โรงงานแบตเตอรี่ เอฟบี เข้ม ฟูรูกาวาญี่ปุ่นหนุนเทคโนโลยีล้ำยุคผลิตแบตเตอรี่ ประสิทธิภาพสูง ล่าสุด เตรียมเข้าสู่มาตรฐาน ISO/TS16949 เจาะตลาด OEM ทุกค่าย

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday August 3, 2004 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์
กระบวนการผลิตแบตเตอรี่ เอฟบี ตรวจละเอียดทุกขั้นการผลิต มุ่งพัฒนาแบตเตอรี่ชั้นสูงสำหรับการใช้งาน ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ เน้นอายุงานยาวนานขึ้นและรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีเหนือชั้นจาก เครือข่ายฟูรูกาวาญี่ปุ่น ผู้นำด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก โดยโรงงานได้รับมาตรฐานการผลิตจากผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำได้แก่ QS.9000/ISO9001, ISO 14001 และพร้อมเดินหน้าเข้าสู่มาตรฐานการผลิตสากล ISO/TS16949 ระดมความร่วมมือบุคลากรสร้างทีมเวิร์ก เน้นการสื่อสารที่ชัดเจนในไลน์การผลิต ตั้งเป้าขยายตลาดคลอบคลุมความต้องการผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก
นายธวัชชัย วงศ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามฟูรูกาวาเทรดดิ้ง จำกัด ผู้จัดจำหน่ายแบตเตอรี่ชั้นนำของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “แบตเตอรี่ เอฟบี” กล่าวว่า แบตเตอรี่ เอฟบี แหล่งพลังสำคัญของทศวรรษที่เกิดจากการผสมผสานจนเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย จนพร้อมสมบูรณ์สำหรับยานยนต์แห่งปัจจุบันและอนาคต ด้วยคุณสมบัติพิเศษของ ระบบเก็บจ่ายกระแสไฟ ความแข็งแกร่งทนทาน รวมถึงอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า กระบวนการทางศาสตร์และศิลป์ในภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่การทดลองคิดค้น การคัดเลือกวัตถุดิบ ทุกขั้นตอนการผลิต ผ่านการควบคุมคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญและระบบการตรวจสอบด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง เพื่อให้ได้แบตเตอรี่ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน
“ ศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิต ระบบบริหารจัดการและบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีความเชื่อว่าแบตเตอรี่ เอฟบี สามารถตอบความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างพิเศษเฉพาะ เจาะลึกถึงการใช้งาน ในสภาวะการขับเคลื่อนรูปแบบต่าง ๆ และด้วยความร่วมมือของบริษัท ฟูรูกาวา แบตเตอรี่ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งการทำงานร่วมกับทีมงานชาวไทยที่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการผลิต เพื่อให้เกิดความเข้าใจผู้บริโภคชาวไทยอย่างแท้จริง ซึ่งความต้องการที่หลากหลายนี้เป็นความท้าทายของทีมวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ ที่จะสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมที่สุดกับการใช้งาน สิ่งเหล่านี้เป็นความตั้งใจของเราในการพัฒนาระบบการผลิตทุกส่วนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ประหยัดวัตถุดิบ และสิ่งที่แบตเตอรี่ เอฟบี มุ่งพัฒนาไม่แพ้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการผลิต คือการดูแลรักษา สิ่งแวดล้อม ด้วยประสบการณ์ในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของกลุ่มฟูรูกาวา ญี่ปุ่น กว่า 40 ปี ทำให้เราสามารถ ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี จนได้รับมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001” ธวัชชัย กล่าว
นายเผด็จ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามฟูรูกาวา จำกัด ผู้ผลิตแบตเตอรี่ เอฟบี กล่าวว่า หัวใจสำคัญในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ เอฟบี คือ ความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ การคัดเลือกวัตถุดิบ ผ่านกระบวนการผลิตทั้งหมด จนถึงการส่งแบตเตอรี่ไปถึงมือผู้ซื้อ บุคลากรทุกฝ่ายที่ เกี่ยวข้องจะตรวจสอบคุณภาพส่วนประกอบต่าง ๆ ก่อนจะส่งไปยังขั้นตอนต่อไป ซึ่งกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เช่นนี้ ทำให้มีเวลาในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตอย่างละเอียดถี่ถ้วน
กระบวนการผลิต สามารถลำดับได้ดังนี้
1. การออกแบบแบตเตอรี่
2. การผลิตโครงแผ่นธาตุ (Grid)
3.การผลิตผงตะกั่วออกไซด์ (Oxide)
4.การทำแผ่นธาตุ
5. การอัดกระแสไฟฟ้าเข้าแผ่นธาตุ และสุดท้าย
6. การประกอบแบตเตอรี่
โรงงานแบตเตอรี่ เอฟบี ได้วางระบบการผลิตตามกระบวนการข้างต้น ภายใต้เทคโนโลยีจาก บริษัท ฟูรูกาวา แบตเตอรี่ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ ซึ่งนอกจากกระบวนการผลิตหลักข้างต้นแล้ว ยังได้รับความร่วมมือที่คลอบคลุมตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ การผลิต การทดสอบการใช้งานตามสภาวะจริง การดูแลรักษาแบตเตอรี่และการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงงานแบตเตอรี่ เอฟบี มีคุณภาพการผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถประหยัดการใช้พลังงานและวัตถุดิบอย่างน่าพอใจ ศักยภาพการผลิตของโรงงานแบตเตอรี่เอฟ บี นี้ จึงเป็นความภาคภูมิใจในการทำงานของฝ่ายที่เกี่ยวข้องตลอดมา จนได้รับมาตรฐานการผลิต QS.9000/ISO9001 อันเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิต รถยนต์ชั้นนำของโลก อาทิ ฟอร์ด, ไครส์เลอร์, จีเอ็ม เป็นต้น และด้วยปณิธานในการสร้างสรรค์นวัตกรรมระดับเลิศและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยนั้น ทางโรงงานจึงไม่หยุดยั้งในการมุ่งยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับต่อผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก
นายเผด็จ กล่าวต่อว่า โรงงานแบตเตอรี่ เอฟบี ได้เตรียมการเข้าสู่มาตรฐานการผลิต ISO/TS16949 ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ของโลก ทั้ง ฟอร์ด, ไครส์เลอร์, จีเอ็ม รวมถึง โตโยต้า, อีซูซุ,ฮอนด้า และผู้ผลิตรายอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งได้วางกำหนดการตรวจสอบและการเข้าสู่มาตรฐานการผลิต ISO/TS16949 อย่างสมบูรณ์ ประมาณเดือนมิถุนายน — ตุลาคม 2547 นี้ สำหรับการดำเนินการภายใน โรงงานเพื่อเข้าสู่มาตรฐานการผลิต ISO/TS16949 ทางโรงงานแบตเตอรี่ เอฟบี ได้มุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารระหว่างทีมงานผลิตให้มีความชัดเจน เข้าใจและเห็นถึงเป้าหมายของการทำงานร่วมกัน ตลอดจนรู้จักบทบาทหน้าที่ในการทำงานอย่างชัดเจน ซึ่งจะสร้างให้เกิดทีมเวิร์ก เกิดบรรยากาศการทำงานที่มีพลัง และในการดำเนินการเข้าสู่มาตรฐานการผลิต ISO/TS16949 นั้น ทางโรงงานมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและตรวจติดตามผลสำหรับการเข้าสู่มาตรฐานการผลิต ISO/TS16949 อาทิ การฝึกอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิต ISO/TS16949 และการสัมภาษณ์พนักงาน เป็นต้น
“ผู้ใช้รถชาวไทยมีความต้องการที่หลากหลาย ดังนั้นการได้รับการยอมรับจากโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ (ตลาด OEM) จะส่งผลถึงการได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคด้วย ความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ นั้น เราเชื่อว่าแบตเตอรี่ เอฟบี สามารถตอบความต้องการที่แตกต่างนั้นได้ และการ เข้าสู่มาตรฐานการผลิต ISO/TS16949 นี้ว่าถือเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากทางโรงงานต้องปฏิบัติตามข้อตกลงตลอดจนขั้นตอนที่ผู้ผลิตรถยนต์รายต่าง ๆ กำหนดขึ้น ซึ่งแต่ละรายก็จะมีความแตกต่างกัน ผลที่เกิดขึ้น นอกจากการยอมรับจากผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายแล้ว เรายังสามารถสัมผัสความต้องการผู้ผลิตรถยนต์ อย่างใกล้ชิดพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพการทำงานของบุคลากรฝ่ายต่าง ๆ ในโรงงานอีกด้วย” เผด็จ กล่าว
นายเผด็จ กล่าวปิดท้ายว่า นอกจากแผนการเข้าสู่มาตรฐานการผลิต ISO/TS16949 แล้ว ทางโรงงานยังได้มีการติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มในขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนแบตเตอรี่ เพื่อรองรับการขยายปริมาณการผลิตแบตเตอรี่ที่คาดว่าจะมีการเพิ่มการผลิตแบตเตอรี่ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์และ รถจักรยานยนต์ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตลาดแบตเตอรี่ เอฟบี ทั้งภายในและต่างประเทศ
กรรมวิธีการผลิตแบตเตอรี่
แบตเตอรี่ จุดกำเนิดที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปมาของรถยนต์บนท้องถนนก็ดี หรือเรือยนต์ซึ่งแล่นอยู่ตามแม่น้ำลำคลองก็ดี เกิดจากส่วนหนึ่งของแหล่งพลังงาน ที่เรียกว่า “แบตเตอรี่แบตเตอรี่ของเครื่องยนต์ ทุกชนิดจะทำหน้าที่คล้ายแหล่งเก็บพลังงาน ซึ่งพร้อมที่จะทำงานทันทีเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า แบตเตอรี่เป็นจุดรวมของกระแสไฟฟ้า ซึ่งพร้อมที่จะแจกจ่ายไปยัง ส่วนต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ เพื่อให้เครื่องยนต์สามารถทำงานได้
กว่าจะเป็นแบตเตอรี่
1. การออกแบบแบตเตอรี่
ก่อนที่จะทำการผลิต แบตเตอรี่นั้นจะต้องทำการออกแบบส่วนประกอบต่าง ๆ ของแบตเตอรี่ เสียก่อน เช่น เปลือกหม้อของแบตเตอรี่ ฝาหม้อแบตเตอรี่ ขั้วบวก ขั้วลบ แผ่นกั้นและส่วนประกอบ ต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบแบตเตอรี่ เพื่อให้ได้แบตเตอรี่ที่มีคุณภาพตามกำหนด
2. การผลิตโครงแผ่นธาตุ (GRID)
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโครงแผ่นธาตุ ได้แก่ ตะกั่วผสมพลวง วัตถุดิบเหล่านี้ก่อนที่จะนำมาทำการผลิต จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐานจริง ๆ หลังจากนั้น จึงนำตะกั่วผสมพลวงที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว มาหลอมให้ละลายในเตาหลอมตะกั่ว เมื่อหลอมละลายดีแล้วจะใช้ปั๊ม ปั๊มตะกั่วที่หลอมละลายเข้าไปในแม่พิมพ์ เพื่อหล่อเป็น โครงแผ่นธาตุ เครื่องจักรและอุปกรณ์ทุกชนิดในการผลิตโครงแผ่นธาตุจะได้รับการดูแลอย่างพิถีพิถันในด้านความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อให้ได้โครงแผ่นธาตุที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเมื่อได้โครงแผ่นธาตุที่มีคุณภาพแล้ว จะมีการนำโครงแผ่นธาตุที่ผลิตได้ไปทำการตรวจสอบ คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ตลอดจนความเรียบร้อยของโครงแผ่นธาตุ เช่น ความเรียบร้อยของลักษณะทั่วไป ความสมบูรณ์ในการหล่อ ความเหนียว ขนาดและน้ำหนัก ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพนี้ จะต้องทำตลอดระยะเวลา ในสายการผลิต นอกจากนี้ยังมีการสุ่มตัวย่าง แล้วนำไปวิเคราะห์ องค์ประกอบทางเคมี
3. การผลิตผงตะกั่วออกไซด์ (OXIDE)
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผงตะกั่วออกไซด์ จะต้องใช้ตะกั่วบริสุทธิ์ ชนิด 99.99 % โดยนำ แท่งตะกั่วบริสุทธิ์มาตัดให้เป็นท่อน ๆ ตามขนาดที่ต้องการ ส่งเข้าไปในเครื่องบด ในขณะที่กำลัง ทำการบดจะมีการควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ และนอกจากนั้นพนักงานที่ควบคุมเครื่องบด จะต้องทำการจดบันทึกสภาพการทำงานของเครื่อง ตลอดจนบันทึกผลการควบคุมคุณภาพของ ผงตะกั่วออกไซด์ที่บดไว้ด้วย เมื่อบดผลตะกั่วออกไซด์จนละเอียดได้ที่ดีแล้ว จะดูดผงตะกั่วออกไซด์ผ่านเครื่องกรอง เข้าไปเก็บในไซโลเพื่อรอนำไปใช้ผสมเป็นเนื้อแผ่นธาตุต่อไป
การตรวจสอบคุณภาพของผงตะกั่วออกไซด์ จะมีการนำผงตะกั่วออกไซด์ที่ผลิตได้ มาทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางเคมีอย่างละเอียด ทั้งนี้เพื่อวิเคราะห์ถึงความละเอียดและเปอร์เซนต์ของออกไซด์ ตลอดจนความสามารถในการดูดกลืนน้ำ ผงตะกั่วออกไซด์จะต้องได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ก่อนที่จะนำไปผสมกับสารเคมี เพื่อทำเป็นเนื้อแผ่นธาตุในขั้นตอนต่อไป
4. การทำแผ่นธาตุ แบ่งขั้นตอนคร่าว ๆ ได้ดังนี้
อันดับแรก คือการผสมเนื้อแผ่นธาตุ (PASTE MIXING)
นำผงตะกั่วออกไซด์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเป็นที่เรียนร้อยแล้ว มาผสมกับน้ำ น้ำกรดและสารเคมีต่าง ๆ ตามอัตราส่วนที่กำหนด โดยใช้เครื่องผสมที่เรียกว่า PASTE MIXER ทำการผสมคลุกเคล้าให้ผงตะกั่วออกไซด์ น้ำ น้ำกรด และสารเคมี รวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อทำการผสมครบกำหนดตามเวลาแล้วก็นำเนื้อแผ่นธาตุออกจากเครื่องผสม ส่งไปทำการฉาบลงบนโครงแผ่นธาตุต่อไป
อันดับสองคือ การฉาบแผ่นธาตุ (PASTE PASTING)
นำโครงแผ่นธาตุ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว มาเข้าเครื่องป้อนโครงแผ่นธาตุ ทีละแผ่น เนื้อแผ่นธาตุที่ผสมแล้ว จะถูกปล่อยลงสู่เครื่องฉาบ โครงแผ่นธาตุจะถูกฉาบด้วยเนื้อแผ่นธาตุจากเครื่องฉาบ แล้วใช้ลูกกลิ้งอัดทับให้ผิวเรียบติดแน่นอีกครั้งหนึ่ง
ในระหว่างที่ทำการผลิตนั้นจะมีการควบคุมคุณภาพ โดยการชั่งน้ำหนักเป็นระยะ ๆ ตลอดเวลา หลังจากชั่งน้ำหนักแล้ว สายพานลำเลียงก็จะลำเลียงแผ่นธาตุที่ฉาบแล้วผ่านเตาอบ เพื่อทำการ อบให้บริเวณผิวหน้าของแผ่นธาตุแห้ง แผ่นธาตุที่อบแล้ว จะถูกลำเลียงมาตามสายพานลำเลียง เพื่อเข้าบ่มให้ปฏิกิริยาเคมีในแผ่นเกิดความสมบูรณ์ต่อไป
และการผลิตแผ่นธาตุให้มีคุณภาพตามมาตรฐานนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการสุ่มตัวอย่าง แผ่นธาตุมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางเคมีอย่างละเอียด ทั้งแผ่นธาตุที่ก่อนที่จะทำการอัดกระแสไฟและแผ่นธาตุที่หลังจากอัดกระแสไฟแล้ว เพื่อให้ทราบถึงองค์ประกอบทางเคมีของแผ่นธาตุ ตลอดจนประมาณความชื้นในแผ่นธาตุ ก่อนที่จะเข้าสู่ขบวนการผลิตในขั้นตอนต่อไป
5. การอัดกระแสไฟฟ้าเข้าแผ่นธาตุ (FORMATION)
นำแผ่นธาตุที่ผ่านการบ่มจนสมบูรณ์และผ่านการตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อยแล้ว มาทำ การอัดกระแสไปผ่านเข้าไปในแผ่นบวกและแผ่นลบ ซึ่งบรรจุไว้ภายในถังเดียวกันเป็นเวลา 20 ชั่วโมง ในระหว่างการอัดกระแสไฟ จะมีการตรวจสอบแรงเคลื่อนไฟฟ้าและความถ่วงจำเพาะของน้ำกรดตลอดเวลา ทุก 1 ชั่วโมง
หลังจากผ่านการอัดกระแสไฟตามกำหนกเวลาจนได้แผ่นธาตุที่สมบูรณ์แล้วจะแยกแผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบออกจากกัน ส่งไปทำการอบแห้งโดยในเตาแยกตามประเภทแผ่นบวกและแผ่นลบ
เมื่ออบจนครบเวลาตามกำหนดแล้วก็นำแผ่นธาตุออกจากเตาอบ ทำการตัดแยกเป็นแผ่นเดี่ยวพร้อมที่จะนำไปประกอบเป็นชุดของแผ่นธาตุ (ELEMENTS) ต่อไป
6. การประกอบแบตเตอรี่
นำแผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบที่อัดกระแสไฟแล้วมาเรียงจัดเป็นกลุ่ม โดยมีแผ่นกั้นเป็นตัวกั้นระหว่างแผ่นบวกและแผ่นลบ หลังจากนั้นนำไปทำการเชื่อมหัวแผ่นธาตุ ในแต่ละกลุ่มให้ติดกัน เป็น “ชุดแผ่นธาตุ” ตามชนิด และขนาดของแบตเตอรี่แต่ละรุ่น
ต่อจากนั้นนำ “ชุดแผ่นธาตุ” ที่เชื่อมเป็นกลุ่มแล้ว บรรจุลงในช่องเปลือกหม้อแบตเตรี่ตามชนิดและขนาดแต่ละรุ่น หลังจากนั้นนำแบตเตอรี่เข้าทดสอบการลัดวงจรด้วยไฟฟ้าแรงเครื่องสูง ทำการเชื่อมสะพานไฟด้วยระบบไฟฟ้า (SPOT WELDING) ตรวจสอบด้วยเครื่องทดสอบความแข็งแรงของรอยเชื่อม (SHEAR TEST)
เมื่อได้ตรวจสอบรอยเชื่อมว่าเรียบร้อยดีแล้ว ก็จะนำมาเชื่อฝาหม้อและเปลือกหม้อแบตเตอรี่ให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยวิธีเชื่อมด้วยความร้อน (HEAT SEAL) ส่งเข้าเชื่อมขั้วบวกและขั้วลบ ของแบตเตอรี่ ทำการทดสอบรอยรั่ว โดยการอัดอากาศด้วยเครื่อง AIR LEAKAGE TEATER แล้วผ่านไปยังขั้นตอนการบรรจุต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
จิดาภา ประมวลทรัพย์, ประกาศิต นันป้อ
บริษัท สยาม พีอาร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
โทร 0-2276-8432-3, 0-2693-7835-8 ต่อ 32,37
โทรสาร 0-2693-6919-20
Web site : http://www.siampr.co.th E-mail: info@siampr.co.th--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ