กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม การปรับใช้ระบบสหกรณ์ในการพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตรและกระบวนการนำเข้าและส่งออกเกษตรผลต่อภาคการเกษตรไทย จากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง โดยสาระสำคัญในช่วงแรกกล่าวถึง (ร่าง) พระราชบัญญัติการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ.... หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอ (ร่าง) พรบ.ดังกล่าวมายังสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อพิจารณาให้ข้อคิดเห็นก่อนหน้านี้
ข้อสังเกตของคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ ต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ....มีดังนี้
- ตามเจตนาของกฎหมาย เห็นควรกำหนดเหตุผลในการออกกฎหมาย ดังนี้ "เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่ดินจึงเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นรากฐานของการผลิตทางการเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องบำรุงรักษาและฟื้นฟูดิน รวมทั้งพัฒนาให้เหมาะสมแก่การประกอบการเกษตรได้อย่างยั่งยืนและนำไปสู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก และจากผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้มีการนำที่ดินที่เหมาะสมกับการเกษตรไปใช้เพื่อกิจกรรมอื่นๆ หรือเป็นเจ้าของที่ดินแทนคนต่างด้าวด้วยประการใดๆ ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศและความเป็นอยู่ของเกษตรกร ประกอบกับยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในลักษณะที่เป็นองค์รวม ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้เกษตรกรสูญเสียที่ดิน และเพื่อควบคุมการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านเกษตรกรรม อันจะมีผลกระทบต่อศักยภาพการผลิตด้านการเกษตรและต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ตลอดจนเพื่อควบคุมการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ด้านเกษตรกรรมอย่างเต็มที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น"
- ในคำจำกัดความ คำว่า "พื้นที่เกษตรกรรม" ควรมีการพิจารณาให้ความหมายครอบคลุมกิจกรรมการเกษตรทุกประเภท และควรหมายรวมถึงภารกิจที่เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรมที่เหมาะสมกับประเภทกิจกรรมการเกษตรในพื้นที่นั้นด้วย และสามารถสื่อความหมายให้ชัดเจนว่าเป็นกิจการประเภทใด ขนาดของกิจการ ความสามารถในการสร้างสิ่งปลูกสร้าง
- องค์ประกอบคณะกรรมการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ควรเพิ่มสัดส่วนกรรมการที่เป็นผู้แทนมาจากองค์กรเกษตรกรโดยตำแหน่งให้ชัดเจนขึ้น เพื่อประโยชน์ในการร่วมพิจารณาที่มีฐานความคิดมาจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรง และลดสัดส่วนกรรมการที่เป็นผู้แทนมาจากภาครัฐที่มีสังกัดหน่วยงานเดียวกันลงให้พอที่จะสั่งการให้นำเสนอข้อมูลมาปฏิบัติได้ และไม่ทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการมีจำนวนมากเกินไป
- การประกาศเป็นเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมมีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติการผังเมืองที่มีการประกาศเขตการใช้พื้นที่ในปัจจุบัน ควรพิจารณาความเกี่ยวข้องระหว่างกฎหมายทั้งสองฉบับ
- การกำหนดบทกำหนดโทษหรือข้อบังคับในกรณีการปล่อยที่ดินว่างเปล่า ควรนำมาตรการทางภาษีอัตราก้าวหน้ามาใช้บังคับ
- ตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ.... ในการรักษาการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ (เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมฯ โดยตำแหน่ง)
- การตราพระราชบัญญัติการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในกฎหมายต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เพื่อร่วมรักษาและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม โดยร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่และส่งต่อข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด
- ต้องพิจารณาความเกี่ยวข้องสอดคล้องให้ชัดเจนระหว่าง (ร่าง) พระราชบัญญัติการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ.... กับพระราชบัญญัติฉบับอื่น ในกรณีของการรจัดซื้อที่ดิน เช่น พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และในการประกาศเขตคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม จะมีความเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติผังเมือง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาความเกี่ยวข้องในกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้
- ในการตราพระราชบัญญัติการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและเข้าถึงทุกกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง เพราะมีลักษณะของการจำกัดสิทธิ์ และบทกำหนดโทษปรากฎในร่างพระราชบัญญัติซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตดังกล่าว สภาที่ปรึกษาฯ โดยคณะทำงานการเกษตรฯ จะนำเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อพิจารณาต่อไป