กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--มทร.ธัญบุรี
“ฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ คณะบริหารธุรกิจ นำสมาชิกในคณะ ออกสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ โรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักเสียสละเพื่อส่วนร่วม สร้างจิตสำนึกจิตอาสา ในตัวนักศึกษา”
“เบล” นายชนะชาติ ใจเก่งดี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ ประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ เล่าว่า ฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ คณะบริหารธุรกิจ ออกค่ายอาสาทุกภาคเรียนการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวมและเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษามีความเป็นจิตอาสา โดยจะแบ่งค่ายออกเป็น ค่ายใหญ่และค่ายเล็ก “โครงการสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ” ในพื้นที่โรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ อ.บ้านไร่จ.อุทัยธานี
ลักษณะเป็นค่ายเล็กเนื่องจากใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ในการออกค่ายในครั้งนี้ มีสมาชิกชาวค่าย 60 คน โดยในการออกค่ายอาสาสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชาวบ้านและเด็กนักเรียนในบริเวณนั้นมีฝายชะลอน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนและอุทกภัย ฝึกให้นักศึกษารู้ถึงการทำงานร่วมกัน ได้รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดอุปสรรค ฝายที่สร้างในครั้งนี้ มี 2 ฝาย คือ ฝายขนาดใหญ่ 10 เมตร และ ฝายขนาด 5 เมตรหลังจากสร้างฝายชะลอน้ำเสร็จ ยังพัฒนาโรงเรียน แจกอุปกรณ์การศึกษาให้กับน้องๆ โรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ อีกด้วย
“นิว” นายชาคริสต์ ยิบพิกุล หลักสูตรนานาชาติ เล่าว่า หน้าที่หลักในค่าย เป็นประสานงานในการดำเนินงาน หรือเรียกว่า “ผู้คุมไซด์งาน” เริ่มตั้งแต่การบริหารวางแผนงาน ซึ่งในการออกค่ายในครั้งนี้ ต้องทำงานแข่งกับเวลา บวกกับสภาพอากาศ ฝนตก แต่ในการสร้างฝายไม่ได้สร้างอุปสรรคในการทำงานของสมาชิกในค่าย เนื่องจากทุกคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มาด้วยใจ ครั้งแรกของการออกสร้างฝายชะลอน้ำ เป็นประสบการณ์ในการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ปกติจะช่วยงานในสโมสรนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ งานเอกสารกับการลงแรง แตกต่างกัน แต่ผลที่ออกมา เหมือนกัน คือความภาคภูมิใจที่ได้ทำ “ทำเพื่อผู้อื่น”
“กิ๊ฟท์” นางสาวพัชชาภา วิเศษ สาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ เล่าว่า หน้าที่ฝ่ายสวัสดิการ “นอนที่หลัง ตื่นก่อนเพื่อน” ต้องตื่นขึ้นมาดูแลในเรื่องของอาหารของชาวค่ายแต่ละมื้อ เช้า กลางวัน เย็น รวมไปถึงความเรียบร้อยของฝ่ายสวัสดิการต่างๆ โดยมีสมาชิกในกลุ่ม 5 คน แบ่งหน้าที่การทำงาน หน้าที่การจ่ายตลาด คิดเมนู ซึ่งเมนูส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสด เพราว่า ระยะเวลาในการออกค่ายแค่ 4 วัน “ดีใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ให้ชาวบ้านและน้องมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง” ใช้เวลาในวันหยุดให้เป็นประโยชน์ ฝึกความเสียสละให้แก่ส่วนร่วม ช่วยตัดหญ้าให้กับโรงเรียน ให้น้องๆ ได้วิ่งเล่น
“พลอย” นางสาวพรนภา อินทรณรงค์ สาขาวิชาการตลาด เล่าว่า ทำหน้าที่ทุกอย่างในค่าย วันแรกเข้าครัว 3 วัน สุดท้ายลงไซด์งาน ตั้งแต่เก็บหิน ลงมือสร้างฝาย ฝายที่สร้างจะเป็นฝายถาวรที่ใช้ปูนในการสร้าง จะลำบากในการก่อปูน เพราะว่า ปูนกับน้ำจะทำให้แห้งยาก ประทับใจในการสร้างฝายในครั้งนี้มาก เนื่องจาก วันแรกที่เดินทางไป ไกลจากตัวอำเภอบ้านไร่ ประมาณ 30 กิโลเมตร กว่าจะเดินทางไปถึงโรงเรียน ลำบากมาก บวกกับสถานที่ในการสร้างฝายชะลอน้ำ มีทั้งแมลง สัตว์ ซึ่งทุกคนต้องระมัดระวังตัว “เป็นการเรียนรู้ในการชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ไปใช้ชีวิต กิน อยู่ เอง ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กที่มาช่วยพวกเราสร้างฝาย ได้เรียนรู้พูดคุยกับชาวบ้าน เรียนรู้วิถีชีวิต”
4 วัน 3 คืน ที่ใช้เวลาที่หยุดติดต่อกัน 4 วัน ไปช่วยเหลือสังคม แทนที่จะใช้เวลาไปเพื่อความสนุกสนาน เป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมอีกตัวอย่างหนึ่งของเด็กไทยในยุคปัจจุบัน 60 ชีวิต ในการสร้างฝายชะลอน้ำ เจออุปสรรคธรรมชาติ แต่ด้วยจิตอาสาที่มุ่งมั่น อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่สามารถทำลายความตั้งใจของพวกเขาเหล่านั้นได้ “ฝายชะลอน้ำที่พวกเขาสร้างขึ้น สร้างความภาคภูมิใจให้กับพวกเขา และที่สำคัญไปกว่านั่น สร้างประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านและเด็กในพื้นที่นั่นต่อไป”
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994