กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--สสวท.
การดำเนินงานช่วงแรกสิ้นสุดไปแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2554 กับการนำร่องโครงการการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เน้นวิทยาศาสตร์ ที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 4 แหล่งเรียนรู้ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช สุโขทัยและฉะเชิงเทรา ได้แก่ กศน. ต.ไสหร้า อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช, กศน. ต.ตะโกตาพิ อ. ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์, กศน. ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และ กศน. ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย
โดยปีที่แล้ว สสวท. ได้เดินทางไปศึกษาและสำรวจแหล่งเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่นกับโรงเรียน และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการครูในสังกัด กศน. ระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ที่โรงแรมรอแยลเบ็ญจา กรุงเทพฯ
ในปี พ.ศ. 2555 นี้ สสวท. และ กศน. ได้เดินหน้าต่อ โดยร่วมกันพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีชุมชนของศูนย์ กศน. ตำบลนำร่องทั้ง 4 แหล่งเรียนรู้ และเมื่อเร็วๆ นี้ได้เดินทางไป มอบสื่ออุปกรณ์ พร้อมทั้งไปติดตามผลและอบรมการใช้สื่อ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ในศูนย์นำร่องดังกล่าวทั้ง 4 จังหวัด
กิจกรรมการอบรมยังคงเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการใช้สื่อวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพในชุมชน ซึ่งมุ่งให้คุณครูที่ได้เข้ารับการอบรมนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลต่ออย่างเป็นรูปธรรม มีเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนและชุมชน
วันนี้เราพาไปที่ กศน. ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา หนึ่งในศูนย์นำร่องตามโครงการดังกล่าว ซึ่งได้จัดกิจกรรมอบรมครูเพื่อนำไปขยายผลสู่นักเรียนและชุมชน กิจกรรมครั้งนี้มีครู กศน. จังหวัดฉะเชิงเทราเข้ารับการอบรมจากทุกอำเภอ จำนวน 11 อำเภอ และที่มุ่งเน้นเป็นพิเศษ คือ ครู กศน. อำเภอพนมสารคามจากทุกตำบล จำนวน 8 ตำบล
กิจกรรมในครั้งนี้ สสวท. ได้นำสื่ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีมามอบให้แก่ศูนย์ กศน. ตำบลเกาะขนุน เพื่อจัดทำเป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ชุมชน พร้อมทั้งจัดเต็มอบรมครูด้านการใช้สื่ออุปกรณ์ที่มอบให้เพื่อให้นำไปใช้สอนนักเรียนและคนในชุมชนได้จริง อาทิ การอบรมเกี่ยวกับชุดกิจกรรมการออกแบบและเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชุมชน การออกแบบและต่อวงจรไฟฟ้าและวงจรอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น การใช้และดูแลรักษากล้องจุลทรรศน์ พร้อมทั้งวิธีการเตรียมสไลด์ดูเนื้อเยื่อใบพืช สื่อคณิตศาสตร์ที่เรียนรู้ได้เข้าใจง่ายและสนุก การดูท้องฟ้าในยามค่ำคืนและวิธีใช้แผนที่ดาว เป็นต้น
นางบังอร ฝ่ายสัจจา ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ก่อนที่จะจัดอบรม สสวท. และ กศน. ได้นำหลักสูตร กศน. แต่ละสาระมาพิจารณา และเชิญ ผอ กศน. จังหวัด ผอ. กศน. แต่ละอำเภอ วิทยากรท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และครู กศน. ศูนย์ต่าง ๆ มาร่วมเวทีประชาคม เพื่อให้ข้อเสนอแนะระดมความคิดเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะนำไปใช้อบรมครูให้สอดคล้องกับบริบทของฉะเชิงเทรา เพื่อเลือกกิจกรรมที่จะจัดอบรมครู โดยเลือกจากกิจกรรมพื้นฐานจำเป็นที่นักเรียน กศน. ควรจะต้องรู้ สิ่งที่เน้นคือ เรียนเสร็จแล้วเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือนำไปประกอบอาชีพได้ มีการใช้สื่อวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับชุมชน เช่น การทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักของชาวฉะเชิงเทรา จึงอยากให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับการเกษตร เช่น ปุ๋ยชีวภาพ พลังงานทดแทน นำไปใช้แล้วมีหลักการอย่างไร คุ้มหรือไม่ การทดสอบคุณภาพน้ำ มีกระบวนการอย่างไร ฉะเชิงเทรามีทั้งคลองและแม่น้ำ จึงอยากให้สอนนักเรียนเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้
“การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาของ กศน. โดยมากจะใช้สื่อ CD หนังสือ เอกสารประกอบ ต่าง ๆ แม้ว่าอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เบื้องต้นจะพอมีอยู่บ้าง เช่น หลอดทดลอง ตะเกียง แต่ครูไม่ค่อยได้ใช้ ครูบางท่านยังขาดความชำนาญในการออกแบบกิจกรรมและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ครู กศน. ส่วนใหญ่ไม่ได้จบมาทางวิทยาศาสตร์ นับเป็นโอกาสดีที่พวกเราได้รับความรู้ทางเทคนิคการจัดการเรียนการสอนจาก สสวท. เพื่อช่วยกันผลักดันการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
สำหรับแผนดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ชุมชนแห่งนี้ ผู้อำนวยการ กศน. จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้นโยบายว่า กศน. ทุกศูนย์จะต้องพานักเรียนมาเรียนรู้ที่ กศน. ตำบลฃเกาะขนุนในทุกภาคเรียน และมีการสร้างเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ชุมชนในอำเภอและจังหวัดฉะเชิงเทราก่อน แล้วค่อยขยายผลสู่จังหวัดต่าง ๆ เริ่มจากจังหวัดใกล้เคียง โดยใช้รูปแบบเดียวกัน
นางชนม์ปภา วงษา หรือ ครูต่าย คุณครูประจำศูนย์ กศน. ตำบลเกาะขนุน ซึ่งได้ร่วมเรียนรู้ทุกกิจกรรมที่ สสวท. จัดให้อย่างตั้งอกตั้งใจ กล่าวว่า “กิจกรรมที่ สสวท. นำมาอบรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนได้ทุกกิจกรรม นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต สื่ออุปกรณ์ที่ สสวท. นำมามอบให้จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้เข้าใจมากขึ้น มั่นใจว่าเมื่อนักเรียนได้เข้ามาเรียนรู้ จะได้แนวความคิด มุมมองใหม่ ๆ ที่นำไปใช้ได้จริง เช่น รูปทรงเรขาคณิต เทคนิคการคิดแบบคณิตศาสตร์ ความรู้สึกเชิงจำนวน เรื่องพลังงาน วงจรไฟฟ้า ถ้านักเรียนมีความใส่ใจในการเรียน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นช่างก็จะนำความรู้ที่ได้ไปดัดแปลงต่อยอดความคิด ประดิษฐ์ชิ้นงานได้ การเรียนรู้จากสื่อของจริงจะทำให้เขาสนุกมากขึ้น เรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบขึ้น”
ครูต่ายเล่าต่อไปว่า ศูนย์ กศน. ตำบลเกาะขนุนนี้มีครู 1 คน โดยหลักๆ จะสอนทุกวันอาทิตย์ ประมาณ 9 วิชาใน 1 วัน ต่อนักเรียนระดับประถมศึกษา ม.ต้น และ ม. ปลาย รวมทั้งหมด 120 คน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้จะเน้นให้นักเรียนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีการประสานกับเครือข่าย ผู้บริหารโรงเรียน องค์กรชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เปิดกว้างให้ กศน. ตำบลอื่นๆ มาเรียนรู้ร่วมกัน แผนงานที่วางไว้อีกอย่างหนึ่งคือ การทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ร่วมกับชุมชน เข้าไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ของชุมชน โดยใช้สื่อที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย ไม่แตกหักง่าย เช่น เกมคณิตศาสตร์ เกมวิทยาศาสตร์ ส่วนอุปกรณ์ที่เคลื่อนย้ายลำบาก จะทำเป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ชุมชน ก็จะให้นักเรียนทั้งในและนอกระบบเข้ามาเรียนรู้
นายนิพันธ์ ยอดนิล คุณครูประจำ กศน. ตำบลเมืองใหม่ ซึ่งรับบทหนัก ต้องสอนทุกวิชา ทุกวันอาทิตย์ กล่าวว่า ตำบลเมืองใหม่อยู่ไม่ไกลจากตำบลเกาะขนุน จึงสามารถพานักเรียนมาเรียนรู้ที่ศูนย์ ฯ นี้ได้สะดวก ชอบทุกกิจกรรมที่เข้ารับการอบรม วิทยากรถ่ายทอดได้เข้าใจ กิจกรรมต่าง ๆเหล่านี้ทำให้นักเรียนมีวิธีการคิดที่ดีกว่าสอนแบบใช้ตำราอย่างเดียว โดยสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ประกอบอาชีพได้ด้วย “ผมสามารถนำกิจกรรม แนวทาง และสื่อการเรียนรู้ที่ได้รับจาก สสวท. ไปใช้สอนในเทอมนี้ได้เลย เพราะมีเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรอยู่แล้ว ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การออกแบบและเทคโนโลยี”
นอกจากงบประมาณและการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว แรงสนับสนุนที่สำคัญยิ่งอีกหน่วยหนึ่งมาจากชุมชน นายจรูญ โพนคำ ประธานกรรมการบริหารศูนย์การเรียนชุมชนตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้ให้การสนับสนุน กศน. อำเภอพนมสารคาม มาโดยตลอด ท่านเป็นผู้บริจาคที่ดินในการก่อสร้าง กศน. ตำบลเกาะขนุน พร้อมทั้งบริจาคงบประมาณเพื่อการอื่นๆ และการศึกษาแก่คนในชุมในเรื่อยมา
นายจรูญ โพนคำ เล่าว่า ตนเองเป็นคนในท้องถิ่น เป็นลูกศิษฐ์ กศน. อำเภอพนมสารคาม และได้ไปร่ำเรียนต่อยอดไปเรื่อยๆ จนจบการศึกษาระดับปริญญาโท คนในชุมชนควรมีความรู้พื้นฐานไว้เพื่อดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ เยาวชนและประชาชนที่ยังขาดโอกาสเข้าเรียนการศึกษาในระบบยังมีมาก กศน. จึงเข้ามารองรับขยายโอกาสทางการศึกษาในส่วนนี้ อยากให้ กศน. เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นแหล่งปลูกฝังการเจริญเติบโตทางความคิด ต่อยอดความรู้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง แต่เป็นการรวมกลุ่มคนทุกรุ่นเข้ามาแลกเปลี่ยนร่วมกันแก้ไขปัญหาในชุมชน ให้ผู้รู้ในชุมชนเข้ามามีบทบาทเป็นครู และมีลูกหลานเข้ามาเรียนรู้ใกล้ชิดกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ทำให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน “ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมจุดประกาย แต่ผมคนเดียวคงทำไม่สำเร็จ ต้องอาศัยแนวร่วมจากหน่วยงานท้องถิ่น และคนในชุมชน อยากให้สถานที่แห่งนี้เป็นอาณาจักรแห่งการสร้างสรรค์ รวมพลังสามัคคี และเป็นอนาคตของการพัฒนาและเรียนรู้ร่วมกันตลอดชีวิต”
สอดคล้องกับที่ นางบังอร ฝ่ายสัจจา ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรามุ่งหวังให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ชุมชน เพื่อชาวพนมสารคามและชาวฉะเชิงเทราจริง ๆ นอกจากลุ่มนักเรียนแล้ว อยากให้คนในชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้อย่างยั่งยืน อนาคต อยากให้ชุมชนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพและวิทยาศาสตร์ใกล้ๆ ตัว เช่น เตาประหยัดพลังงานชีวภาพที่ผลิตน้ำส้มควันไม้ได้ แผงพลังงานแสงอาทิตย์ กล้องดูดาว เวลาที่มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ ๆ ก็อยากให้มาดูที่นี่ได้”
นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อสร้างฐานความรู้ความคิดทางวิทยาศาสตร์ให้แก่คนในสังคม เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักที่จะเรียนรู้ในวิทยาศาสตร์ และเป็นสังคมที่มีการคิดวิเคราะห์โดยมีพื้นฐานการคิดเชิงวิทยาศาสตร์รองรับต่อไปในอนาคต