CIMB Group ประกาศผลประกอบการครึ่งปี 2555 แสดงกำไรสุทธิ 2.120 พันล้านริงกิต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 16, 2012 08:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย CIMB Group Holdings Berhad (“CIMB Group” หรือ “กลุ่มฯ”) ประกาศผลประกอบการครึ่งปีบัญชี 2555 (ครึ่งปี 1/55) ซึ่งมีกำไรสุทธิ 2.120 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 จากปีที่ผ่านมา และคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เท่ากับ 28.5 เซ็น (sen) อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) คิดเป็นสัดส่วนปีอยู่ที่ร้อยละ 16 กลุ่มฯประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 5 เซ็น คิดเป็นจำนวนเงินปันผลสุทธิทั้งสิ้น 372 ล้านริงกิต “CIMB Group สามารถสร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่งในครึ่งปี 1/55 อันเป็นผลจากการเติบโตที่มั่นคงอย่างต่อเนื่องของ CIMB Niaga และ CIMB Singapore และผลประกอบการที่เกินเป้าหมายของสายบรรษัทธุรกิจและบริหารเงิน (CBTM)” ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค Group Chief Executive กล่าว “โดยรวมแล้ว รายได้จากการดำเนินงานเติบโตดีมากซึ่งสามารถชดเชยกับต้นทุนการดำเนินงานและต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้นตามที่ได้คาดการณ์ไว้” ผลประกอบการของ CIMB Group เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้รวมของ CIMB Group สำหรับครึ่งปี 1/55 เท่ากับ 6.581 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาอันเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยประกอบกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ กำไรก่อนหักภาษี (PBT) ของกลุ่มฯเท่ากับ 2.811 พันล้านริงกิต คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 11.9 โดยที่การขยายตัวของรายได้ส่วนหนึ่งชดเชยกับการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อ (credit charges) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น ในครึ่งปี 1/55 PBT จากธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคของกลุ่มฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากครึ่งปี 1/54 เป็น 1.122 พันล้านริงกิต โดยธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในมาเลเซียและสิงคโปร์ขยายตัวระดับปานกลางอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.9 ในขณะที่ PBT จากธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 31.7 ซึ่งเป็นผลทั้งจากสินทรัพย์รวมที่สูงขึ้นและส่วนต่างกำไรที่ดีขึ้น สำหรับธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคในประเทศไทยมีผลขาดทุน 4 ล้านริงกิต โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลย้อนหลังของการบังคับใช้กรอบการประกันเงินฝากใหม่ PBT จากธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่ของกลุ่มฯในครึ่งปี 1/55 เท่ากับ 1.418 พันล้านริงกิตหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 เมื่อเทียบกับครึ่งปี 1/54 อันเป็นผลจากแรงขับเคลื่อนของ PBT จากธุรกิจบริหารเงินที่พุ่งสูงขึ้นเป็น 717 ล้านริงกิตเนื่องจากความแข็งแกร่งของตลาดตราสารหนี้กึ่งทุนและธุรกิจปริวรรตเงินตรา รวมทั้งการผสานจุดแข็งระหว่างหน่วยงานหลังการปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้ “CIMB 2.0” ในขณะเดียวกัน PBT จากธุรกิจวาณิชธนกิจลดลงร้อยละ 18.1 แม้จะมีผลประกอบการที่ดีในไตรมาส 2 สาเหตุมาจากรายได้ M&A ลดต่ำลง PBT จากสายบรรษัทธุรกิจลดลงร้อยละ 16.4 เนื่องจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น PBT จากการลงทุนลดลงร้อยละ 15.6 หรือ 271 ล้านริงกิต เมื่อเทียบกับครึ่งปี 1/54 ซึ่งมีการบันทึกเงินสำรองโอนกลับทั้งจำนวน ธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคสร้าง PBT แก่กลุ่มฯในสัดส่วนสูงที่สุด คือ ร้อยละ 40 (ไม่เปลี่ยนแปลงจากครึ่งปี 1/54) สัดส่วนจากธุรกิจบริหารเงินพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 25 จากเพียงร้อยละ 14 ในปีที่ผ่านมา สัดส่วนจากบรรษัทธุรกิจ วาณิชธนกิจ และ การลงทุน คิดเป็นร้อยละ 20 ร้อยละ 5 และร้อยละ 10 ตามลำดับ PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Niaga ในครึ่งปี 1/55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 มาอยู่ที่ 2,735 พันล้านรูเปียห์ คิดเป็นสัดส่วน PBT ต่อกลุ่มฯที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 หรือ 918 ล้านริงกิต และเท่ากับร้อยละ 33 ของ PBT ทั้งกลุ่มฯในครึ่งปี 1/55 สำหรับ PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Thai ลดลงร้อยละ 29.8 มาอยู่ที่ 395 ล้านบาท ซึ่งหลังจากปรับปรุงบัญชีตามเกณฑ์ GAAP และ FRS139 สัดส่วน PBT ต่อกลุ่มฯจะลดลงร้อยละ 33.7 ที่ 32 ล้านริงกิต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ของ PBT ทั้งกลุ่มฯ ในขณะที่ PBT ส่วนที่มาจาก CIMB Singapore เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.1 มาอยู่ที่ 108.3 ล้านริงกิต โดยสัดส่วน PBT ต่อกลุ่มฯ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 กล่าวโดยสรุป PBT จากกิจการที่ไม่ใช่สัญชาติมาเลเซียมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ในครึ่งปี 1/55 จากร้อยละ 37 ในครึ่งปี 1/54 เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มฯในครึ่งปี 1/55 ขยายตัวร้อยละ 13.1 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่รวมหนี้เสียที่ลดลง เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มฯจะขยายตัวร้อยละ 14.5 ทั้งนี้ สินเชื่อบรรษัทธุรกิจเติบโตในสัดส่วนสูงที่ร้อยละ 19.3 ในขณะที่สินเชื่อรายย่อยเติบโตร้อยละ 9.8 จากสินเชื่อรายย่อยทั้งหมดของกลุ่มฯ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อระยะยาว บัตรเครดิต และสินเชื่อขนาดย่อม (micro lending) ขยายตัวร้อยละ 11.5 ร้อยละ 8.6 ร้อยละ 4.3 และร้อยละ 21.3 ตามลำดับเมื่อเทียบกับครึ่งปี 1/54 สินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 และสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เงินฝากรวมของกลุ่มฯในครึ่งปี 1/55 มีอัตราเติบโตร้อยละ 7.3 จากครึ่งปี 1/54 อันเป็นผลจากการขยายตัวของเงินฝากลูกค้ารายย่อยร้อยละ 11.6 และเงินฝากลูกค้าธุรกิจร้อยละ 14.8 เงินฝากสายบรรษัทธุรกิจและบริหารเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 หากพิจารณารายประเทศ การเติบโตของเงินฝากแข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทยที่ร้อยละ 20.2 จากฐานที่ค่อนข้างแคบ ในขณะที่เงินฝากในมาเลเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 อินโดนีเซียร้อยละ 7.2 และสิงคโปร์ร้อยละ 13.1 สัดส่วน CASA ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 34.3 ในครึ่งปี 1/54 เป็นร้อยละ 34.9 ในครึ่งปี 1/55 ทั้งนี้ NIM โดยรวมของกลุ่มฯลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.11 เป็นร้อยละ 3.09 ในช่วงเวลาเดียวกัน หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมของกลุ่มฯเท่ากับ 195 ล้านริงกิตในครึ่งปี 1/55 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 92 ล้านริงกิตในครึ่งปี 1/54 ซึ่งรวมรายการโอนกลับและการเรียกเก็บหนี้ อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อของกลุ่มฯ (credit charges) ที่คำนวณเป็นสัดส่วนปี (annualized) อยู่ที่ร้อยละ 0.20 ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าทั้งปีที่ร้อยละ 0.31 อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (gross impairment ratio) ยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ในครึ่งปีแรกขอ 2555 ลดลงร้อยละ 5.7 ณ ครึ่งปีแรกของ 2554 โดยมีอัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญ (impairment allowance coverage) ของกลุ่มฯเท่ากับร้อยละ 82.3 อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ของกลุ่มฯปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 55.3 เปรียบเทียบกับร้อยละ 56.2 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา CIMB Bank มีอัตราเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (risk weighted capital ratio) เท่ากับร้อยละ 15.1 โดยเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1 capital) ที่ร้อยละ 13.1 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555
แท็ก บัญชี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ