กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ปภ.
ปภ. ร่วมกับ ก.พ. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างทักษะการบริหารจัดการสาธารณภัยเชิงบูรณาการ แก่หัวหน้าส่วนราชการ และผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในรูปแบบการศึกษาดูงาน การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการฝึกบัญชาการและสั่งการตามสถานการณ์จำลอง ซึ่งจะก่อให้เกิดแนวทางการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยที่เป็นเอกภาพ เชื่อมโยงการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ รวมถึงสามารถตอบโต้ภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า การบริหารจัดการ สาธารณภัย ซึ่งมีการบัญชาการเหตุการณ์ที่เป็นระบบ จะส่งผลให้การจัดการปัญหาภายใต้ภาวะวิกฤตมีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการสาธารณภัย จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างทักษะ ด้านการบริหารจัดการสาธารณภัยเชิงบูรณาการแก่หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งการฝึกอบรมเป็น 3 ส่วน ได้แก่ กลุ่มจังหวัดพื้นที่ต้นน้ำ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 17 - 18 สิงหาคม 2555 กลุ่มจังหวัดพื้นที่กลางน้ำ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 8 - 9 กันยายน 2555 กลุ่มจังหวัดพื้นที่ปลายน้ำ ณ จังหวัดนนทบุรี ในวันที่ 13 — 14 กันยายน 2555 ในรูปแบบการศึกษาดูงาน (Fieldtrip) การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การฝึกปฏิบัติการบัญชาการและการสั่งการแบบจำลองสถานการณ์จริง (Simulation) เพื่อทบทวนแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยยกปัญหาวิกฤตน้ำท่วม ปี 2554 เป็นกรณีศึกษาและถอดบทเรียน ซึ่งจะก่อให้เกิดแนวทางการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยที่เป็นเอกภาพ เชื่อมโยงการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ รวมถึงผู้บริหารและหัวหน้า ส่วนราชการในแต่ละระดับสามารถนำไปปรับใช้ในการตอบโต้สถานการณ์ภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการอบรมเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 ครั้ง รัฐบาลได้กำหนดให้มีการประชุมสรุปผลการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2555 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำและแผนเผชิญอุทกภัยในภาพรวมของประเทศที่ทุกภาคส่วนจะได้รับทราบแนวทาง การปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสามารถนำไปเชื่อมโยงกับการทำงานในระดับพื้นที่