กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--ก.ไอซีที
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ไทยเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ว่า กระทรวงฯ ได้วางแผนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุน และพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ ICT ไทยสู่สากล โดยได้มีการดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งด้านการรวบรวมข้อมูล และการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ เพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ICT ไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น
“กระทรวงฯ ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของภาคอุตสาหกรรม ICT ในด้านต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมแอนิเมชั่น อุตสาหกรรมเกมส์ อุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมการให้บริการเครือข่าย อุตสาหกรรมสมองกลฝังตัว และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งมีการรวบรวมข้อมูลสถานภาพของผู้ประกอบการในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ICT และภาพรวมของอุตสาหกรรม ICT ไทย เช่น มูลค่าอุตสาหกรรม ICT จำนวนผู้ประกอบการและบุคลากรในแต่ละภาคฯ แนวโน้มการเจริญเติบโตของแต่ละภาคอุตสาหกรรมฯ รวมทั้งแนวโน้มทางเทคโนโลยี เพื่อที่กระทรวงฯ จะนำมาใช้กำหนดนโยบายและแผนงานในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ICT ได้อย่างถูกต้อง พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดระดมสมองผู้ประกอบการในแต่ละภาคอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้ความรู้ในการเตรียมตัวรองรับการแข่งขันจากต่างประเทศ และเปิดโอกาสให้มีการแสวงหาพันธมิตรจากประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิง Value Chain รวมถึงจัดสัมมนาผู้ประกอบการที่มีผลกระทบจากการปฏิบัติตามการรับรองมาตรฐานวิชาชีพอุตสาหกรรม ICT ตามข้อตกลงของ e-ASEAN เพื่อทราบนโยบายและแนวทางการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ และให้ความเห็นในการปรับปรุงการรับรองมาตรฐานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว
ส่วนด้านการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ (New Entrepreneur) เพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ICT ทั้งไทยและต่างประเทศ กระทรวงฯ ได้มีการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมนักธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ทั้งการตลาด การเงิน กฎหมาย และระบบบัญชี ซึ่งจะช่วยให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งช่วยลดอัตราความล้มเหลวในการทำธุรกิจได้ และยังมีการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมผู้ประกอบการ และผู้บริหารระดับสูง (ICT Executive Program) เพื่อให้ผู้ประกอบการในระดับผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคผู้ใช้งาน ได้มีความเข้าใจที่ตรงกันทั้งสามฝ่าย และก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อรองรับการแข่งขันจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางด้าน ICT เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะในสาขาที่มีความสำคัญสูงหรือมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นในอนาคต โดยได้บูรณาการงานพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการวางกรอบมาตรฐานวิชาชีพด้าน ICT ในการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานในอุตสาหกรรม ICT อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันให้ประเทศไทยแสดงบทบาทในการเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาบุคลากร ICT ของอาเซียนที่มีมาตรฐานและทักษะในวิชาชีพอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากร ICT ของภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ ICT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ผู้ประกอบการ อาทิ การใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการทำธุรกรรมขั้นพื้นฐาน กรอกแบบฟอร์มเอกสารทางราชการ การรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลโดยการใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดเพื่อยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมทางการเงิน การรับส่งอีเมล์สำคัญ หรือการเข้ารหัสไฟล์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ เป็นต้น รวมทั้งยังส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานการพัฒนาสินค้าและบริการ เช่น มาตรฐาน มอก. หรือ ISO หรือ CMMI หรือมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการรายที่ยังไม่ได้มาตรฐานต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศที่มีความพร้อมทั้งด้านสินค้า/บริการ การเงิน และบุคลากร
“กระทรวงฯ ได้ดำเนินการในโครงการต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน ICT อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2550 โดยได้มีการสำรวจบุคลากรด้านไอที ทั้งในด้านความต้องการ (Demand) และด้านการผลิต (Supply) จัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT จำนวน 3 กรอบ คือ มาตรฐานวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบเครือข่ายและคอมพิวเตอร์ ด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศและข้อมูล และด้านการบริหารความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล จัดฝึกอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับบุคลากรด้าน ICT ทำการศึกษาสายงานวิชาชีพด้าน ICT เพื่อจัดทำกรอบมาตรฐานวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT ไทย โดยเป็นการศึกษา วิเคราะห์ เพื่อจัดทำรายงานการศึกษาข้อมูลสายงานวิชาชีพด้าน ICT ของประเทศไทย และต่างประเทศ ทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ว่าจะมีในอนาคต รายงานการจัดประเภทกลุ่มสายงานวิชาชีพด้าน ICT ของประเทศไทย รายงานการจัดทำเส้นทางอาชีพในสายงานวิชาชีพด้าน ICT และ รายงานผลการศึกษาข้อดีและข้อเสียของการมีมาตรฐานวิชาชีพ ICT ในภาคอุตสาหกรรมด้าน ICT รวมทั้งยังได้ดำเนินโครงการ ASEAN ICT Skill Standards-Definition and Certification (ISSDaC) ซึ่งจะมุ่งเน้นการศึกษาวิชาชีพด้าน ICT 5 วิชาชีพ คือ Software Development, ICT Project Management, Enterprise Architecture Design, Network and System Administration และ Information System and Network Security ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโครงการที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ICT ไทยสามารถก้าวสู่การแข่งขันในระดับสากลได้” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว