ช้ำใจ “คราม” ถูกต่างชาติจดสิทธิบัตร อภัยภูเบศร ฟื้นฟู ส่งเสริมให้ใช้แก้ปวดเมื่อย

ข่าวทั่วไป Tuesday August 14, 2012 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--PR Network ครามถือเป็นพืชที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งที่มนุษย์รู้จักนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ โดยมีหลักฐานการใช้ย้อนหลังไปกว่า 6000 ปี คนไทยใช้ครามเป็นสีย้อมผ้า ผ้าที่ใช้ครามย้อมเรียกว่า ผ้าย้อมคราม ซึ่งจะมีสีฟ้าเข้ม หรือที่เรียกว่า สีคราม นั่นเอง ผ้าย้อมครามนั้น คนอีสานเรียกว่า ผ้าหม้อนิล เพราะหม้อที่ใช้ย้อมนั้นจะกลายเป็นสีดำ และไม่ใช่เฉพาะแต่ไทยอีสานเท่านั้นที่มีผ้าหม้อนิล คนลาว คนตระกูลไทยทั้ง ไทยลื้อ ไทยแดง ไทยดำ ไทยขาว ผู้ไทย ไทยพวน ที่อยู่ในลาว ในเขมร ในเวียดนาม ต่างก็มีผ้าหม้อนิลเป็นผ้าประจำชนเผ่า ผ้าหม้อนิลมีคุณสมบัติประการหนึ่ง คือ ใส่แล้วจะรู้สึกเย็นสบายไม่ร้อน เนื่องจากผ้าหม้อนิลเป็นฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ใครสวมใส่แล้วจะช่วยทำให้ผิวขาว มีงานวิจัยทั้งในอเมริกาและญี่ปุ่นพบว่า ผ้าที่ย้อมด้วยครามสามารถป้องกันผิวของผู้สวมใส่จากรังสีอัลตราไวโอเลตได้ ทั้งยังทำให้จิตใจสงบ มีสมาธิ ปัจจุบันสีครามที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกเกือบทั้งหมดมาจากการสังเคราะห์ สีครามจากธรรมชาติเหลืออยู่เพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ถึงแม้จะเหลืออยู่น้อย แต่ก็ไม่พ้นความพยายามของมนุษย์ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์จากครามในหลายรูปแบบ ทั้งผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด และผลิตภัณฑ์ลดอาการปวดเมื่อย เราในฐานะคนไทย จะนั่งตีโพยตีพาย โกรธต่างชาติคงไม่มีประโยชน์ แต่เราควรจะต้องลุกขึ้นมาใช้ภูมิปัญญาที่ปู่ย่าตาทวด สั่งสมมาให้เรา อภัยภูเบศร จึงได้รื้อฟื้นการใช้ประโยชน์จากครามในการดูแลสุขภาพ ที่หมอยาทุกภาคของไทยใช้เหมือนกัน ทั้งการใช้ผ้าหม้อนิลห่อลูกประคบ ใช้ในการย่างคนป่วยที่ตกต้นไม้ หรือถูกควายชน โดยใช้เป็นผ้าคลุมตัว หรือคลุมสมุนไพรบนแคร่ก่อนให้คนป่วยนอนทับ ถึงขนาดที่ว่าพ่อหมอแม่หมอบอกว่า ถ้าหาสมุนไพรอะไรมาทำลูกประคบไม่ได้ มีผ้าหม้อนิลอย่างเดียวก็ประคบได้ เพราะครามไม่ได้มีสรรพคุณดีแค่ลดการอักเสบ แก้ปวดเท่านั้น แต่ยังจัดเป็นยาแก้พิษชั้นยอด ไม่ว่าจะเป็นยาสั่ง พิษยางน่อง งูกัด หรือพิษจากสัตว์มีพิษ ในยามคับขันให้หาต้นครามให้เจอ แล้วนำใบมาตำคั้นเอาน้ำกิน และเอากากพอกแผล ถ้าไม่มีจริงๆ ให้หาผ้าหม้อนิลมาเคี้ยวๆ แล้วกลืนน้ำลายลงไปให้ได้มากที่สุด เพราะครามในผ้าหม้อนิลก็คือยานั่นเอง ซึ่งความรู้นี้ก็ปรากฏเช่นเดียวกันในอินเดีย ผู้สนใจเข้าร่วมฟื้นฟู อนุรักษ์การใช้ประโยชน์จากผ้าย้อมคราม พบกันได้ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 9 วันที่ 5 - 9 กันยายน 2555 เมืองทองธานี อาคาร 7 — 8 สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 037-211-289
แท็ก สิทธิบัตร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ