กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
รองเลขาธิการสช. มั่นใจมาตรการห้ามธุรกิจอาหารทารก จัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมในสถานบริการรัฐ ตามมติครม. เมื่อวานนี้ ช่วยสร้างสุขภาวะให้เด็กแรกเกิดดีขึ้น ชี้หลายประเทศรวมถึงเวียดนาม ออกกฎหมายคุมไปแล้ว ด้านคณะทำงานยกร่างพ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ระดมนักกฎหมายหวังเร่งคลอด กม.ให้ทันปลายปีนี้
จากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ได้เห็นชอบ "มาตรการกำกับดูแลการทำการตลาดและโฆษณานมสำหรับทารกและเด็กเล็ก" ตามที่นายวิทยา บุรณศิริ รมว.กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เสนอ โดยมุ่งไปที่การควบคุมและแก้ไขปัญหาการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายหรือทำการตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่ ซึ่งนับวันบริษัทผู้ผลิตจำหน่ายและนำเข้าจะมีการแข่งกันรุนแรงมากขึ้น
โดยเนื้อหาของมาตรการที่ออกมา ได้ขอความร่วมมือให้สถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในกำกับและนอกกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้คือ 1.ไม่ส่งเสริมหรืออนุญาตให้มีกิจกรรมด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 2.ไม่อนุญาตให้บริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย เข้าไปสาธิตการใช้นมดัดแปลงสำหรับทารกและอาหารทารก 3.ไม่ควรรับบริจาคหรือขอรับการสนับสนุนใดๆที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่ 4.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ควรปกป้องและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และไม่ควรเป็นตัวแทนของผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายอาหารทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2553 ซึ่งเสนอให้ควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการโดยใช้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เป็นเครื่องมือ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. … ให้แล้วเสร็จภายในปี 2555
นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ครม.เคยให้ความเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ในปี 2553 ซึ่งเสนอให้ควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กแล้ว ดังนั้นการที่กระทรวงสาธารสุขได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและผลักดันร่างพ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการสาธารณสุข) เป็นประธาน มีหน้าที่ในการยกร่างพ.ร.บ.การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก โดยยึดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้ง ครม.ให้ความชอบมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเมื่อวานนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญและเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับเด็กทารกให้หันมาบริโภคนมแม่มากขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อาทิ ประเทศเวียดนาม ล่าสุดก็ได้มีการออกกฎหมายควบคุมการทำการตลาดสินค้า ที่เกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป ก็ได้มีมาตรการเพื่อควบคุมธุรกิจดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การดำเนินการของประเทศไทยครั้งนี้ จึงถือเป็นทิศทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับมาตรการในระดับสากล
รศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการพัฒนาและผลักดันร่างพ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้การยกร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาบทลงโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนและกำหนดว่าจะให้หน่วยงานใดมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้
คณะทำงานยกร่างพ.ร.บ. ได้เชิญนักกฎหมายจากต่างประเทศมาให้ความเห็น รวมถึงมีการนำตัวอย่างของกฎหมายที่ประเทศต่างๆ ซึ่งมีประสบการณ์ในการกำกับดูแลธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็กมาพิจารณาด้วย จากนั้นคณะทำงานจะร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย อาทิ จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยสอบทานความถูกต้องอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเสร็จทันภายในกำหนดปี 2555 อย่างแน่นอน
กฎหมายใหม่จะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดเกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก ที่ไม่อนุญาตให้มีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือส่งเสริมการขายในลักษณะโดยตรงถึงมารดาที่ตั้งครรภ์ หรือมารดาที่คลอดบุตรแล้ว เนื่องจากปัจจุบันพบการละเมิดอยู่มากและไม่มีกฎหมายใดๆเอาผิดได้
ด้าน พญ.นิพรรณพร วรมงคล หัวหน้ากลุ่มงานอนามัยแม่และเด็ก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายทำการตลาดอย่างไม่ถูกจริยธรรม เช่น ลดราคาผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่ถึง 30-40% ให้แก่โรงพยาบาล รวมถึงให้ทุนบุคลากรแพทย์ไปดูงานต่างประเทศ หรือให้ของขวัญกับแม่ที่เพิ่งคลอดบุตร ซึ่งท้ายที่สุดก็จะได้ประโยชน์ตอบแทนกลับมาคือการสั่งซื้อนมยี่ห้อนั้นๆ
“ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายด้านนมสำหรับเด็ก 1 คนค่อนข้างสูง คือไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการมุ่งเจาะตลาดโรงพยาบาลเพื่อให้สั่งซื้อนมยี่ห้อของตัวเอง หากทำได้ก็เท่ากับผูกขาดลูกค้าไปเรื่อยๆ จนกว่าเด็กทารกจะหย่านม เพราะเมื่อเด็กดื่มนมยี่ห้อใดตั้งแต่ต้นแล้ว หากเปลี่ยนแปลงภายหลังก็มีโอกาสท้องเสีย ท้ายที่สุดพ่อแม่ก็ต้องกลับมาใช้ยี่ห้อเดิม นั่นหมายถึงมูลค่าทางการตลาดที่มหาศาล” พญ.นิพรรณพรกล่าว
สำหรับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดให้ สธ.ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักนายกรัฐมนตรี กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาขยายสิทธิการลาคลอดจากเดิม 90 วัน เป็น 180 วันนั้น พญ.นิพรรณพร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้และมีการนำกฎระเบียบของต่างประเทศมาร่วมพิจารณาด้วย ถือว่ามาตรการนี้ยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนต้องพิจารณาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องความมั่นคงในการจ้างแรงงานหญิง หากให้สิทธิการลาได้ถึง 180 วัน หรือการจ่ายค่าจ้างระหว่างลาคลอดที่เป็นจริง หากแนวทางดังกล่าวไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ ก็จำเป็นต้องศึกษาทางเลือกอื่นหลายๆแนวทางควบคู่กันไป ที่จะเอื้อให้แรงงานหญิงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามมาตรฐานที่ควรเป็น