กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--วธ.
เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่สถาบันคึกฤทธิ์ นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดโครงการต้นแบบนักเขียนชุมชน “ตามรอยบ้านของพระราชา”ว่า กระทรวงวัฒนธรรม ตะหนักถึงความสำคัญในการใช้มิติทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ จึงร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ จัดโครงการต้นแบบนักเขียนชุมชน ตามรอย “บ้านพระราชา” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป มีทักษะและเข้าใจกระบวนการในงานเขียน ทั้งงานเขียนบันทึก งานเขียนเชิงสารคดี และการถ่ายภาพ โดยถ่ายทอดตามความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องราวในท้องถิ่นของตน เอง ซึ่งในครั้งนี้โครงการฯดังกล่าว จะนำร่องในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้เยาวชนสื่อความหมายผ่านงานเขียนถึงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นทุนทางสังคมที่มีคุณค่า สามารถกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปหันมาสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จนเกิดความสำนึกในคุณค่าของบ้านเกิด นำมาซึ่งความสามัคคีต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดนราธิวาส ยังเป็นพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของ “พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์" ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันว่า“บ้านของพระราชา” ด้วยพระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมทุกปี และได้เยี่ยมเยือนพสกนิกรตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทุรกันดารเช่นไรก็ตาม ทรงส่งเสริมสนับสนุนทั้งศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต การศึกษา และอาชีพ อย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ได้คัดเลือกเยาวชนระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไปในเขตจังหวัดนราธิวาส หรือจังหวัดอื่นในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า ๕๐ คน มาเข้าร่วมโครงการฯ โดยจัดค่ายกิจกรรม และเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านงานเขียน การถ่ายภาพ และการบรรณาธิการมาบรรยายให้ความรู้ รวมทั้งลงพื้นที่เก็บข้อมูลในสถานที่จริงก่อนลงมือเขียน จากนั้นนำเสนอผลงานเพื่อให้คณะวิทยากรพิจารณาขัดเกลา เพื่อจัดพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือ “ตามรอย...บ้านพระราชา” จำนวนกว่า ๑,๐๐๐ เล่ม ซึ่งเป็นหนังสือสารคดีแห่งวิถีบันดาลใจในรอยทางพอเพียงของพระราชาผ่านสายตาเยาวชนนักเขียนชายแดนใต้ บรรจุไว้ด้วยเรื่องราวดีๆมากมาย โดยเฉพาะแรงบันดาลใจจ ากสามัญชนที่ยึดวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ชายแดนใต้ และจะมีการนำไปเผยแพร่ตาม ห้องสมุด สถาบันการศึกษา องค์กร ชมรมต่างๆ นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจะมีการต่อยอดโดยนำไปทำเป็นภาษายาวี และภาษาต่างประเทศเพื่อให้นานาชาติ รวมถึงกลุ่มประชาคมอาเซียนได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ และในอนาคตจะนำเรื่องเรื่องดีๆในหนังสือเล่มนี้ทำเป็นหนังสั้นเพื่อเผยแพร่ในรูปแบบสื่อสมัยใหม่อีกด้วย