กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
โรคทางเดินอาหาร เป็นภัยร้ายที่กำลังคืบคลานเข้าสู่ชีวิตของใครหลายคนทั่วทวีปเอเชีย
งานวิจัยชิ้นประวัติศาสตร์ กินเวลากว่า 15 ปี ยืนยันว่ายากลุ่ม proton pump inhibitor (PPI) ชนิด แพนโทพราโซล (pantoprazole) ปลอดภัยและรักษาภาวะผิดปกติในระบบทางเดินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
งานวิจัยใหม่ เผยเทคนิคการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติทั้งในระบบทางเดินอาหารและหัวใจ
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารจากทั่วโลกได้ร่วมประชุมระดมสมองเพื่อแก้ไขปัญหาโรคกรดไหลย้อน และอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารประเภทอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งกำลังคุกคามเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพชาวเอเชีย
ปัจจุบัน ทั่วเอเชีย จากการศึกษาพบว่าจำนวนผู้ป่วย โรคผิดปกติในระบบทางเดินอาหารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ดร. เดนิส ซี. โง อายุรแพทย์ประจำ แผนกวิทยาทางเดินอาหาร มหาวิทยาลัยซานโต โทมาส (UST) กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้กล่าวอธิบายไว้ว่า “แพทย์ในหลายประเทศของทวีปเอเชียพบแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง เช่นภาวะกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร หรืออาการแสบร้อนกลางหน้าอก เป็นผลมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป โรคอ้วน และความเครียดในชีวิตประจำวัน[i]”
ในฟิลิปปินส์ อัตราผู้ป่วยที่มีอาการหลอดอาหารอักเสบเนื่องจากภาวะกรดไหลย้อนได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.9 เป็น 6.3 ภายในเวลาเพียง 6 ปี[ii] ในขณะที่มาเลเซีย ก็มีอัตราผู้ป่วยดังกล่าวพุ่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 เป็น 8.4 ในระยะเวลาเพียง 10 ปี[iii] ส่วนในไต้หวัน งานวิจัยด้านโรคหลอดอาหารอักเสบได้เผยว่าอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากร้อยละ 5.0 เป็น 12.6 ในเวลา 7 ปี[iv] นอกจากนั้นความชุกของผู้ป่วยที่มีอาการโรคกรดไหลย้อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี และไต้หวัน) แล้ว จะพบว่าอัตราผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 8.5 ในปี 2553[v] สำหรับในมาเลเซีย จำนวนผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในช่วงระหว่างปี 2534-2535 เป็น 9.0 ในช่วงปี 2543-2544[vi] ในขณะที่โรงพยาบาล Cipto Mangunkusumo ในอินโดนีเซียนั้น ก็พบว่าอัตราผู้ป่วยได้พุ่งขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในปี 2540 เป็นร้อยละ 25.18 ในปี 2545[vii] ทุกวันนี้ในแต่ละสัปดาห์ราวร้อยละ 2.5-4.8 ของประชากรทั่วทวีปเอเชีย ต้องประสบกับปัญหาอาการแสบร้อนกลางหน้าอกหรือกรดไหลย้อน[viii] นอกจากอาการแสบร้อนกลางหน้าอก ผู้ป่วยโรคเหล่านี้ จะมีอาการอื่นๆร่วม เช่น กลืนอาหารลำบาก อ่อนแรง นอนหลับไม่สนิท ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมมากกว่าอาการของโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่นโรคเบาหวาน ข้ออักเสบ หรือแม้แต่โรคหัวใจ[ix]
หลายประเทศในเอเชียในขณะนี้ มีอัตราผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน (ร้อยละ 12.4)[x] ในจีน ถึงร้อยละ 17[xi] หรือ ในฮ่องกงถึงร้อยละ 29.8[xii] “อาการของโรคนี้มีความรุนแรงจนผู้ป่วยต้องการวิธีบำบัดรักษาที่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว เช่นการใช้ยา PPI แทนที่จะบรรเทาอาการในระยะสั้นเท่านั้น” ดร. เดนิส ซี. โงกล่าวเสริม
ทั้งนี้ ยาในกลุ่ม PPI ได้รับการยอมรับในฐานะยาตัวสำคัญสำหรับการรักษาโรคทางเดินอาหารเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับกรดในกระเพาะอาหาร เนื่องจากตัวยาสามารถยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตกรดในกระเพาะอาหารได้
การรักษาโรคทางเดินอาหารในระยะยาว
จำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้นในเอเชีย ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกิดความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการใช้ยา PPI ในระยะยาว ซึ่งรวมถึงอาการกระดูกเปราะ หรือแม้แต่มะเร็งในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาร่วมกัน ระหว่างยา PPI บางประเภทกับยารักษาโรคหัวใจอย่าง ยาละลายลิ่มเลือด (clopidogrel) ซึ่งในหลายงานวิจัยพบว่า ยา PPI บางประเภทไปลดประสิทธิภาพการทำงานของ ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งเป็นยาที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งมิให้เกิดภาวะเลือดคั่ง อันอาจนำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ จึงทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงโรคหัวใจสูงขึ้น[xiii]
“ผู้ป่วยหลายรายต้องใช้ทั้งยา PPI และยา clopidogrel ควบคู่กันไป และด้วยเหตุนี้เอง เราจึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับปฏิกริยาเชิงลบที่เกิดขึ้นระหว่างตัวยาทั้งสองโดยละเอียด เพื่อค้นหาว่ายา PPI ทุกตัวมีผลกับยาละลายลิ่มเลือด เหมือนกันทั้งหมดหรือไม่ และตัวยาใดบ้างที่สามารถใช้รักษาโรคทางเดินอาหารเรื้อรังในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจได้” ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดวิด เอ. พิวรา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวอธิบายก่อนขึ้นนำเสนอผลงานวิจัยล่าสุดด้านการใช้ยา PPI และ ยาละลายลิ่มเลือด
งานวิจัยใหม่เผยข้อเท็จจริงของการใช้ยา PPI และยาละลายลิ่มเลือดควบคู่กัน
งานวิจัยใหม่ชิ้นนี้ ได้ทำการทดลองใช้ยา PPI กับกลุ่มตัวอย่าง 160 คน โดยพบว่ายา PPI บางชนิด เช่นยา แลนด์โซ พราโซล (lansoprazole) และ เด็กซ์แลนด์โซพราโซล (dexlansoprazole) ถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารและผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยจากการวิเคราะห์ปฏิกริยาระหว่างยา PPI ชนิด แลนด์โซพราโซล, เด็กซ์แลนด์โซพราโซล , อีโซมีพราโซล (esomeprazole) และ โอมีพราโซล (omeprazole) ควบคู่กับยาละลายลิ่มเลือด พบว่ายา เด็กซ์แลนด์โซพราโซล และ แลนด์โซพราโซล มีผลกับการทำงานของยาละลายลิ่มเลือด น้อยกว่ายา PPI ชนิดอื่นมาก ดังนั้น แลนด์โซพราโซล และ เด็กซ์แลนด์โซพราโซล จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการใช้รักษาในผู้ป่วยที่ต้องได้รับ PPI
ทั้งนี้ ยา อีโซมีพราโซล และ โอมีพราโซล มีผลลดประสิทธิภาพการทำงานของยาละลายลิ่มเลือด ลงราวร้อยละ 22.5 และ 19.2 ตามลำดับ ในขณะที่ยา แลนด์โซพราโซล และเด็กซ์แลนด์โซพราโซล นั้น มีผลกระทบเพียงแค่ร้อยละ 7.2 และ 0.2 เท่านั้น[xiv] “งานวิจัยนี้พิสูจน์ให้เห็นว่ายา PPI แต่ละตัวนั้น มีผลต่อยาละลายลิ่มเลือดไม่เท่ากัน และจะช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเลือกใช้ยา PPI ในการรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดวิด เอ. พิวรา กล่าวเสริม
งานวิจัยชิ้นสำคัญยืนยันความปลอดภัยของยา PPI
นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยชิ้นสำคัญอีกหนึ่งชิ้นก็ได้ยืนยันถึงความปลอดภัยในระยะยาว ของยาแพนโตพราโซล (pantoprazole) ซึ่งเป็นยา PPI ที่เป็นที่นิยมตัวหนึ่ง[xv] โดยจากการทดลองใช้ยาแพนโตพราโซล ในกลุ่มตัวอย่างซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่ 142 คน เป็นเวลานานกว่า 15 ปี ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยมีอัตราการหายของโรคถึงร้อยละ 95.8 ภายในเวลา 12 สัปดาห์ โดยไม่พบความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงเช่นมะเร็งในกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ การวิจัยผลข้างเคียงของยา PPI ที่ผ่านมานั้น ได้พิสูจน์ความปลอดภัยของตัวยากลุ่มนี้ในการใช้ยาระยะยาวนานที่สุดเป็นเวลา 10 ปี จึงทำให้ผลงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ถือว่าเป็นงานวิจัยยา PPI ที่ครอบคลุมระยะเวลายาวนานที่สุด
“การวิจัยครั้งนี้ยืนยันว่ายาแพนโตพราโซล สามารถควบคุมปริมาณการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร และรักษาแผลในระบบทางเดินอาหารส่วนบนได้ในระยะยาว โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด” ศาสตราจารย์ จี. บรุนเนอร์ แพทย์ประจำแผนกโรคทางเดินอาหารและตับ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮันโอเวอร์ ประเทศเยอรมนี กล่าวอธิบาย “จากงานวิจัยชิ้นนี้ของแพนโตพราโซล ข้อมูลนี้จะช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยมั่นใจยิ่งขึ้นไปอีกว่าการใช้ยา PPI รักษาโรคกรดไหลย้อนและอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ ในระยะยาว นั้น เป็นเรื่องที่ปลอดภัย”
[i] Fock KM et al. Asia-Pacific consensus on the management of gastroesophageal reflux disease: update.J
Gastreoenterol Hepatol 2008:23:8-22.
[ii] Sollano JD, Wong SN, Andal-Gamutan T et al. Erosive esophagitis in the Philippines: a comparison between two time periods. J. Gastroenterol. Hepatol. 2007; 22: 1650—5.
[iii] Goh KL, Wong HT, Lim CH, Rosaida MS. Time trends in peptic ulcer, erosive reflux oesophagitis, gastric and oesophageal cancers in a multiracial Asian population. Aliment. Pharmacol. Ther. 2009; 29: 774—80.
[iv] Lien HC, Chang CS, Yeh HZ et al. Increasing prevalence of erosive esophagitis among Taiwanese aged 40 years and above: a comparison between two time periods. J. Clin. Gastroenterol. 2009; 43: 926—32.
[v] He J, Ma X, Zhao Y, et al. A population-based survey of the epidemiology of symptom-defined gastroesophageal reflux disease: the Systematic Investigation of Gastrointestinal Diseases in China. BMC Gastroenterol. 2010;10:94.
[vi] Rosaida MS, Goh KL. Opposing time trends in the prevalence of duodenal ulcer and reflux esophagitis in a multiracial Asian population. Gastroenterology. 2004;126. Abstract 443.
[vii] Syam AF, Abdullah M, Rani AA. Prevalence of reflux esophagitis, Barret’s esophagus and esophageal cancer in Indonesian people evaluation by endoscopy. Canc Res Treat 2003;5:83
[viii] Dent J et al. Gut 2005;54:710-17.
[ix] Wiklund I, Review of the quality of life and burden of illness in gastroesophageal reflux disease. Dig Dis. 2004;22(2):108-14.http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15383750 accessed 230612
[x] Jung H. J Neurogastroenterol Motil 2011;17(1):14-27
[xi] Wang JH et al. World J Gastroenterol 2004;10:1647-1651
[xii] W. M. Wong, K C. Lai, K. F. Lam, W. M. Hui, W. H. C. Hu, C. L. K. Lam, H. H. X. Xia, J. Q Huang, C. K. Chan, S. K. Lam & B. C. Y. Wong. Prevalence, clinical spectrum and health care utilization of gastro-oesophageal reflux disease in a Chinese population: a population-based study. Aliment Pharmacol Ther 2003; 18: 595-604.
[xiii] O’donoghue et al. Lancet 2009:37(4):989-997
[xiv] Frelinger AL. J Am Coll Cardiol 2011; 57:E1098
[xv] G. Brunner et al. Long-term, open-label trial: safety and efficacy of continuous maintenance treatment with pantoprazole for up to 15 years in severe acid peptic disease Alimentary Pharmacology Therapeutics 2012