กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มประกาศความร่วมมือทางเทคโนโลยี ม.เกษตรฯ ผุดไทยกริดพอร์ทัลหนุนนักวิจัยยาชี้สมุนไพรไทยต้านเอดส์สามารถโกอินเตอร์
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เปิดตัวโครงการไทยกริดพอร์ทัลเพื่อการคิดค้นสูตรยา ( Thai Grid Drug Design Portal) ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ไอบีเอ็มได้มอบเครื่อง IBM eServer xSeries เซิร์ฟเว่อร์อินเทลเบสซึ่งใช้ชิป EM64T บนสถาปัตยกรรม 64 บิต อันทรงพลังให้แก่สถาบัน เพื่อใช้รันพอร์ทัลของระบบ ทั้งนี้ นักวิจัยชี้การใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลให้ความแม่นยำสูงช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่าย เพราะสามารถคัดสรรสารจำนวนมากให้เหลือเฉพาะที่มีแนวโน้มในการออกฤทธิ์สูง ซึ่งเป็นแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างสารจากธรรมชาติให้มีความสามารถในการเป็นยามากขึ้นด้วย ทั้งนี้ สารจากพืชสมุนไพรมีศักยภาพสูง หากมีกระบวนการในการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ ม. เกษตรศาสตร์เชื่อมั่นว่านักวิจัยไทยจะสามารถคิดค้นยาต้านไวรัสเอดส์สัญชาติไทยได้ในอนาคตอันใกล้
ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และเครือข่ายสื่อสารภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการไทยกริดพอร์ทัลเพื่อการคิดค้นสูตรยา หรือ Thai Grid Drug Design Portal เป็นส่วนหนึ่งของโครงการคัดสรรสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพด้วยระบบกริด (Virtual Screening With Grid System) ซึ่งมีขอบข่ายงานวิจัยประกอบด้วย
สองส่วน ได้แก่ โครงการจัดสร้างฐานข้อมูลสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งรวบรวมข้อมูลและโครงสร้าง
สามมิติของสารบริสุทธิ์ในสมุนไพรไทยที่มีการทำวิจัยทั้งในและต่างประเทศ
ในปัจจุบันนี้มีข้อมูลและโครงสร้างสามมิติของสารจากสมุนไพรไทยประมาณ 3,000 โครงสร้าง จากสมุนไพรกว่า 40 ชนิด และส่วนที่สองคือ โครงการคัดสรรสารออกฤทธิ์จากฐานข้อมูล โดยการสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อวิจัยสารออกฤทธิ์เพื่อยับยั้งโรคต่างๆ เช่น โรคเอดส์ ไข้หวัดนก เป็นต้น เริ่มจากการนำสารในฐานข้อมูลข้างต้นมาคัดสรรสารออกฤทธิ์ยับยั้งโรค โดยอาศัยระเบียบวิธีที่สามารถทำนายการออกฤทธิ์ได้อย่างแม่นยำในระดับสูง
“ขั้นตอนการวิเคราะห์และคัดสรรสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เนื่องจากมีขั้นตอนการคำนวณจำนวนมากและแต่ละขั้นตอนกินเวลาพอสมควร การใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวจะกินเวลานานมากจนไม่ได้ผลทันแก่เวลา ดังนั้น ศูนย์วิจัยระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ม. เกษตรศาสตร์ จึงได้นำเทคโนโลยีของระบบคลัสเตอร์และกริดเข้ามาช่วยเร่งเวลาการคำนวณ และใช้ระบบกริดมิดเดิลแวร์โกลบัสจากไอบีเอ็ม ในการกระจายงานประมวลผลออกไปยังโปรเซสเซอร์ดังกล่าว ทำให้สามารถดึงหน่วยประมวลผลที่มีอยู่มาใช้ได้แบบออนดีมานด์ “ ผศ.ดร.ภุชงค์ กล่าวเพิ่มเติม
นายธำรงค์ พงศ์ฐิติเทพ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจภาครัฐการเงิน และโทรคมนาคม บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึง ความร่วมมือในโครงการ “Thai Grid Drug Design Portal” กับ ม.เกษตรศาสตร์ว่า “ไอบีเอ็มมีบทบาทในการเป็นผู้นำเสนอเทคโนโลยีกริดคอมพิวเตอร์ พร้อมด้วยการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญ ความรู้ และประสบการณ์ในการวางระบบ โดยความร่วมมือหลักประกอบด้วย ไอบีเอ็มจะมีส่วนร่วมในการจัดสัมมนาให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกริดคอมพิวติ้งให้แก่องค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”
ทั้งนี้ ไอบีเอ็มจะมอบตำราเรียนด้านกริด IBM Grid Redbook คู่มือทางด้านกริดเทคโนโลยี จากผู้เชี่ยวชาญไอบีเอ็มให้แก่ทางมหาวิทยาลัยฯ เพื่อใช้เป็นสื่ออ้างอิงในการเรียนการสอน ให้กับนักศึกษาปริญญาโท และ เพื่อเป็นการสนับสนุนสถาบันการศึกษา ไอบีเอ็มได้มอบเซิร์ฟเว่อร์อินเทลเบสทรงพลัง IBM eServer xSeries เซิร์ฟเว่อร์อินเทลเบสซึ่งใช้ชิป EM64T (Extended Memory 64-bit Technology) บนสถาปัตยกรรม 64 บิต เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ใช้เป็นพอร์ทัลของเครือข่ายกริด เพื่อทำหน้าที่รับ-ส่งข้อมูลจากกลุ่มนักวิจัยยา ซึ่งมีปริมาณมากมายมหาศาลมายังเซิร์ฟเว่อร์พอร์ทัล จากนั้นพอร์ทัลจะจัดตารางการส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังโฮสต์เครื่องที่ยังว่างอยู่ (Grid Scheduler) และเมื่อโฮสต์คำนวณผลลัพธ์เสร็จ ก็จะส่งผลลัพธ์กลับมายังพอร์ทัล และรับฝากผลลัพธ์ของงานไว้จนกว่านักวิจัยจะมาดาวน์โหลดข้อมูลกลับไป”
“การนำเทคโนโลยีกริดมาใช้ในโครงการไทยกริดพอร์ทัลเพื่อการคิดค้นสูตรยา จะช่วยย่นระยะเวลาในการวิจัยและทำให้การคิดค้นสูตรออกแบบยาทำได้อย่างแม่นยำ เป็นโครงการที่สร้างจุดแข็งให้กับประเทศ ในการนำสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นของดีของชาติมาวิจัยให้เป็นรูปเป็นร่าง มีความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ สิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่สุดก็คือ โครงการดังกล่าวใช้เป็นต้นแบบของโครงข่ายระบบกริดแห่งชาติในอนาคต” นายธำรงค์ กล่าวเสริม
เกี่ยวกับเทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม
ไอบีเอ็มเป็นผู้นำและผู้ให้บริการเทคโนโลยีกริด โดยทำงานร่วมกับชุมชนระบบเปิดโกลบัส และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้ง ไปสู่การใช้งานในเชิงธุรกิจ โดยไอบีเอ็มเป็นผู้นำเสนอความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นในการสร้างและจัดการดูแล กริดคอมพิวติ้งแบบครบวงจร รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ http://www-1.ibm.com/grid/
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณกฤษณา ศิลประเสริฐ
โทรศัพท์: 0-2273-4639
อีเมล์: krisana@th.ibm.com--จบ--
--อินโฟเควสท์ (พห)--