PYLON เผยงานรับเหมาฐานรากกลับสู่ภาวะปกติ มั่นใจครึ่งปีหลังปั๊มผลงานเติบโตโดดเด่น

ข่าวอสังหา Friday August 17, 2012 09:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--IR PLUS “บดินทร์ แสงอารยะกุล” ผู้บริหาร PYLON เผยงานรับเหมาฐานรากกลับสู่ภาวะปกติแล้ว หลังโครงการต่างๆ ที่ชะลอการประมูลเพื่อรอดูความชัดเจนของต้นทุน ได้กลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง คุยแค่เดือน ก.ค.เดือนเดียวรับงานแล้วกว่า 300 ลบ. ย้ำเป้ารายได้ 1,200 ล้านบาทในปี 2555 ยังทำได้ไม่ต้องห่วง ส่วนไตรมาส 2/2555 ชะลอตัวชั่วคราวจากการตั้งสำรองหนี้ PAE ที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย นายบดินทร์ แสงอารยะกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานฐานรากชั้นนำในประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจงานรับเหมาฐานราก (เสาเข็มเจาะ) และงานก่อสร้าง ในปัจจุบันว่า ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากที่ในช่วงไตรมาส 2/2555 ที่ผ่านมา ธุรกิจได้ชะลอตัวลงเนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายชะลอการเปิดประมูลโครงการ เพื่อรอดูความชัดเจนของต้นทุนใหม่หลังใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งขณะนี้หลายโครงการได้เปิดประมูลงานแล้ว ทำให้มีงานเข้ามาในตลาดจำนวนมาก อีกทั้งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะได้แรงหนุนจากโครงการภาครัฐบาลเพิ่มเข้ามาอีกหลายโครงการ โดยล่าสุดมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ — รังสิต) และสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) กำลังจะเริ่มงานก่อสร้างซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมอุตสาหกรรมงานฐานรากให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง “ในไตรมาสที่ 2/2555 ที่ผ่านมานอกจากธุรกิจจะชะลอตัวเพราะเป็นช่วง Low Season เนื่องจากมีวันหยุดยาวแล้ว ในปีนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะผลกระทบจากการใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300บาท ของรัฐบาล ทำให้โครงการใหญ่หลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างคอนโดมีเนียมต่างๆ ชะลอการประมูลเพื่อรอความชัดเจนของต้นทุนใหม่ภายหลังการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้แทบจะไม่มีงานไหลเข้ามาในตลาดในช่วงดังกล่าว แต่พบว่าหลังจากเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 งานได้เริ่มเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้จากในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว PYLON ได้รับงานถึง 300 ล้านบาท จึงถือได้ว่าขณะนี้สถานการณ์ธุรกิจฐานรากเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังที่ถือเป็นช่วง High Seasonของธุรกิจ ทำให้มั่นใจว่าในปีนี้เป้าหมายจะผลักดันรายได้ทะลุ 1,200 ล้านบาท ยังสามารถเป็นไปตามที่วางไว้ได้” นายบดินทร์กล่าว เขากล่าวต่อถึงผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/2555ที่ออกมาต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนว่า มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกเป็นเรื่องของช่วง Low Season ของธุรกิจร่วมกับลูกค้าชะลอการเปิดประมูลโครงการเพื่อรอดูความชัดเจนของต้นทุนใหม่หลังการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท จึงทำให้มีงานน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน จึงมีผลต่อเนื่องให้ไม่เกิดการประหยัดจากขนาดการผลิต (Economies of scale) อัตรากำไรขั้นต้น (Gross margin) จึงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน และขณะนี้สถานการณ์ของธุรกิจได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนปัจจัยที่สองมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในบริษัท พีเออี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PAEจำนวน 18.2 ล้านบาท ของบริษัทย่อยซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการฟ้องร้องตามกฎหมาย จึงทำให้งบการเงินรวมบริษัทย่อยมีผลประกอบการลดลงดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2/2555 (เมษายน-มิถุนายน 2555) ในงบการเงินรวมบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 0.095 ล้านบาท หรือ หุ้นละ 0.001 บาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่ทำได้ 18.396 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.09 บาท ส่วนในงวด 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2555) มีกำไรสุทธิ 42.835 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.21 บาท เทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 43.651 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.22 บาท ในขณะที่ในงบเฉพาะกิจการบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 12.871 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.06 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่ทำได้ 16.469 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.08 บาท ส่วนงวด 6 เดือนมีกำไรสุทธิ 53.537 ล้านบาท หรือ หุ้นละ 0.27 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 41.547 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.21 บาท ข้อมูลบริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) (PYLON) ดำเนินธุรกิจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานฐานรากงาน แบ่งออกเป็น 3 สายงานหลัก ดังนี้ คือ 1. งานเสาเข็มเจาะ (Bored Pile) เสาเข็มเจาะเป็นเสาเข็มที่นิยมใช้กับการก่อสร้างฐานรากของโครงสร้างขนาดใหญ่ และโครงสร้างอาคารในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด นอกจากนี้เสาเข็มเจาะยังลดมลภาวะเรื่องเสียงและแรงสั่นสะเทือนเมื่อเทียบกับการใช้เสาเข็มตอกการก่อสร้างเสาเข็มเจาะนั้นสามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้จากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 50 เซนติเมตร จนถึงมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป และทำได้ถึงความลึกมากกว่า 60 เมตร ขึ้นอยู่กับการออกแบบกำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มโดยวิศวกร และสภาพชั้นดินในแต่ละพื้นที่ 2. งานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับโครงสร้างของดินเดิม ทำให้ดินมีกำลังรับน้ำหนักมากขึ้นและป้องกันการเคลื่อนตัวของดิน โดยบริษัทมีการให้บริการงานประเภทนี้โดยวิธีการอัดฉีดซีเมนต์ด้วยแรงดันสูง (Jet Grouting) ที่ความดันประมาณ 200 ถึง 400 บาร์ 3.งานก่อสร้างกำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรม (Diaphragm Wall) กำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรมเป็นการก่อสร้างกำแพงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักและป้องกันการเคลื่อนตัวของดินทางด้านข้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเป็นโครงสร้างของชั้นจอดรถใต้ดิน กำแพงอาคารผู้โดยสารสำหรับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และอุโมงค์ลอดทางแยก เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ