กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม “สมัชชาสหวิชาชีพ ประจำปี ๒๕๕๕” โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวคำกราบทูล ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ด้านเด็กในประเทศไทย พบว่าปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกระทำรุนแรงในด้านร่างกาย จิตใจ จากบุคคลในครอบครัวหรือชุมชน รวมทั้งการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมมีแนวโน้มสูงขึ้น เด็กที่ประสบปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานและต้องใช้ความสามารถที่มีอยู่เพียงจำกัดของตนเองในการจัดการปัญหาเพื่อความอยู่รอดเพียงลำพัง และเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างขาดความมั่นคงในด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ซึ่งพัฒนาเป็นปัญหาด้านพฤติกรรม จิตใจ อารมณ์ในที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯและมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้ตระหนักดีว่าหากสถานการณ์ด้านเด็กยังเป็นเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ประกอบกับอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ ๑๙.๑ กำหนดให้รัฐภาคีต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงด้านนิติบัญญัติ บริหารสังคม และการศึกษาที่จะคุ้มครองเด็กให้พ้นจากความรุนแรงและการปฏิบัติโดยมิชอบทั้งปวง ทั้งร่างกายและจิตใจ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้ภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองเด็ก เนื่องจากมองเห็นความสำคัญของภาคส่วนต่างๆ และความเชี่ยวชาญของบุคลากรในแต่ละสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจะเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนให้ระบบคุ้มครองเด็กเป็นรูปธรรม
นายสันติ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯร่วมกับมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก จัดการประชุม“สมัชชาสหวิชาชีพ ประจำปี ๒๕๕๕” ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานการคุ้มครองเด็กและครอบครัว ในประเด็นที่สำคัญเรื่องการสืบค้นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การประเมินสภาวะเด็กและครอบครัว การให้บริการที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง รวมทั้งการนำเสนอ นวัตกรรมใหม่ด้านการคุ้มครองเด็ก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็ก โดยผู้เข้าร่วมประชุมเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านเด็กในสหวิชาชีพต่างๆ ได้แก่ สาขาการแพทย์ สาขาสังคมสงเคราะห์ สาขาจิตวิทยา สาขากฎหมาย และสาขาการศึกษา
ทั้งนี้ “การประชุมสมัชชาสหวิชาชีพนี้ มีการจัดรูปแบบการประชุม ๓ รูปแบบ ดังนี้ ๑) เวที Symposium เป็นการนำเสนอบทเรียนและงานวิชาการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในการคุ้มครองเด็กจากผู้เชี่ยวชาญ ๒) เวทีเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา เป็นการนำเสนอการถอดบทเรียนในประเด็นการสืบค้นข้อเท็จจริง และการประเมินเด็กและครอบครัว และ ๓) การประชุมห้องย่อย ๖ ห้อง เป็นการนำเสนอบทเรียนและงานวิชาชีพใหม่ๆ ในประเด็นเฉพาะด้าน เช่น การจัดการศึกษาเด็กในสภาวะต่างๆ เป็นต้น” นายสันติ กล่าว