กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “การปรับใช้ระบบสหกรณ์ในการพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตร” การตื่นตัวของประชาคมโลกในเรื่อง “สหกรณ์” ที่องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานภาคีทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ให้ปี 2555 เป็นปีสากลแห่ง
การสหกรณ์ ภายใต้สโลแกน “สหกรณ์ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ ย่อมถือเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคีจะร่วมมือกันในการพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตรโดยระบบสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาฯ จึงจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวขึ้น ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็นกว่า 120 คน
รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาการตลาดสินค้าการเกษตรโดยระบบสหกรณ์นั้น จะต้องพิจารณาถึงปัญหาและอุปสรรคที่เป็นอยู่
ในปัจจุบันเสียก่อน โดยใช้กรอบของโซ่อุปทานสินค้าเกษตร ซึ่งประกอบด้วย ต้นน้ำ (กิจกรรมการผลิต) กลางน้ำ (การรวบรวม เก็บรักษา แปรรูป) ปลายน้ำ (กิจกรรมกระจายผลผลิต) อย่างไรก็ตามการที่จะบรรลุความคาดหวังได้นั้น จำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดมั่นบนหลักและวิธีการสหกรณ์ ตามหลักสหกรณ์สากล จึงจะสามารถนำประโยชน์
สู่มวลสมาชิกและชุมชนได้ตามที่คาดหวัง และหัวใจของสินค้าคือคุณภาพ สร้างคุณค่าของสินค้า สินค้าจะไม่มีวันตาย
นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งโครงการเพื่อเตรียมตัวรองรับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับผลผลิตทางการเกษตรเช่น ศูนย์กระจายสินค้าการเกษตร เพื่อทำหน้าที่ทั้งในฐานะเป็นคลังสินค้า และเป็นหน่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับผู้ขายปลีก การสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากในปัจจุบันประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น แต่ผลผลิตกลับแย่ลง เพราะสินค้าเกษตรเสียง่าย เก็บไว้ไม่ได้นาน ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาแปรรูปเพื่อให้เก็บไว้ได้นาน ซึ่งการแปรรูปที่หลากหลายนั้นสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นต้น ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรยังขาดอำนาจการต่อรอง จึงอยากให้ภาครัฐในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์ด้วย
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยสาระสำคัญคือ
- สหกรณ์ต้องมีความเป็นมืออาชีพ คือต้องสามารถทำให้สมาชิกได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ มองสมาชิกเป็นหลัก เห็นคุณค่าของสมาชิก
- เผยแพร่ให้เกษตรกรได้รับรู้ถึงข้อดีของการเข้าร่วมกับสหกรณ์
- การให้สวัสดิการแก่เกษตรกร
- จัดหาแหล่งเงินทุนที่คุ้มต่อการผลิต
- อยากให้สหกรณ์สร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าให้กับผู้บริโภค เพื่อเป็นการจูงใจในการเลือกซื้อ
- อยากให้มีการรองรับมาตรฐานการผลิตที่รวดเร็ว
ทั้งนี้ คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป