กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--WWF
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรมวันช้างโลกและวันแม่แห่งชาติ 2555 สืบสานงานอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่ากุยบุรี โดยชูประจวบคีรีขันธ์โมเดล ในการยุติการล่าช้างและสัตว์ป่า
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอกุยบุรี WWF ประเทศไทย มูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ชุดประสานงานโครงการพระราชดำริป่ากุยบุรี (ร.11 พัน.3 รอ.) หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์
กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 145 ชุมชนท้องถิ่นพี่น้องชาวกุยบุรี ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ช้างป่าบ้านรวมไทย และสถานีพัฒนาพืชอาหารสัตว์บ้านรวมไทย ร่วมจัดกิจกรรมรักช้าง รักษ์ป่า วันแม่ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 เนื่องในโอกาสวันช้างโลกและวันแม่แห่งชาติ ปี 2555 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการร่วมกันอนุรักษ์ช้าง โดยชู “ประจวบคีรีขันธ์โมเดล” เป็นต้นแบบงานอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทย
นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวระหว่างแถลงเปิดงานว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มุ่งหวังให้เกิดปรากฎการณ์อันเป็นรูปธรรมต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทย ประจวบคีรีขันธ์โมเดล เป็นความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า ที่กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต ยุทธศาสตร์ต้นแบบของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและการลักลอบล่าสัตว์ป่าทั้งในและนอกประเทศ
ประจวบคีรีขันธ์โมเดล เป็นความร่วมมือแบบบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายใต้กรอบความคิด ร่วมพิทักษ์ ป้องกัน ปราบปราม ประชาสัมพันธ์ ปลุกจิตสำนึก ฟื้นฟู วิจัยและติดตามผล ซึ่งครอบคลุมทั้งการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจสืบสวน รับแจ้งเบาะแส ลาดตระเวนร่วม ส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ รณรงค์สร้างจิตสำนึกรักและหวงแหนสัตว์ป่า มีส่วนร่วมกับชุมชนในการปกป้องชีวิตสัตว์ป่า รวมทั้งการฟื้นฟูและสร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำและอาหารให้สัตว์ป่า และยังรวมถึงภารกิจยุติการล่าสัตว์ป่า 5 ยุติ ซึ่งได้แก่ ยุติการล่าสัตว์ป่า ยุติการให้อาหารสัตว์ป่า ยุติการกินอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า ยุติการใช้ชิ้นส่วนของสัตว์ป่ามาเป็นเครื่องประดับและยาบำรุงกำลัง และยุติการทำร้ายสัตว์ป่า ด้วยการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง ซึ่งยังหมายรวมถึงการควบคุมและดูแลจัดการแสดงช้าง และช้างเร่ร่อน
“ยุทธศาสตร์ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐและเอกชนของไทยจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อการกำจัดขบวนการค้าสัตว์ป่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์คือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และฝ่ายความมั่นคงได้แก่ ทหารและตำรวจตระเวนชายแดนที่ต้องทำงานอย่างหนักทั้งปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ” วายุพงศ์ จิตร์วิจักษณ์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์ช้างป่าและต่อต้านการค้าสัตว์ป่า WWF ประเทศไทย กล่าว “กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าของไทยยังมีช่องโหว่ ขณะที่ไทยเป็นประเทศทางผ่านของขบวนการค้าสัตว์ป่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องรับมือกับวิกฤตการค้าสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การรณรงค์เรื่องการค้าสัตว์ป่าจึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ WWF เริ่มดำเนินโครงการอย่างจริงจังทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก โดยในประเทศไทยจะได้มุ่งเน้นในเรื่องของการค้างาช้างผิดกฎหมาย เพราะการลักลอบนำเข้างาช้างป่าอัฟริกันเพื่อแปรรูปขายยังเป็นปัญหาใหญ่ แม้ภาครัฐจะทุ่มเทปราบปรามอย่างจริงจังแล้วก็ตาม วันหนึ่งหากช้างป่าอัฟริกันถูกล่าเอางาขายจนสูญพันธุ์ วันนั้นช้างป่าไทยก็คงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน”
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ WWF ประเทศไทย พร้อมด้วยพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมลงนามพันธะสัญญาเทือกเขาตะนาวศรีในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการยุติการล่าช้างและสัตว์ป่า และดำเนินงานตามโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่ออนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์