ทิศทางราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้นสร้างความกังวลแก่ภาคเอกชนซ้ำปัญหาสินค้าคู่แข่งตีตลาด

ข่าวทั่วไป Thursday July 29, 2004 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ส.อ.ท.
ทิศทางราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงขึ้นสร้างความกังวลแก่ภาคเอกชนซ้ำปัญหาสินค้าคู่แข่งตีตลาด ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 14 เดือน
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index : TISI) ในเดือนมิถุนายน 2547 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 420 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 30 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาห-กรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2546 มาอยู่ที่ 97.1 จาก 101.8 ในเดือนพฤษภาคม 2547 ที่ผ่านมา สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดต่ำลง เนื่องมาจากค่าดัชนีแทบทุกปัจจัยที่นำมาใช้คำนวณปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คือค่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ต้นทุนการประกอบการ และกำไรสุทธิ ลดลงจาก 123.3 125.8 50.2 และ 106.7 เป็น 121.8 121.1 48.3 และ 102.9 ในเดือนมิถุนายน 2547 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเพียงตัวเดียวที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อปริมาณการผลิต เพิ่มขึ้นจาก 120.8 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 122.7 ในเดือนมิถุนายน และในอนาคตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ผู้ประกอบการเห็นสอดคล้องกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ยอดคำสั่งซื้อของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เกิดจากท่าทีของรัฐบาลที่อาจจะลดภาระการตรึงราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด จนอาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าได้รับผลกระทบและมีการปรับตัวขึ้นในที่สุด ซึ่งราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งการแข่งขันภายในประเทศเอง และการแข่งขันกับอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งส่งสินค้าหลายประเภทเข้ามาตีตลาดและขายสินค้าตัดราคาสินค้าภายในประเทศอย่างมาก ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเห็นว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องราคาน้ำมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา นอกจากนี้รัฐบาลควรมีมาตรการแก้ไขเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และทบทวนเรื่องภาษีนำเข้าวัตถุดิบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อที่ผู้ประกอบการจะสามารถตั้งราคาขายให้สามารถแข่งขันกับสินค้าคู่แข่งได้ ตลอดจนมีมาตรการในการกีดกันการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่จะเข้ามาแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อเป็นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมในประเทศ
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละปัจจัยที่เหลือ มีค่าต่อไปนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงในเดือนมิถุนายน 2547 ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ และราคาขาย ลดลงจากจาก 127.5 133.4 127.9 137.7 และ 109.7 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 117.9 122.6 117.4 122.2 และ 106.6 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อการจ้างงาน การใช้กำลังการผลิต การลงทุนของกิจการท่าน และสินเชื่อในการประกอบการที่ได้รับ ลดลงจาก 106.9 115.2 110.6 และ 107.4 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 101.1 112.2 103.5 และ 99.5 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาพคล่องของกิจการ ความสามารถในการแข่งขันในประเทศ และความสามารถในการแข่งขันในต่างประเทศ ลดลงจาก 120.7 112.6 และ119.6 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 110.2 108.1 และ 113.7 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ นอกจากนี้ค่าดัชนีสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และต่อสภาวะของการประกอบการของกิจการ ลดลงจาก 122.1 125.8 และ 126.8 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 119.5 112.6 และ 114.8 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ สำหรับค่าดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าดัชนีหลักมีเพียงปัจจัยเดียว ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อสินค้าคงเหลือ เพิ่มขึ้นจาก 117.4 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 118.8 ในเดือนมิถุนายน
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกในตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภา อุตสาหกรรมฯ จำนวน 30 กลุ่ม พบว่า ค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤษภาคมกับเดือนมิถุนายน 2547 มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งในกลุ่มที่ปรับตัวลดลง มี 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลดลงจาก 77.1 เป็น 64.3 อุตสาหกรรมเคมี ลดลงจาก 115.7 เป็น 94.3 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ลดลงจาก 121.4 เป็น 108.1 อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงจาก 11.4 เป็น 94.3 อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น ลดลงจาก 100.0 เป็น 88.6 อุตสาหกรรมรองเท้า ลดลงจาก 95.7 เป็น 84.6 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ลดลงจาก 114.5 เป็น 97.1 อุตสาหกรรมสิ่งทอ ลดลงจาก 136.8 เป็น105.7 อุตสาหกรรมหนังและผลิต-ภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 13.0.0 เป็น 109.2 อุตสาหกรรมก่อสร้าง ลดลงจาก 102.7 เป็น 86.7 และอุตสาหกรรมอาหาร ลดลงจาก 115.7 เป็น 95.7 เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวลดลงอย่างมากส่วนใหญ่ผลิตสินค้าที่มีคู่แข่งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ส่งสินค้าเข้ามาทำราคาตีตลาดสินค้าภายในประเทศ ประกอบกับผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าวัตถุดิบ และค่าขนส่ง ที่มีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ในทางกลับกันมี 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก เพิ่มขึ้นจาก 97.1 เป็น 107.1 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง 85.7 เป็น 101.4 อุตสาหกรรมยา เพิ่มขึ้นจาก 90.5 เป็น 112.0 อุตสาหกรรมยานยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 101.4 เป็น 122.2 อุตสาหกรรมเหล็ก เพิ่มขึ้นจาก 78.6 เป็น 94.3 และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นจาก 80.0 เป็น 98.6 สำหรับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าดัชนีอุตสาหกรรมเซรามิกเนื่องจากในช่วงนี้รัฐบาลกำลังให้การสนับสนุนการทำคลัสเตอร์เซรามิกส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากยอดจำหน่ายยานยนต์สูงขึ้นจากกลยุทธ์ที่ค่ายรถต่างๆ ใช้จูงใจลูกค้า ประกอบกับประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ด้านค่าดัชนีอุตสาหกรรมยามีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นช่วงฤดูฝน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการยามารักษาอาการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น
ในด้านของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจการในแต่ละอุตสาหกรรม ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่าปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มในการเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างชัดเจนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ผู้ประกอบการเห็นว่าในอนาคตราคาค่าบริการสาธารณูปโภคโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการมากขึ้น
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการพบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 — 49 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2547 ที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 91.2 เป็น 92.0 สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 — 199 คน และขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบอุตสาหกรรมลดลง จาก 106.1 และ 111.4 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 97.5 และ 106.6 ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ ทั้งนี้ค่าดัชนีของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลางมีค่าดัชนีที่ได้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งสองขนาดมีความเชื่อมั่นในระดับที่ไม่ดี แต่ยังมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ในด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แม้ว่าค่าดัชนีจะมีทิศทางปรับตัวลดลงแต่ยังคงมีความเชื่อมั่นในระดับที่ดีอยู่
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ งานประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 , 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1295-9--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ