั้น แต่จะวางแผนเพื่อตัดวงจรของปัญหา เพื่อลดการเกิดซ้ำอีก โดยจะเสนอให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ พิจารณา และรายงานให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแก้ไขต่อไป และในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ จะประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ”นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้สินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ผู้แทนสมาคมเสนอปัญหาเร่งด่วนเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะอากาศร้อนในสหรัฐอเมริกาทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืองเพิ่มสูงขึ้น จึงขอเสนอยกเว้นภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็นการชั่วคราว และในระยะยาวภาคเอกชนได้เสนอให้มีการศึกษาวิจัยพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูงขึ้น ส่งเสริมการใช้เออีซี สร้างพันธมิตรทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็นฐานการผลิตและเป็นแหล่งวัตถุดิบทดแทน ควรผลักดันให้มีการส่งออกไก่สดไปยังตลาดต่างๆ ที่ได้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาด้านนี้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ในระยะกลางผลักดันให้หน่วยงานตรวจสอบของประเทศผู้นำเข้าหลักยอมรับระบบ Compartment ของไทย การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปิดตลาด
สินค้ากุ้งแช่แข็งและแปรรูปข้อเสนอเร่งด่วน คือ การขยายและผลักดันการส่งออกกุ้งไปยังตลาดศักยภาพอื่นๆ เป็นการทดแทน เช่น รัสเซียและตะวันออกกลาง ใช้แรงงานต่างด้าวได้ตามความจำเป็นและอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนโดยไม่มีกำหนดช่วงเวลา สนับสนุนให้มีการจัดทำราคากลางมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงในการรับซื้อกลางส่งออกกุ้งในแต่ละตลาด การผลักดันการเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและสร้างความแตกต่างเพื่อสร้างความต้องการในการบริโภค การเจรจากับสหรัฐฯเพื่อไม่ให้สหรัฐ โยงเรื่องการส่งออกกุ้งที่จับได้จากแหล่งธรรมชาติเข้ากับการส่งออกกุ้งเพาะเลี้ยงและให้ไทยส่งออกกุ้งที่จับได้จากเครื่องมือประมงที่ไม่ใช้เครื่องจักกรกล(อวนลอยกุ้ง)ในปริมาณอย่างน้อย 4,000 ตันต่อปี การสนับสนุนการให้บริการด้านห้อง Lab ของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนให้มีความสะดวกรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ในระยะยาวส่งเสริมวิจัยพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำให้เป็นทางเลือก จัดระบบ
คัสเตอร์กุ้ง เพื่อวางแผนการผลิต การตลาดให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ราคากุ้งมีเสถียรภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงกุ้งมีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อยกระดับการผลิต ขอให้จัดระบบแรงงานต่างด้าวให้รัดกุมเพื่อเอื้อต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
สินค้าผักและผลไม้ข้อเสนอเร่งด่วน คือ ขอให้ภาครัฐจัดหาตลาดใหม่ ซึ่งกรมฯได้ดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อขยายตลาดในช่วงที่มีผลผลิตปริมาณมาก การอนุญาตแรงงานต่างด้าวในภาคการเกษตรให้เอื้อต่อการขึ้นทะเบียน โดยไม่กำหนดระยะเวลา ในระยะกลาง ผลักดัน GAP เป็นมาตรฐานบังคับสำหรับเกษตรกรที่อยู่ใน Supply chain การผลิต/การส่งออกผักผลไม้ และอาหารสำเร็จรูป พร้อมกับการวางนโยบายเกี่ยวกับเขตพื้นที่เฉพาะ(โซนนิ่ง)สำหรับแหล่งผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานให้เป็นรูปธรรมและมีความสมดุล เพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอสำหรับการแปรรูป ตลอดจนรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ เป็นต้น ในระยะยาว ส่งเสริมให้เกษตรกรให้ความรู้ความเข้าใจด้านการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสากล ตลอดจนส่งเสริมการนำนวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืชและสารตกค้าง ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต ทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดการพึ่งพิงแรงงาน
สินค้าอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เรื่อง ปลาทูน่า ผู้ประกอบการขอให้กรมประมงประสานไปยังอียู เพื่อการรับรองซีเอจากอียู ให้แก่ประเทศผู้ส่งออกสัตว์น้ำให้แก่ไทย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพีเอ็นเอ ได้แก่ ไมโครนีเซีย มาแซลไอส์แลนด์ คิริบาติ วานูอาตู ปล่าแมคเคอเรล ขอลดภาษีจาก 5% เป็น 0% ปูม้า ขอให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าในสินค้าสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก เพื่อทดแทนการขาดแคลนวัตถุดิบภายในประเทศ เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์การส่งออก 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.)ของปีนี้ การส่งออกอาหารมีมูลค่า 8,779 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.8% ประกอบด้วยสินค้าสำคัญ 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ส่งออกมูลค่า 2,429 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 11% กุ้งแช่แข็งและแปรรูป 1,329 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ลดลง 8% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป 1,079 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า17% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป 1,522 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 4% และอาหารอื่นๆ เช่น สิ่งปรุงรส เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าว เป็นต้น มูลค่า 2,419 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 20%
โดยปี 2554 มูลค่าส่งออกสินค้าอาหาร 17,895 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24 % ทั้งนี้ตลาดสำคัญเรียงตามมูลค่า อันดับ1 ได้แก่ ญี่ปุ่น 1,791 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น10.2% รองลงมาเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ พม่า จีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย เยอรมนี กัมพูชา และแคนาดา