กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและผลักดันการส่งออกรายสินค้า(สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ)ครั้งที่ 1 ว่า ที่ประชุมพิจารณาปัญหาในกลุ่มสินค้าอัญมณีฯ โดยแยกเป็นประเด็นปัญหาการผลิตกับการตลาด ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมสินค้ากลุ่มนี้แล้ว เมื่อรวมกับสินค้าสิ่งทอและอาหาร จะสรุปรวมและนำเสนอรมว.พาณิชย์ ภายในสิงหาคมนี้ เพื่อตัดวงจรของปัญหาและลดการเกิดซ้ำอีก ซึ่งรมว.พาณิชย์จะรายงานให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการต่อไป
ที่ประชุมได้หารือการผลักดันปัญหาด้านการผลิต-การตลาด และปัญหาภายในประเทศ โดยการผลิต แบ่งเป็น 5 หัวข้อ มีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การผลักดันยกเว้นภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบเพิ่มเติม อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องประดับเงิน แก้วเลดคริสตัลและแก้วคริสตัลอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง หลังจากที่ ครม. ได้เห็นชอบการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มวัตถุดิบอัญมณีแล้ว ปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ ได้แก่ การขาดแคลนแรงงงานฝีมือและการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้น ควรจัดทำหลักสูตรช่างฝีมือหลักสูตรเจียระไนและการออกแบบ ซึ่งในเบื้องต้นหอการค้าไทยจะรับเป็นเจ้าภาพ
“ปัญหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องนั้น เอกชนเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องการเงิน เช่น ประกันการส่งออก (Export Insurance) และธนาคารอัญมณี (Gems Bank) ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์การขอกู้เงินโครงการ Gems Bank ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบเอสเอ็มอี มีแหล่งเงินกู้ ส่วนในระยะกลาง ที่ภาคเอกชนเสนอการจัดตั้งโรงงานกลางเจียระไน คณะทำงานกลุ่มย่อยฯจะพิจารณาถึงความจำเป็นในหลายมิติ โดยเฉพาะหากเป็นโรงงานที่สามารถสร้างรายได้ได้ในอนาคต” นางนันทวัลย์ กล่าว
นอกจากนี้เอกชนเห็นว่าควรส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการแสวงหาวัตถุดิบกับประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรแร่อัญมณีที่สำคัญ เช่น แอฟริกา (โมซัมบิก แทนซาเนีย) และในเอเชีย (พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม) รวมถึงการสร้างพันธมิตรกับผู้ค้าวัตถุดิบในต่างประเทศ เป็นต้น การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตและการออกแบบเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสร้างความแตกต่าง
สำหรับปัญหาด้านการตลาดนั้น ประเด็นเร่งด่วน คือ ยกเว้นการเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มอัญมณีและเครื่องประดับ 1 เดือนก่อนงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ(บางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ 2012) ที่จะมีขึ้นในกลางเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศ การยกระดับงานแสดงสินค้า การสร้างแบรนด์และส่งเสริมภาพลักษณ์อัญมณีฯไทยในภาพรวมอุตสาหกรรม ตลอดจนการผลักดันการตรวจสอบรับรองและการออกใบรับรองของไทยว่ามีมาตรฐานระดับโลก
“ในเรื่องการยกระดับงานบางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ นั้น กรมส่งเสริมการส่งออกมีกำหนดจัดประชุมคณะอำนวยการงานแสดงสินค้าบางกอก เจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ ครั้งที่ 50 ในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือในการจัดรูปแบบกิจกรรม ที่จะช่วยดึงดูดงานลูกค้าและยกระดับงานแสดงสินค้าดังกล่าว” นางนันทวัลย์ กล่าว
ปัญหาการดำเนินการ อาทิ ขอให้กรมศุลกากรและตำรวจผ่อนปรนการตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออกอัญมณี ปัญหานักท่องเที่ยวไม่ได้รับความสะดวกในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เชื่อมั่นในการซื้อสินค้า ซึ่งแก้ไขได้ด้วยโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ การปรับปรุงกฎระเบียบการคืนแวตให้นักท่องเที่ยว เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์การส่งออก 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.)ของปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 5,833 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11% ซึ่งหากไม่รวมสินค้ากลุ่มทองคำ ยังไม่ได้ขึ้นรูป จะมีมูลค่า 3,238 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 3.3% แบ่งเป็น การส่งออกอัญมณี 1,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 11% เครื่องประดับแท้ 1,826 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ลดลง 0.5% เครื่องประดับเงิน 712 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 5.5% และทองคำยังไม่ขึ้นรูป 2,595 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ลดลง 24%
โดยปี 2554 มูลค่าส่งออกสินค้า 12,301 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.6 % ทั้งนี้ตลาดสำคัญเรียงตามมูลค่า ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ เบลเยี่ยม เยอรมนี ญี่ปุ่น ยูเออี สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย อิสราเอล และสหราชอาณาจักร