กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--เอแบคโพลล์
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาประชาชน : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,363 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7 — 11 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
ตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 46.7 ติดตามข่าวปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากถึงมากที่สุด และร้อยละ 25.4 ติดตามค่อนข้างมาก ในขณะที่ร้อยละ 17.6 ติดตามค่อนข้างน้อย และร้อยละ 10.3 ติดตามเพียงเล็กน้อยถึงไม่ติดตามเลย อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 รู้สึกเป็นห่วงมากถึงมากที่สุดต่อสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร้อยละ 8.4 เป็นห่วงค่อนข้างมาก มีเพียงร้อยละ 1.6 และร้อยละ 1.4 เท่านั้นที่รู้สึกเป็นห่วงค่อนข้างน้อยและรู้สึกเป็นห่วงเพียงเล็กน้อยถึงไม่เป็นห่วงเลย
นอกจากนี้ ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ได้ส่งกำลังใจและความช่วยเหลืออื่นๆ ไปให้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 14.5 ได้ส่งกำลังใจให้ค่อนข้างมาก ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 3.1 และเพียงร้อยละ 1.8 เท่านั้นที่ส่งกำลังใจไปให้ค่อนข้างน้อย และน้อยถึงไม่ได้ส่งไปเลย
ที่น่าพิจารณาคือ ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.0 เห็นด้วย ถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มสวัสดิการให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร้อยละ 7.9 ค่อนข้างเห็นด้วย ในขณะที่เพียงร้อยละ 3.1 และเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้นที่ไม่ค่อยเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
เมื่อถามว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ที่คนไทยทุกคนทุกภูมิภาคต้องช่วยกันส่งความรัก ความเกื้อกูลไปยังประชาชนทุกคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลสำรวจพบว่า เกือบร้อยละร้อยหรือร้อยละ 97.7 เห็นว่า เหมาะสมแล้ว ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 2.3 ที่ระบุยังไม่เหมาะสม และตัวอย่างเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 99.4 ที่ปลื้มปิติมาก ถึงมากที่สุดที่ทราบข่าว พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ ทรงพระราชทานความช่วยเหลือห่วงใยไปยังประชาชนทุกหมู่เหล่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 ระบุควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานแก้ไขความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 8.7 ระบุไม่ควรให้โอกาส และร้อยละ 23.8 ไม่มีความเห็น
เมื่อถามถึงความสนใจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในครั้งนี้ พบว่า ตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 40.6 สนใจมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 21.0 สนใจค่อนข้างมาก ร้อยละ 17.4 สนใจค่อนข้างน้อย และร้อยละ 21.0 สนใจน้อยถึงไม่สนใจเลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.4 เห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะตอบข้อซักถามชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ด้วยตนเอง ในขณะที่ร้อยละ 35.9 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 6.7 ไม่มีความเห็น
เมื่อถามเฉพาะกลุ่มคนที่สนใจติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงประเด็นที่อยากให้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 85.0 อยากให้อภิปรายปัญหาของแพง ค่าครองชีพสูง ปัญหาปากท้อง รองลงมาคือ ร้อยละ 84.6 ระบุปัญหา ยาเสพติด ร้อยละ 81.1 ระบุการยกระดับสินค้าการเกษตรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ร้อยละ 80.5 ระบุ ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ เรื่องความปรองดอง ร้อยละ 78.3 ระบุปัญหาการจ่ายค่าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภัยพิบัติธรรมชาติ ร้อยละ 78.1 ระบุปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองๆ ลงไปคือ การปฏิรูปการเมือง การช่วยเหลือผู้ประกอบการจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเงินเฟ้อ การรับจำนำข้าว และแทปเล็ตให้โรงเรียน แจกเด็กนักเรียนใช้ ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.8 ต้องการให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจนำไปสู่การช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนร่วมกัน มากกว่าการนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลที่มีอยู่เพียงร้อยละ 11.2 ในการสำรวจครั้งนี้
ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่า คนไทยเกือบทั้งประเทศมีความเห็นและความรู้สึกร่วมไปในทิศทางเดียวกันต่อปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ความห่วงใย ความสนใจติดตามข่าว สวัสดิการต่อข้าราชการชั้นผู้น้อย และช่วงเวลาที่ทุกคนในชาติต้องส่งความรักความเกื้อกูลช่วยเหลือกันไปยังประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และความปลื้มปิติของประชาชนคนไทยทั้งประเทศต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ จึงน่าจะถึงเวลาอันเหมาะสมที่ประชาชนทุกคนในชาติจะต้องเรียกหา “จิตวิญญาณของความเป็นคนไทย” ที่รู้รักสามัคคีและตระหนักถึงบุญคุณของแผ่นดินไทยที่ประชาชนทุกคนต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อจะทำให้ประเทศชาติและประชาชนทุกหมู่เหล่าอยู่รอดได้อย่างมั่นคงปลอดภัย
“ดังนั้น การเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองจึงน่าจะคำนึงถึงบทบาทสำคัญของ “การเมือง” หรือ Politics ที่จะต้องรักษาสถาบันทางการเมืองของประเทศที่มีอยู่ให้เป็นสถาบันที่ช่วยลดความขัดแย้งมากกว่านำสถาบันต่างๆ มาเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งของคนในชาติ ทั้งนี้เพื่อประเทศชาติจะได้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเจริญมั่นคงโดยไม่สดุดในการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.3 เป็นชาย ร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.4 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 18.3 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 17.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 8.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.6 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.9 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.0 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.7 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.9 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ